Friday, January 24, 2025
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต

ปีใหม่ไหว้หลวงพ่อโตสร้างโดยสมเด็จฯโต ตอน หลวงพ่อโต วัดไชโย

“เกิดที่วัดไชโย โตที่วัดอินทร์ สิ้นที่วัดระฆัง” เป็นคำขนานนามของสถานที่กำเนิดไปจนถึงสิ้นพระชนม์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งคำว่า “เกิดที่วัดไชโย” นั้นหมายถึงท่านถือกำเนิด ณ ตำบลสระเกศ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก สัมฤทธิศก  จุลศักราช ๑๑๕๐ ตรงกับวันพฤหัสบดี เพลาย่ำรุ่ง พุทธศักราช ๒๓๓๑ มีโยมมารดาชื่อ “นางเกตุ” บุตรของนายไชย และนางลาชาวอุตรดิตถ์แต่ย้ายมาตั้งถิ่นมาอยู่อ่างทอง  จากหลักฐานดังกล่าวสามารถอนุมานได้ว่าเมื่อวัยเยาว์สมเด็จฯ มีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้มาก ซึ่งในกาลต่อมาได้ปรากฏว่าพระองค์ท่านได้เสด็จจาริกมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดไชโยวรมหาวิหารเป็นอันมาก โดยเฉพาะ

พระมหาพุทธพิมพ์” หรือ หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ที่พระองค์ท่านได้สร้างไว้ ก่อนที่จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมหลายครั้ง จนมีพุทธศิลป์งดงามปรากฏให้เห็นเป็น “หลวงพ่อโตวัดเกศฯ”ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบสักการะบูชามาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องนี้ได้เคยพบหลักฐานภายหลังที่สมเด็จฯท่านได้ถวายธรรมแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แล้ว ท่านเจ้าประคุณฯต้องการปลีกวิเวกและจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อพิจารณาธรรมทำจิตใจให้เป็นอิสระ ท่านได้ฝากวัดระฆังโฆสิตารามไว้กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ (ทัด สิงหเสนีย์) ศิษย์เอกของท่านให้ดูแลแทนท่านชั่วคราว และได้ขอพระบรมราชานุญาตขอที่ดินที่วัดเกตุไชโยเท่านั้นวาเท่านี้วา เพื่อสร้างพระใหญ่นั่งหน้าตัก ๘ วา ไว้ในอำเภอไชโย ขอให้ทรงพระกรุณารับสั่งเจ้าเมืองกรมการ ให้วัดมีพระราชลัญจกรประทับ รับสั่งว่าดีแล้วจึงเป็นแบบที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน ต้องมีบัตรพระราชลัญจกรอนุญาตแล้วจึงเป็นวิสุงคาม ทรงพระกรุณาโปรดมีใบพระบรมราชานุญาตประทับตราแผ่นดินถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เลยตราพระราชบัญญัติวิสุงคามสีมาต่อไปในคราวนั้นเป็นลำดับกันมา เจ้าประคุณสมเด็จฯท่าน จึงจำหน่ายเครื่องกัณฑ์เทศน์ที่รับการถวายในพระราชกุศลลงมาเป็นอิฐเป็นปูนเป็นทราย เป็นค่าแรงคนงาน เป็นทุนรองงานขึ้นไปจัดการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ ที่ริมวัดเกศไชโย นั่นถือเป็นการสรุปได้ว่าสมเด็จฯเป็นผู้แรกที่มีดำริสร้างพระ “หลวงพ่อโต”องค์ใหญ่นั่นเอง แต่จะเพราะเหตุผลกลใดในท้ายเรื่องผู้เขียนจะสรุปให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากัน

นอกจากนี้ในแผ่นดินต่อมาได้เคยปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ในจดหมายเหตุได้บันทึกไว้ ดังนี้

“เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ปีขาล พ.ศ.๒๔๒๑ เสด็จขึ้นทอดพระเนตรพระโตนี้ มีพระราชดำรัสว่า พระใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างนี้ดูหน้าตารูปร่างไม่งามเลย ดูที่หน้าวัดปากเหมือนขรัวโตไม่มีผิดถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ทำนองท่านไม่คิดจะปิดทองจึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์” 

