Wednesday, December 11, 2024
ชื่นชมอดีต

เรือนภะรตราชา

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 35
เรื่อง: ผ.ศ. ประเทือง ครองอภิรดี

            เป็นอาคารไม้หนึ่งในหลายหลังที่สร้างขึ้นในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยแรกๆ พ.ศ. ๒๔๖๐ เพื่อใช้เป็นเรือนพักของผู้บริหาร (สมัยนั้นเรียก “ผู้บัญชาการ”) และอาจารย์ชาวต่างประเทศ ปัจจุบันนี้เหลืออยู่เพียง ๒ หลังคือเรือนหลังนี้ซึ่งค่อนข้างใหญ่ กับเรือนขนาดเล็กกว่าอีกหลังหนึ่งที่หอพักชายซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก

            เรือนภะรตราชานี้เคยใช้เป็นห้องเรียนของแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ สมัยตั้งใหม่ๆ ซึ่งยังสังกัดอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเคยใช้เป็นอาคารอำนวยการของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ อยู่ ๒๐ ปี ก่อนที่โรงเรียนจะย้ายไปอยู่บริเวณอื่น

            ลักษณะอาคารเป็นแบบเรือนฝรั่งยุคล่าอาณานิคมที่ดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศเมืองร้อน หรือที่เรียกว่าแบบ “โคโลเนียล” หรือหากประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุปรุโปร่งมากๆ ก็จะเรียกว่า “บ้านขนมปังขิง” ที่นิยมสร้างกันในรัชกาลที่ ๖ เรือนนี้เป็นเรือน ๒ ชั้นครึ่ง ใต้ถุนสูงโล่งเสาเป็นปูนก่อแบบตอม่อใหญ่ มีผนังปูนก่อกั้นเป็นบางส่วนหลังคาทรงปั้นหยาที่มีจั่วเล็กๆ

อยู่ตรงยอด หรือเรียกว่าทรงมะนิลา หน้าต่างเป็นบานกระทุ้งที่มีบานเกล็ดซ้อนอยู่ระเบียงลูกกรงไม้ประดับไม้ฉลุลาย ได้รับการอนุรักษ์อย่างดีและถูกหลักวิชา โดยใช้เวลา ๒ ปีจึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๐ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

            พระยาภะรตราชา (ม.ล. ทศทิศ อิศรเสนา) คือ ผู้บังคับการท่านที่สองของจุฬาฯ และยังเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านรับราชการอื่นๆ อีกมากมาย ตำแหน่งสุดท้ายได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อทางจุฬาฯ อนุรักษ์เรือนหลังนี้เสร็จแล้วก็ให้ชื่อว่า “เรือนภะรตราชา” เพื่อเป็น อนุสรณ์รำลึกถึงท่านซึ่งเคยพำนักอยู่ในเรือนไม้รุ่นเดียวกันในบริเวณนี้แม้จะยืนยันไม่ได้แน่นอนว่าเรือนหลังนี้เคยเป็นเรือนที่ท่านเคยพำนักอยู่ในสมัยนั้น

About the Author

Share:
Tags: บ้าน / เรือนภะรตราชา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