นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับกุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง/ ภาพ: ตัวแน่น
เมื่อ มณเฑียร บุญมา เกิดมีมุมมองว่าผ้าใบและสีที่ใช้สร้างสรรค์งานศิลปะนั้นเปรียบเสมือนกรอบที่จำกัดจินตนาการ งานของมณเฑียรจึงสร้างสรรค์อย่างนอกกรอบไปเลยจนยากที่จะคาดเดารูปแบบและเทคนิคได้ เริ่มจากผลงานชุด ‘Changing World’ หรือ ‘โลกที่เปลี่ยนแปลง’ ในปี พ.ศ. 2526 ที่จัดแสดงร่วมกันกับเพื่อนๆศิลปิน ‘กลุ่มไวท์’ ที่มณเฑียรเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิก ในนิทรรศการครั้งนั้นโจทย์ที่ศิลปินทุกคนในกลุ่มได้รับคือการสร้างสรรค์จิตรกรรมสีน้ำ แทนที่จะเอาพู่กันจุ่มสีแล้วป้ายลงบนกระดาษให้เป็นภาพเหมือนที่ปกติเขาทำกัน มณเฑียรไม่ได้คิดถึงพู่กันหรือแม้แต่สีเลยด้วยซ้ำ แต่กลับคิดว่าสีน้ำคือสสารอะไรก็ได้ที่สามารถใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย มณเฑียรจึงนำสนิมและครามมาละลายน้ำแทนสี ราดลงบนจานกระดาษที่มีเม็ดข้าวสารเรียงเป็นรูปสี่เหลียมสามเหลี่ยมเหมือนข้าวที่ถูกอัดมาในถ้วยก่อนเสิร์ฟในร้านอาหาร บางจานก็เรียงเป็นรูปร่างปลาหัวหักๆเหมือนปลาทูในเข่ง เมื่อเสร็จแล้วจึงนำจานมาติดเรียงกันด้วยกาวที่ทำเองจากกระเจี๊ยบแบบช่างไทยสมัยโบราณ ผลงานชุดนี้มณเฑียรต้องการจะแสดงให้ผู้ชมตระหนักว่าโลกที่เราอยู่นั้นกำลังถูกเปลี่ยนไปโดยอารยธรรมสมัยใหม่ ข้าวปลาที่เราทานกำลังถูกปนเปื้อนด้วย ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารพิษอื่นๆ ภาพต่อๆมาในชุดเดียวกันนี้มณเฑียรใช้ยางรถมากลิ้งทับสีที่ยังไม่แห้งให้เกิดเป็นรอยบนกระดาษ โดยรอยล้อรถที่วิ่งไปสื่อถึงถนนหนทางสมัยใหม่ที่มาแทนที่ทางเกวียนและทางเท้าคุกคามความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของคนไทย
และนับตั้งแต่นั้นมา ผลงานของ มณเฑียร บุญมา ก็ยิ่งมีความแปลกใหม่ ลึกล้ำขึ้นไปเป็นลำดับ กลายเป็นศิลปะในรูปแบบสื่อผสมที่ทดลองนำวัสดุต่างๆมารวมกันเพื่อสร้างเป็นผลงาน มณเฑียรเลือกเอาวัสดุอุปกรณ์ง่ายๆแบบไทยๆที่อยู่รอบตัวเราเช่น ดิน กระสอบ สุ่มไก่ ถังปูน ฟาง เทียนไข จอบ เสียม เครื่องปั้นดินเผา เขาควาย มาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนแง่มุมต่างๆในสังคมอย่างชาญฉลาด มณเฑียรมองว่าวัสดุเหล่านี้ยังสามารถแสดงถึงรากเหง้า และจิตวิญญาณของบ้านเราซึ่งยิ่งนานวันจะยิ่งถูกลืมเลือนได้ชัดเจนตรงไปตรงมากว่า โดยการเลือกวัสดุราคาไม่แพงที่หาได้ในท้องถิ่น และหลีกเลี่ยงวัสดุตามจารีตที่วัฒนธรรมตะวันตกให้ค่าอย่าง สีน้ำมัน ผ้าใบ หินอ่อน บรอนซ์ เหมือนเป็นการขบถต่อต้านระบบบริโภคนิยมซึ่งมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ แนวความคิดนี้สอดคล้องความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า อาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) ซึ่งหากแปลเป็นไทยจะได้ความหมายประมาณว่า ‘ศิลปะสมถะ’
มณเฑียรเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2521 และได้ไปทำงานสอนศิลปะอยู่ที่วิทยาลัยช่างศิลป์อยู่หลายปี จนในปี พ.ศ. 2529 มณเฑียรบวชเรียนที่วัดชลประทานรังสฤษดิเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อสึกออกมามณเฑียรขอแต่งงานกับ จันทร์แจ่ม มุกดาประกร เพื่อนร่วมชั้นคนสนิทที่รักกันมายาวนานตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ก่อนงานแต่งมีพระที่ครอบครัวมุกดาประกรนับถือทักว่าชีวิตสมรสจะพบอุปสรรคยากลำบาก วิธีการแก้กรรมคือสามี และภรรยาต้องอยู่ห่างกันเป็นเวลา 10 ปี
หลังแต่งงานมณเฑียรเดินทางไปเรียนต่อด้วยทุนของรัฐบาลไทยที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ก่อนจะย้ายมาเรียนด้านประติมากรรมที่สถาบัน École nationale supérieure des beaux-arts ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญากลับมาบ้านเกิดในปี พ.ศ. 2531 และใช้ทุนโดยไปเป็นอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะที่ภรรยาและลูกชายอยู่ที่กรุงเทพฯโดยมณเฑียรจะเดินทางมาหาอยู่เสมอๆในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นการใช้ชีวิตแบบห่างๆกันกับครอบครัวตามที่พระท่านแนะนำไว้
ที่เชียงใหม่นี้เองที่มณเฑียรเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชุดสำคัญขึ้นมาชุดหนึ่ง หลังจากที่ได้ไปเห็นเจดีย์โบราณตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะตามจุดที่ไม่น่าจะเหมาะสมกับโบราณสถานอย่างซอกแคบๆระหว่างตึกแถวกลางตลาดซึ่งยิ่งกระตุ้นให้มณเฑียรต่อต้านการรุกคืบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มารุกรานวัฒนธรรมเก่าแก่อันบริสุทธิ์ของไทย
เพื่อสร้างงานศิลปะมณเฑียรได้นำดิน ทราย ถ่าน ขี้เถ้า มาทาเคลือบไว้ บนลัง และแผ่นกระดาษ รูปทรงสี่เหลียมผืนผ้า หลังจากนั้นก็นำลัง หรือกระดาษแต่ละชิ้นเรียงสลับซ้อนกันจากฐาน ค่อยๆสอบเข้าจนเกิดยอดแหลมด้านบน แบบเดียวกับที่ช่างโบราณใช้เรียงอิฐดินเผาหน้ายาว และหน้าตัดสลับทับๆกันเป็นชั้น ง่ายๆแต่มีประสิทธิภาพจนเกิดเป็นเจดีย์ที่สูงตระหง่านและแข็งแรง
แนวคิดของผลงานชุด ‘เจดีย์’ นี้ เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่มีพื้นเพมาจากพุทธศาสนา ไม่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่เห็นได้ในทันทีด้วยรูปทรงเจดีย์อันคุ้นตา ทั้งวัสดุที่เลือกใช้ และขั้นตอนการสร้างล้วนเกิดจากหลักศาสนาทั้งสิ้น มณเฑียรมองว่าดินเป็นธาตุที่ห่อหุ้มโลก เป็นที่กำเนิดและเป็นบ้านของสรรพชีวิต เมื่อดินถูกขุดแยกออกมาจากผิวโลก