นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 63
เรื่อง: อาภาวัลย์ ลดาวัลย์
ภาพ: ธนิต มณีจักร
ถ่ายทอดเรื่องราว “ศิลปะสมัยใหม่แบบไม่ต้องปีนกระไดดู” บทความศิลปะของ “ตัวแน่น” คุณพิ – พิริยะ วัชจิตพันธ์ ในนิตยสารอนุรักษ์อ่านเข้าใจง่ายจน FC ตั้งตารอ
ย้อนไปสมัยที่สาวน้อย สาวใหญ่ ที่เข้าร้านเสริมสวยปั๊ป ต้องคว้าพลอยแกมเพชรมาอ่านบทความหลงยุคดึกดำบรรพ์กับสัตว์ล้านปี ที่เขียนใช้ภาษาสนุกๆ เอาเป็นว่า ผมสวยเช้งแล้วยังมีสาระกลับไปเล่าให้ลูกหลานฟังเพลินเลย เจ้าของบทความลงท้ายนามปากกาว่า “ตัวแน่น” เหมือนกัน
แต่ “ตัวแน่น” หาใช่คนรุ่นเก่าตามเรื่องราวที่เขียน
วันนี้ทีมอนุรักษ์นั่งคุยกับนักเขียนกิตติมศักดิ์ที่แน่นไปด้วย Passion ข้อมูล และรอยยิ้ม คุณพิ – พิริยะ วัชจิตพันธ์ นักเขียน นักสะสมงานศิลปะ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Art Auction Center และ สมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย และภรรยา คุณออน – กรกมล ชัยวัฒนเมธิน (ออน ละอองฟอง) เภสัชกร นักร้อง พิธีกร ผู้บริหาร KA
ทั้งคู่ถึงจะมีบทบาทการงานหลายด้าน ยามว่างแปลงร่างเป็นสายมิว หรือ Museum Hopper
การเดินทางแบบสายมิว
คุณออนเล่าถึงทริปตะลอนมิวเซียมในต่างแดน ทุกครั้งคุณพิจะเตรียมลิสต์ยาวว่าในแต่ละวันจะว๊าปไปมิวเซียมไหนบ้าง โดยมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และ สวนสัตว์ เป็น Must Go List จบที่ร้านขายของที่ระลึก มิวเซียมหอบหิ้วหนังสือหนักอึ้งกลับบ้านไปอ่านต่อทุกครั้ง
เพราะคอนโดเป็นเหตุ
ค้นคว้าเรื่องสัตว์จนทะลุปรุโปร่ง ทำไมถึงหันมาสะสมศิลปะ คุณพิเพิ่งย้ายเข้าคอนโดใหม่ จึงอยากได้ภาพเขียนมาติดผนังแนวโมเดิร์นเรียบง่าย แต่รู้จักศิลปินไทยแค่ 2 ท่านคืออ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กับอ. ถวัลย์ ดัชนี มือใหม่ยังไม่มีข้อมูลว่าต้องซื้อที่ไหนยังไง เรื่องราคาไม่ต้องพูดถึง ยากไปหมด บังเอิญไปเปรยกับเพื่อนที่พอดีมีภาพของ อ. ถวัลย์ ดัชนี แล้วยังแถมใจดีให้เอามาติดลองดูก่อน หลังนั่งพิจารณาที่ฝาบ้านตัวเองยิ่งหลงรัก หากยกคืนคงรู้สึกขาดหาย เจรจาขอแบ่งเพื่อนให้มาเท่าทุน สนราคาที่ 5 แสน
หลังจากตัดใจลงทุนกับภาพเขียนชิ้นแรกฝีมือปรมาจารย์ คุณพิเล่าว่าถึงกับต้องเจียมเนื้อเจียมตัวทานมาม่าอยู่พักใหญ่ เวลาผ่านไปไม่กี่เดือนมีเพื่อนมาขอแบ่งไปเชยชมในราคาเท่าตัว คุณพิจึงแน่ใจว่ามาถูกทางแล้ว
ผู้หญิงย่อมคู่กับดอกไม้ แต่ดอกไม้ของคุณพิที่มอบให้ จะไม่มีวันเหี่ยวเฉา
ภาพแรกที่มอบให้คุณออน
รูปดอกไม้ในแจกัน ของอ. อวบ สาณะเสน ปี 1985 เป็นภาพแรกที่คุณพิมอบให้ จากนั้นมีภาพดอกไม้ตามมาอีกหลายภาพ เช่น ภาพดอกบัวฝีมือ อ. พิชัย นิรันต์ ไปถึงภาพดอกไม้ที่ใหญ่อลังการเต็มไปด้วยกล้วยไม้นานาพันธุ์กว่า 20 ชนิดสไตล์อิมเพรสชั่นนิส มีไฮไลต์เป็นภาพสุดท้ายของ ศิลปินแห่งชาติ อ. ทวี นันทขว้าง ที่ไม่มีในเรคคอร์ดจากหนังสือใดๆ ด้วยความที่ทุกคนมักจะเห็นภาพของอาจารย์ชิ้นใหญ่ที่หอประชุมทิวไผ่งาม แต่ ด้วยความอยากรู้จึงสืบถามจนได้เจอ “ภาพที่ไม่ได้ลงชื่อ”
(ย้อนดูยูทูปอนุรักษ์ https://youtu.be/FuCR6koc6ZI หรืออ่านบทความ ทวี ฟินาเล่)
เสาะหาภาพเขียนศิลปินไทยในต่างแดน
