Friday, November 8, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

สมุดบันทึกส่วนพระองค์

พระรูปเจ้านายราชสกุลชุมพล ฉายเมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดาที่ทรงพระชนม์อยู่ในขณะนั้นครบทุกพระองค์ (หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรจุฑาธุช ประทับอยู่ริมขวาสุดของภาพ)

            สมุดจดบันทึกของพระองค์ที่นำมาให้ผู้อ่านได้ชมกันเล่มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรอบรู้ในวิชาการต่างๆ เหล่านั้น เมื่อเจริญพระชันษามากขึ้น พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และวิชาช่าง ทรงเริ่มรับราชการในกรมช่างทหารใน ทรงเป็นราชองครักษ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับหน้าที่ผู้บังคับการกองทหารหน้าและหน้าที่ปลัดกองทัพบกคราวหนึ่ง ด้านราชการฝ่ายพลเรือน ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเชษฐา ผู้ทรงเป็นอธิบดีบังคับการศาลฎีกาและศาลแพ่ง (พุทธศักรำช ๒๔๒๘) และทรงเป็นกรรมการตรวจความฎีกา ทรงรับตำแหน่งเป็นข้าหลวงไปจัดการส่งกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบางโดยตั้งอยู่ที่เมืองพิไชย ต่อมาทรงได้รับตำแหน่งเป็นข้าหลวงจรไปตรวจราชการเมืองภูเก็ต และภายหลังทรงได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ – ๒๔๔๑

            ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่าถึงเวลาจำเป็นที่รัฐบาลสยามกับฝรั่งเศสจะต้องปรึกษาหารือแบ่งเขตแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของสยามที่ติดกับลาว เขมร และเวียดนาม ซึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานเคยมีความสัมพันธ์กันทั้งในเวลาสงบและสงคราม มีดินแดนที่เดิมทีเคยอยู่ในพระราชอาณาเขตมากน้อยตามแต่ยุคสมัยหากมิได้มีเเนวพรมแดนที่แน่นอนเด่นชัด ยิ่งเมื่อการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกได้กลืนดินแดนเวียดนาม ลาว และเขมรส่วนใหญ่ไปจนหมด แรงกดดันต่อรัฐบาลสยามจึงเพิ่มมากขึ้น สยามมีความจำเป็น ต้องทำข้อตกลงกันกับรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อรักษาดินแดนของพระราชอาณาจักรไว้ หากแต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะมิตรประเทศต่อไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดผู้ทรงคุณวุฒิ คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ หรืออธิบดีข้าหลวงพร้อมด้วยข้าราชการทหารและพลเรือนออกไปประจำที่นครจำปาศักดิ์ โดยเรียกว่าข้าหลวงเมืองลาวกาว กรมหลวงพิชิตปรีชากรไม่ได้เสด็จไปประทับที่เมืองจำปาศักดิ์ แต่ประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี

            และให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนตั้งอยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงดำ ต่อมาเรียกหัวเมืองลาวเฉียง แล้วเปลี่ยนเรียกตอนหลังว่ามณฑลพายัพ แต่ไม่ทันได้เสด็จทรงพระกรุณาสับเปลี่ยนให้ไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่สำหรับราชการมณฑลลาวกลาง (ต่อมาคือมณฑลนครราชสีมา) ประทับที่เมืองนครราชสีมา คงมีแต่พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) เป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่หลวงพระบางตามเดิม เพราะท่านผู้นี้เคยไปปราบฮ่อแคว้นหลวงพระบาง สิบสองจุไทยพร้อมกับพระยาสุรศักดิ์มนตรี และเป็นผู้ที่รู้จักภาคพื้นนั้นเป็นอย่างดี

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริมุ่งเน้นที่จะพัฒนาภาคอีสานในทุกๆ ด้าน ควบคู่กันไปกับการรักษาพระราชอาณาเขต หนึ่งในพระราโชบายที่สำคัญคือการสร้างสาธารณูปโภคที่ทันสมัยต่างๆ เช่นไปรษณีย์โทรเลข ที่เชื่อมต่อหัวเมืองสำคัญกับพระนครโดยตรง มีโครงการสร้างสายโทรเลขไปถึงนครจำปาศักดิ์จนสำเร็จ และสร้างทางรถไฟที่ลำบากแสนเข็ญผ่านภูมิประเทศทุรกันดารและป่าดงดิบอันตราย ยังให้มีบุคลากรจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศต้องมาล้มตายด้วยโรคภัยต่างๆ ตลอดเส้นทางการก่อสร้าง

ภาพร่างฝีพระหัตถ์ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ที่ทรงออกแบบสิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องประดับ มีดซ่อม รายละเอียดสถาปัตยกรรม ทั้งแบบตะวันตกและแบบตะวันออก อาทิ ร่างสถูปที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอินเดียแต่ประดับประดาด้วยเครื่องยอดแบบไทย ยังมีแผนผังเรขาคณิตและรูปเรือล่องแม่น้ำขนาดเล็กอีกด้วย

About the Author

Share:
Tags: พระองค์เจ้าชุมพลสมโภชกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