นำมาปั้นแต่ง เข้าพิมพ์ให้เป็นก้อนสี่เหลียม ก่อนจะถูกตากแดดให้แข็งตัว และเผาจนกลายเป็นก้อนอิฐการที่ดินถูกหยุดสถานะเดิมอันไม่มีรูปทรง ย่อยสลายได้ กลายเป็นอิฐที่ทนทานแข็งแกร่งมีรูปร่างชัดเจน นั้นเปรียบดั่งชีวิตที่บรรลุแล้ว จากการถูกขัดเกลาโดยธรรม ส่วนวัสดุที่เคลือบด้วยดินในผลงานของมณเฑียรก็คือดินที่ถูกแปรเปลี่ยนสภาพไม่ต่างอะไรกับก้อนอิฐ
โดยปกติเจดีย์นั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยความศรัทธาเพื่อใช้บรรจุพระบรมธาตุ สิ่งแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงถึงการสิ้นสุดวัฏจักรเวียนว่ายตายเกิด อีกทั้งในวัฒนธรรมพุทธร่างผู้ที่วายชนม์จะถูกเผา และนำอัฐิบรรจุไว้ในสถูป ในผลงานรูปเจดีย์มณเฑียรปฏิเสธการใช้สีสันต่างๆเพื่อนำมาแทนค่าความหมายที่ต้องการจะสื่อ แต่จะเลือกใช้วัสดุจริงๆที่แทนค่าของสิ่งนั้นได้ รวมถึงการคงไว้ซึ่งสีสันตามธรรมชาติของวัสดุนั้นในการบอกเล่า มณเฑียรได้นำผงถ่านที่เกิดจากการเผาซึ่งเปรียบดั่งพระบรมธาตุ หรืออัฐิ มาทาทับผสมกับดินให้เกิดเป็นรูปทรงเจดีย์ที่เด่นชัดขึ้น ผลงานทุกชิ้นในชุดจึงล้วนมีเพียงสีดำ สีเทา และสีน้ำตาล เมื่อเสร็จสิ้นผลงานศิลปกรรมชุดเจดีย์อันเลื่องชื่อถูกนำไปจัดแสดงในงาน ไทยไทย นิทรรศการแสดงเดี่ยวของ มณเฑียร บุญมา ซึ่งจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลปเจ้าฟ้า ในปี พ.ศ. 2533
ในอีกไม่กี่ปีถัดมา สัณฐานของเจดีย์ในผลงานของมณเฑียรเริ่มเปลี่ยนไปจากที่สูงชลูดและมียอดแหลมแบบเจดีย์ไทย กลายเป็นเจดีย์ที่ผนังไม่สอบเข้าจากฐาน และมียอดโค้งมนกว่าแบบขอม เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมณเฑียรเกิดความสนใจในปราสาทโบราณรูปแบบนี้ที่พบเห็นในภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า ‘อโรคยศาล’
ในอีกไม่กี่ปีถัดมา สัณฐานของเจดีย์ในผลงานของมณเฑียรเริ่มเปลี่ยนไปจากที่สูงชลูดและมียอดแหลมแบบเจดีย์ไทย กลายเป็นเจดีย์ที่ผนังไม่สอบเข้าจากฐาน และมียอดโค้งมนกว่าแบบขอม เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมณเฑียรเกิดความสนใจในปราสาทโบราณรูปแบบนี้ที่พบเห็นในภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า ‘อโรคยศาล’
ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมผู้ทรงเลื่อมใสในศาสนาพุทธ นอกจากจะสร้างเมืองนครธมอันมหึมาเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรแล้ว บริเวณรอบๆเมืองยังโปรดให้สร้าง ‘อโรคยศาล’ ที่แปลว่า ‘ศาลาปลอดโรค’ ขึ้นอีกจำนวนถึง 102 แห่งตามข้อความที่ระบุไว้ในปราสาทตาพรหม และปราสาทพระขรรค์ เพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล อโรคยศาลที่นักโบราณคดีค้นพบมีรูปแบบคล้ายๆกันทั้งหมดคือเป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง และหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานรูปเคารพเพื่อใช้บูชา รวมถึงมีจารึกบทสรรเสริญพระพุทธเจ้า เล่าถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รายละเอียดจำนวนเจ้าหน้าที่ และรายการสมุนไพรที่ใช้
