พระยาราชสงครามนั้นถือกำเนิดในตระกูลนักรบเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต้นตระกูลของท่านเป็นทหารเอกต่อสู้กับทัพพม่าในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยาราชสงครามเคยร่วมไปในทัพของเจ้าพระยาบดินทร์เดชาเพื่อรบกับเจ้าอนุวงศ์ แล้วต่อไปในการศึกกับญวนและเขมรอีกเป็นเวลานาน จึงต้องมีโอกาสได้รู้จักสนิทสนมกับบรรดาเจ้าเมืองทางภูมิภาคนั้นเป็นอย่างดี
พระราโชบายที่จะทรงเชื่อมความสัมพันธ์กับเชื้อสายตระกูลเจ้าเมืองอุบลราชธานีปรากฏเด่นชัดในการเสกสมรสระหว่างกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์กับเจ้านายสตรีของเมืองอุบล ๒ ท่านคือ อัญญานางเจียงคำบุตโรบล บุตรีคนสุดท้องของท้าวสุรินทรชมพู (หมั้น บุตโรบล) และอัญญาแม่ดวงจันทร์บุตโรบล ส่วนเจ้านายสตรีอีกท่านหนึ่งคืออัญญานางบุญยืน ธิดาของท้าวไชยบุตร (บุดดี บุญรมย์) และยาแม่คำพ่วย
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงสนพระทัยเรื่องความสามารถของสตรีชาวอุบลในการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายอย่างดี ทรงให้การสนับสนุนและทรงเอาพระทัยใส่ในรายละเอียดของการผลิตด้ายและสายไหม และในการย้อมสี ทรงร่วมคิดค้นลวดลายใหม่ๆ กับหม่อมบุญยืน พระชายา พัฒนาลวดลายผ้าแบบใหม่ขึ้นจากลายทอของพื้นถิ่นเดิมที่มีอยู่เพื่อให้เป็นไปตามเทรนด์ดีไซน์ร่วมสมัยงดงาม นับเป็นการสนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เมืองอุบลราชธานีและภาคอีสานเป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าที่สำคัญของประเทศอย่างเช่นเมืองเชียงใหม่และเมืองนครศรีธรรมราช ผ้าจากราชสำนักเมืองอบุลถูกส่งมายังพระราชสำนักกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง และได้รับพระราชทานคำชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังลายพระราชหัตถเลขาที่พระองค์ทรงมีถึงกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๙