นอกจากมิวเซียมแล้ว ทั้งคู่ยังชอบตามหางานประมูลเล็กๆ หรือ Estate Sales ในเมืองที่ไม่ค่อยมีคนไปเดินทางไป เพราะมักจะเจอผลงานศิลปินไทยที่มีชื่อเสียง ที่ถูกคอลเลคเตอร์ หรือฝรั่งรุ่นก่อนที่มาเมืองไทยถือกลับประเทศไปด้วย นานวันเข้า สมบัติเหล่านี้ถูกนำมาเปลี่ยนมือโดยลูกหลาน อย่างเช่น งานอ. ถวัลย์ ดัชนี
ความตั้งใจเผยแพร่ศิลปะสมัยใหม่ของไทยสู่สากล
เมื่อคุณพิได้มีส่วนร่วมในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่สุโขทัย จึงมีความตั้งใจว่าอยากจะทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของไทยบ้าง แบกหนังสือจาก Museum ทั่วโลกเพื่อที่จะศึกษาและตัดสินใจว่าเราควรจะสะสมภาพแบบไหน อ่านไปอ่านมากลัวลืมคุณพิจึงทำโน๊ตย่อขึ้นมาเป็นการจดบันทึกข้อมูลรวมทั้งเรื่องราวที่เคยไปคุยกับนักสะสมหรือศิลปินต่างๆ
ประสบการณ์จากนักสะสมต่างประเทศ นอกจากชิ้นงานกับศิลปินแล้ว ต่างชาติยังให้ความสำคัญของที่มาของผลงาน หรือประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชิ้นงาน ที่เรียกว่า Provenance ซึ่งผิดกับความเชื่อในบ้านของเรา นักสะสมมักหลบซ่อน เกรงว่างานจะช้ำ หากอยากเปลี่ยนอาจจะ โดนครหาว่าสิ้นเนื้อประดาตัวต้องนำภาพมาขาย
ต่างชาติยังให้ความสำคัญของที่มาของผลงาน หรือประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชิ้นงาน ที่เรียกว่า Provenance ซึ่งผิดกับความเชื่อในบ้านของเรา
ผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่คุณพิสะสมจึงเริ่มจากสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างภาพเขียนของ ขรัว อินโข่ง สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีศิลปินต่างชาติมาวาดภาพ จวบจนสมัยรัชกาลที่หกที่อาจารย์ศิลป์พีระศรีเข้ามาวางรากฐานการเรียนศิลปะในประเทศไทยต่อด้วยกลุ่มลูกศิษย์ของศิลปากร รวมไปถึงกลุ่มเพาะช่าง ที่ในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นหัวกะทิของวงการ
คุณสมบัติที่ดีของนักสะสมงานศิลปะที่สามารถนำไปใช้กับทุกอย่างในชีวิต คืออ่านศึกษาหาข้อมูล ดูงานให้ทั่ว ใฝ่รู้ สืบเสาะ สอบถามต่อ จดบันทึก
ข้อคิดฝากนักสะสม
คุณสมบัติที่ดีของนักสะสมงานศิลปที่สามารถนำไปใช้กับทุกอย่างในชีวิต
– การอ่านศึกษาหาข้อมูล ดูงานให้ทั่ว
– ใฝ่รู้ เมื่ออ่านแล้วต้องหาข้อมูลจากหลายที่ สืบเสาะ สอบถามต่อ
– จดบันทึกข้อมูล ให้ลูกหลานคนรอบตัวเข้าใจทั้งที่มา และมูลค่าของชิ้นงาน
คุณพิเสริมว่า “การสะสมผลงานโอมาสเตอร์เปรียบว่าเหมือนกับสะสมหุ้นบลูชิพ ส่วนศิลปินรุ่นใหม่นั้นมีความหวือหวาและน่าสนใจ สมัยก่อนวาดภาพในผนังถ้ำ วาดลงกระดาษ ลงแคนวาส จนวาดบน iPad อย่างงาน NFT ให้เราชื่นชม”
ในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะไทยรวมทั้งมูลค่า มีการจดบันทึกในรูปแบบของการประมูลซึ่งทำให้วงการศิลปะไทยนั้นมีความเป็นมาตรฐานและเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น สำหรับคุณพิและคุณออนนั้นขอเป็นส่วนร่วมสนับสนุนอนุรักษ์และขับเคลื่อนศิลปะไทยต่อไป
สำหรับเจ้าของนามปากกา “ตัวแน่น” โปรดปรานอะไรที่ย้อนยุคเป็นพิเศษ การได้เห็น ศึกษา อ่าน ทำความเข้าใจ เกิดรักศิลปะ อยากถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจแบบเวอร์ชั่นสั้นๆ อ่านบทความของคุณตัวแน่นได้ที่ www.anurakmag.com/author/anurak_author001