นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 63
เรื่อง/ภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์
ในบรรดาพระพิมพ์ที่จัดสร้างกันในสยามประเทศนี้ มีพระพิมพ์อยู่สำนักหนึ่งที่สร้างจากโอสถวิเศษชื่อ “จินดามณี” ยานี้เชื่อกันว่าผู้ใดได้ประกอบยานี้กินจะทำให้บังเกิดโชคลาภวาสนาสุดคณานัป ที่สุดแม้แต่พกพาเอาไว้ก็มีคุณอเนกอนันต์ ยากจะหาโอสถขนานใดเสมอเหมือนสมกับที่บทกลอนโบราณได้พรรณาเอาไว้
สำหรับผู้สร้างพระผงยาจินดามณีอันลือเลื่องนั้นคือ พระพุทธวิถีนายกหรือหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ จากประวัติที่เล่าขานกันสืบมาท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๑๐ เวลาย่ำรุ่งใกล้สว่าง ตรงกับวันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๙๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ณ. บ้านท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นตำบลบ้านนางสาว อำเภอตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี
โยมบิดาของท่านชื่อว่า “เส็ง” โยมมารดาชื่อว่า “ลิ้ม” ท่านมีพี่น้อง ๖ คน ตามลำดับดังนี้ ๑. หลวงปู่บุญ ๒.นางเอม ๓. นางบาง ๔. นางจัน ๕. นายปาน ๖. นายคง โดยท่านเป็นบุตรคนโต เหตุที่ท่านได้ชื่อว่า “บุญ” ก็เพราะเมื่อวัยทารก ท่านมีอาการป่วยหนักถึงแก่สลบไป ทำอย่างไรก็ไม่ฟื้น ทุกคนต่างคิดว่าท่านตายแล้วจึงจะเอาท่านไปฝัง แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันที่จะได้ฝัง ท่านก็กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ นับเป็นนิมิตหมายที่เป็นมงคลยิ่งเหมือนตายแล้วเกิดใหม่
เมื่อครั้งที่หลวงปู่บุญ ยังอยู่ในวัยเด็กนั้น ครอบครัวท่านได้ย้ายภูมิลำเนามาทำนาที่ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่นั้น ท่านเป็นเด็กที่ใจบุญสมชื่อ ผิดแปลกกับเด็กในวัยเดียวกันอย่างสิ้นเชิง ท่านไม่เล่นซุกซนทรมานสัตว์เหมือนเด็กคนอื่น ๆ มิหนำซ้ำเวลาท่านเห็นใครทรมานสัตว์หรือจับสัตว์มาเป็นอาหารท่านจะเข้าช่วยเหลือไม่เว้นแต่โยมพ่อโยมแม่ท่าน ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งโยมทั้งสองใช้ให้ท่านถือตะข้องปลาที่จับมาได้ก็ปรากฎว่าท่านแอบปล่อยปลาจนหมดเกลี้ยง พอกลับมาถึงบ้านเตรียมทำอาหารก็ไม่มีปลาเหลือสักตัว โยมพ่อโยมแม่ท่านโกรธมาก ด้วยครอบครัวก็ยากจนยังจะปล่อยปลาที่จะนำมาทำอาหารไปอีกเลยตีท่านหลายที อันที่จริงท่านได้คิดว่า ชีวิตใครใครก็รักการที่เราต้องดำรงชีวิตด้วยการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลย ท่านเลยกลายเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยรัก ด้วยความที่คนทั่วไปไม่อาจจะเข้าใจผู้ที่บำเพ็ญบารมีมามาก