อโรคยศาล นั้นมีฟังก์ชันเหมือนโรงพยาบาลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยอาคารสถานพยาบาลไว้ให้แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วย อาคารเหล่านี้สร้างด้วยไม้เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 800 ปีจึงผุพังอันตรธานหายไปไม่เหลือซาก และในบริเวณเดียวกันก็มีอาคารที่ใช้เป็นศาสนสถานสร้างด้วยศิลาแลง และหิน วัสดุที่คงทนกว่ามากทำให้เรายังได้เห็นหลักฐานของการเคยมีอยู่ของสถานที่ดังกล่าว
คอนเซ็ปท์ของสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคทางกาย ในขณะเดียวกันก็สามารถพึ่งพาเยียวยาจิตใจได้ นั้นกระทบความรู้สึกของมณเฑียรในขณะนั้นมาก เพราะห้วงเวลาดังกล่าว จันทร์แจ่ม ภรรยาที่รักของมณเฑียรนั้นเริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม มณเฑียรถึงจะเป็นศิลปินหัวก้าวหน้า สร้างสรรค์ผลงานอันล้ำสมัยกว่าใครๆในประเทศ แต่ก็ยังมีความเชื่อแบบโบราณเกี่ยวกับจิตวิญญาณ เห็นได้จากการพยายามหาวิธีรักษาจันทร์แจ่มด้วยยาและวิธีรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน สมุนไพรแบบแผนโบราณ รวมถึงการสวดมนต์ภาวนา ทำบุญทำทาน ปฏิบัติทุกๆวิถีทางเท่าที่มณเฑียรจะทำได้
ผลงานสำคัญซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบเจดีย์ของมณเฑียรอย่างชัดเจน คือผลงานชื่อว่า ‘สถูป’ หรือ ‘Stupa’ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2537 ผลงานชิ้นนี้แรกเริ่มเดิมทีถูกสร้างขึ้นมาเป็นสเก๊ตช์ย่อส่วนขนาดสูงเกือบๆ 1 เมตรก่อน โดยใช้วัสดุเป็นไม้ตัดเป็นชิ้นเล็กๆแล้วทาเคลือบด้วยผงดินให้ดูเหมือนอิฐ หลังจากนั้นนำมาติดเรียงกันบนแผ่นไม้กระดานให้เกิดเป็นรูปร่างของเจดีย์ทรงขอม ชิ้นไม้เคลือบดินทรงสี่เหลี่ยมเหล่านี้มณเฑียรยังตั้งใจให้มีความหนาบางไม่เท่ากัน ทำให้ผลงานเมื่อแล้วเสร็จดูเป็น 3 มิติทะลุออกมาจากเฟรมเรียบๆที่ใช้เป็นฉากหลัง แตกต่างกับผลงานเจดีย์ชุดก่อนซึ่งเป็นภาพ 2 มิติแบบแบนๆที่ทุกแผ่นกระดาษ หรือกล่องที่นำมาเรียงเป็นเจดีย์นั้นต่างก็อยู่ในระนาบเดียวกันทั้งหมด
บริเวณตรงกลางของสเก๊ตช์ขนาดเล็กนี้ยังถูกออกแบบให้กรอบไม้เป็นรูปซุ้มประตู สื่อถึงทางเข้าไปสู่พื้นที่ภายใน แนวคิดซึ่งภายหลังมณเฑียรให้ความสนใจ พัฒนาต่อยอดจนสามารถสร้างพื้นที่ภายในขึ้นมาได้จริงๆกับผลงานศิลปะอีกหลายชุดต่อๆมา