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนดีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับงานสร้างหลวงพ่อโตใหม่ในพระราชกุศล โดยมีพระบัญชาให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด กัลยาณมิตร)ให้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดไชโยฯใหม่หมดทุกอย่าง ท่านเจ้าพระยาฯก็มิได้ทำให้ทรงผิดพระราชประสงค์ได้รังสรรค์ให้พระอารามมีการสร้างพระวิหารครอบเรือนองค์พระปฏิมาอย่างสวยสดงดงาม สำหรับพระอุโบสถสร้างเป็นมุขลดยื่นออกมาข้างหน้า, สร้างศาลารายล้อมพระวิหารรวม ๔ หลัง, สร้างกำแพงแก้วเป็นเขตพุทธาวาส, สร้างกุฏิสงฆ์รวมถึงศาลาการเปรียญ, หอสวดมนต์, หอระฆัง, ศาลารายกลางวัด, ศาลาท่าน้ำ เสร็จบริบูรณ์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๓๗ รวมเวลาที่ปฏิสังขรณ์อยู่นาน ๘ ปี เมื่อสร้างองค์พระเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชทานนามใหม่ว่า พระมหาพุทธพิมพ์”

เมื่อสร้างวิหารพระมหาพุทธพิมพ์เสร็จแล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยฯขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีการเฉลิมฉลองพระอารามวัดไชโยเป็นงานใหญ่ ๓ วัน ๓ คืน เมื่อวันที่ ๕-๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๘ ครั้งนั้นถือเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่ของจังหวัดอ่างทองเลยทีเดียว  องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างาม พุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ มานมัสการอย่างไม่ขาดสาย และต่อมาในวิหารที่คู่กัน ได้ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ เมตร สูง ๗ เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ปัจจุบันวัดไชโยวรวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่จนมีความงามสมบูรณ์ยิ่ง

ประเด็นสำคัญ สถานที่แห่งนี้ที่สมเด็จฯท่านตั้งใจและมีวัตถุประสงค์ในการจาริกมาบูรณปฏิสังขรณ์อย่างชัดเจน จากบันทึกการขอพระราชทานพระลัญจกรเพื่อขอสร้างพระโต  และวัดเกศไชโย นี้อยู่ที่ตำบลสระเกศ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่าน ชื่อของวัดเกตุ หรือ วัดเกศ นั้นน่าจะมาจากชื่อของ “มารดา”ของท่าน อาจเกี่ยวข้องด้วยว่ามารดาท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ก็เป็นได้  และการสร้างพระโตก็เป็นการสร้างเพื่อทดแทนและระลึกถึงคุณมารดาของท่าน ซึ่งเป็นธรรมเนียมว่าหากชาวพุทธสร้างถาวรวัตถุแล้วไซร้ ก็มักนิยมบรรจุพระพิมพ์ต่างๆ เพื่อเป็นการสืบพระพุทธศาสนาต่อไป และอีกนัยหนึ่งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ในกรณีของเจ้าประคุณสมเด็จฯเองก็อาจเข้ากับหลักการดังกล่าว

อีกประการหนึ่ง ขณะที่บูรณปฏิสังขรณ์พระหลวงพ่อโต ขรัวตาทอง วัดเกศไชโย ได้เล่าว่า “ท่านได้ทันเห็นเจ้าประคุณสมเด็จฯฝังตุ่มใหญ่ๆไว้เหนือพระโตแล้วเอาเงินใส่ไว้ ๑ บาท เอากระเบื้องหน้าวัวปิดหลุมไว้ ครั้งหนึ่งท่านขึ้นไปตรวจงานที่วัดเกษไชโย ท่านป่าวร้องชาวบ้านมาช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระบนศาลา ท่านแจกทานของท่านคนละเหรียญ ร.ศ.๑ ในรัชกาลที่ ๔ กับผ้าขาวคนละฝ่ามือจนทั่วกันหมดทุกคน” ตรงที่ขรัวทองท่านเห็นเจ้าประคุณสมเด็จฯบรรจุตุ่มดังกล่าวลงไป ภายในตุ่มนั้นก็อาจจะเป็นพระสมเด็จวัดเกศได้เช่นกัน

ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมฺคลมุตฺตมํ
การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคลสูงสุด

About the Author

Share:
Tags: โต พรหมรังสี / หลวงพ่อโต / สมเด็จพระพุฒาจารย์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