สาเหตุที่สเก๊ตช์ของสถูปถูกสร้างสรรค์อย่างละเอียดบรรจงดูมีมิติสมจริงเช่นนี้ ก็เพื่อใช้แสดงเป็นตัวอย่างในการนำเสนอผลงาน ก่อนที่จะขยายให้มีขนาดใหญ่และนำไปติดตั้งในสถานที่จริง ซึ่งตามแผนการเดิมผลงานชิ้นสำเร็จจะต้องถูกนำไปติดตั้งไว้ที่อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อจัดแสดงร่วมกับผลงานศิลปะชิ้นล้ำค่าขนาดมหึมาอื่นๆที่ทางธนาคารเพียรพยายามซื้อหามาเก็บสะสมไว้อาทิเช่น ศาลาไม้แกะสลักขนาดสูงเท่าตึก 3 ชั้นออกแบบโดย ถวัลย์ ดัชนี และ ภาพวาดทิวทัศน์บนผ้าใบขนาดยาวกว่า 4 เมตรฝีมือ ทวี นันทขว้าง
ก่อนจะได้ข้อสรุปจากทางธนาคาร ปรากฏว่ามีนักสะสมงานศิลปะที่สนิทสนมกับมณเฑียรเป็นพิเศษมาเห็นเข้า และขอซื้อผลงานชิ้นนี้ไปก่อน มณเฑียรจึงทำการขยายผลงานให้มีขนาดสูง และกว้างเกือบ 3 เมตร สร้างด้วยผ้าใบทาด้วยผงดินขึงบนเฟรม และไม้ที่มีการตัดแต่งเตรียมผิวไว้แล้ว ชิ้นส่วนทั้งหมดถูกนำมาจัดเรียงให้เป็นรูปร่าง โดยวางเฟรมแต่ละเฟรมมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ยึดติดให้แน่นหนาด้วยลิ่มไม้แบบช่างในสมัยโบราณ หลีกเลี่ยงการใช้ตะปู น๊อต สกรูโลหะ หรือวัสดุอะไรก็ตามที่สื่อถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมด และนำไปติดตั้งด้วยตนเองในบ้านพักส่วนตัวของนักสะสมท่านดังกล่าวที่มณเฑียรไปมาหาสู่อยู่ตลอด
ผลงาน สถูป ชิ้นสำเร็จชิ้นนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษเพราะเป็นผลงานขนาดใหญ่ของมณเฑียรที่ไม่เคยถูกเผยแพร่ หรือจัดแสดงที่ไหน จนแม้แต่นักวิชาการ ภัณฑารักษ์ นักสะสม มากมายที่ชื่นชมผลงานของมณเฑียรยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลงานช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเหมือนจิ๊กซอว์ที่เติมเต็มแสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นทางความคิดที่ผลักดันเจดีย์ของมณเฑียรให้มีวิวัฒนาการจาก 2 มิติในชุด ‘เจดีย์’ ไปสู่ 3 มิติแบบเต็มรูปแบบในชุด ‘อโรคยศาล’ ผลงานอันโด่งดังชุดต่อมาที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้าไปอยู่ภายในได้ พร้อมทั้งเพิ่มสัมผัสอื่นๆทั้งเสียงบริกรรมคาถา และกลิ่นสมุนไพร กลายเป็นผลงานที่ถูกกล่าวขานอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ
มณเฑียร บุญมา ศิลปินไทยผู้หลุดพ้นจากพันธนาการทางศิลปะได้สำเร็จจนมีชื่อเสียงก้องโลก แต่อนิจจา ยังไม่ทันจะแก้กรรมครบ 10 ปีตามที่พระท่านแนะนำไว้เมื่อตอนแต่งงาน จันทร์แจ่มภรรยาของมณเฑียรก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง และในอีกเพียง 4 ปีถัดมามณเฑียรก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรมตามไปด้วยมะเร็งร้ายเช่นเดียวกัน ไม่สามารถหลุดพ้นจากพันธนาการของสังสารวัฏที่มาพรากคู่ชีวิต และตัวมณเฑียรเองไปก่อนวันเวลาอันควรได้