นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง/ภาพ ดร. ณัฐธัญ มณีรัตน์
เหรียญรุ่นที่สามเรียกว่า เหรียญใบสาเก กล่าวคือสัณฐานของเหรียญมีลักษณะเหมือนพัดเจ้าคุณของหลวงปู่ เพราะว่าเหรียญรุ่นนี้ออกที่ระลึกในการเลื่อนสมณศักดิ์ที่ เจ้าคุณพระไพโรจน์วุฒาจารย์ ด้านหน้าที่เป็นแฉกลงคาถา พระเจ้าสิบหกพระองค์ ด้านหลังเป็นยันต์เหมือนกับเหรียญรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีทั้งเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ทองแดงรมดำ และเนื้อเงิน สวย ๆ ต้องว่ากันที่หมื่นต้นขึ้นไปแต่ยังพอหาได้ ถ้าไม่สวยมาก พันปลาย ๆ ก็พอหาได้ และรุ่นนี้ถือเป็นเหรียญที่เป็นทางการเหรียญสุดท้ายของหลวงปู่ เพราะท่านได้ละสังขาร ในปีนี้เอง ในวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ สิริอายุ ๘๕ ปี ในคราวที่หวงปู่จะมรณภาพนั้นคนแถววัดที่เกิดทันหลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่หลวงปู่จะละสังขารสามวัน ได้มีดวงไฟดวงใหญ่เท่ากับกระด้งลอยออกจากวัดท่ากระบือข้ามแม่น้ำไปเป็นเวลา ๓ คืนติดกัน ดวงไฟดังกล่าวนั้นเห็นกันได้ทุกคน จะลอยออกไปเวลากลางคืน จนมีบางคนถึงกับนัดกันพายเรือออกตามไปดู แต่พอลอยข้ามแม้น้ำที่หน้าวัดไปแล้วก็ไม่สามารถติดตามต่อไปได้ นับเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์อย่างหนึ่ง
คราวนี้จะกล่าวถึงเหรียญที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันบ้าง เหรียญหลวงปู่รุ่งปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ออกที่วัดสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร มีหลายท่านสงสัยว่า เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญตายจะนำมากล่าวถึงทำไม ที่จริงแล้วเหรียญรุ่นนี้ทันหลวงปู่เสกแน่นอน ท่านคงสงสัยว่า ในเมื่อหลวงปู่ท่านมรณภาพปี ๒๕๐๐ แล้วเหรียญ ปี ๒๕๐๑ จะทันได้อย่างไร คืออย่างนี้ครับเหรียญรุ่นนี้สร้างในปี ๒๕๐๐ โดยท่านพระครูสาครบุญญวัฒน์(หลวงปู่แกละ)แล้วถวายหลวงปู่ให้ช่วยเสกให้เพื่อจะนำออกสมนาคุณแก่ผู้ที่ทำบุญสร้างพระอุโบสถวัดสวนส้มในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ตอนที่หลวงปู่มรณภาพจึงได้นำเหรียญรุ่นนี้ออกมาจากกุฏิของท่าน จึงไม่มีปัญหาใด ๆ เหรียญรุ่นนี้ทันหลวงปู่แน่นอนครับ สนนราคายังไม่แพงรีบ ๆ เช่าหาไว้นะครับ
ส่วนเหรียญพระพุทธที่หลวงปู่ท่านเป็นประธานปลุกเสกมีอยู่หลายวัดเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นวัดในแถบ ๆ นั้น เหรียญหลวงพ่อศรีธรรมราช วัดบางยาง ปี ๒๔๘๑ วัดบางยางเป็นวัดที่อยู่ในคลองดำเนินสะดวก วัดนี้สมัยก่อนท่านอาจารย์กุศล กุศโล เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระนักพัฒนาได้สร้างอาคารโรงเรียนมัธยมขึ้น และได้อาราธนาหลวงพ่อรุ่งมาอุปถัมภก์ หลวงพ่อรุ่งได้สร้างวัตถุมงคลชุดหนึ่งออกที่วัดนี้ มีเหรียญหลวงพ่อศรีธรรมราช พระผงสี่เหลี่ยม แหวนมงคลเก้า เหรียญหลวงพ่อศรีมีจำนวนการสร้างเพียง ๕๐๐ เหรียญเท่านั้น เป็นเหรียญที่หายากมาก หลวงปู่เป็นประธานในการปลุกเสก นอกจากท่านแล้วยังมี หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณและหลวงพ่อแช่มวัดจุฬามณี ร่วมปลุกเสกด้วย ในครั้งนั้นนอกจากเหรียญแล้วยังมีพระผงพิมพ์ประจำวันด้วย เป็นของดีน่าใช้
อีกเหรียญหนึ่งคือเหรียญวัดแม่น้ำ ปี ๒๔๙๙ สร้างโดยหลวงพ่อเก๋ ในครั้งนั้นได้นิมนต์หลวงปู่รุ่งไปเป็นประธานในพิธี เล่ากันว่าท่านเสกจนผ้าที่คลุมเหรียญไว้สะบัดดังพลึบ ๆ เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง จนเป็นที่พอใจแล้วหลวงปู่จึงกล่าวกับหลวงพ่อเก๋ว่า ของเต็มแล้ว ในครั้งนั้นมีผู้ไปร่วมพิธีจำนวนมาก เกิดอาการที่เรียกว่าของขึ้น บ้างเต้นเป็นลิง บ้างก็สั่น บ้างก็กระทืบเท้าจนเกิดเสียงดังรบกวน พระคณาจารย์หลายรูปในพิธีจึงสะกดด้วยการพรมน้ำมนต์ แต่ก็มิเป็นผล จนในที่สุดหลวงปู่รุ่งท่านจึงตวาดออกไปว่า “หยุด ๆ พอได้แล้ว กูรำคาญ” เท่านั้นแหละปรากฏว่าล้มกันระเนระนาด เป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วว่า อาจารย์วัดท่าควายมีตบะเดชะยิ่งนักตวาดเพียงครั้งเดียวสยบพวกของขึ้นได้ทั้งหมด
นอกจากเหรียญที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเหรียญสุคโตวัดอ่างทอง วัดอ่างทองตั้งอยู่ริมน้ำท่าจีนเช่นเดียวกัน ที่เรียกว่าเหรียญสุคโต เพราะว่าด้านหลังของเหรียญมีอักษรขอมอ่านว่า สุคโต รุปร่างของเหรียญเหมือนกับเหรียญรุ่นล้างป่าช้า ของหลวงปู่ไปล่ วัดกำแพง ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่ ผิดกันที่เหรียญวัดอ่างทองเป็นเหรียญปั๊ม แต่ของหลวงปู่ไปล่เป็นเหรียญหล่อ
ในส่วนเหรียญพระสงฆ์ที่หลวงปู่รุ่งไปร่วมปลุกเสกนั้นก็มีเหรียญหลวงปู่ฮะ วัดดอนไก่ดี กระทุ่มแบน หลวงปู่ฮะกับหลวงปู่รุ่งท่านเป็นสหธรรมิกกัน แต่หลวงปู่ฮะท่านจะเก่งด้านยาสมุนไพร เหรียญนี้ออกราว ๆ ปี ๒๔๙๐ นอกจากนี้ยังมีเหรียญพระอุปัชฌาย์สุดใจ วัดบางเลน นครปฐม สร้างปี ๒๔๘๑ เป็นรูปหยดน้ำ ด้านหลังมีอักษรขอมอ่านว่า อะระหัง และยังมีเหรียญพระอุปัชฌาย์อุ่น วัดบางขุด สมุทรสงคราม ออกประมาณปี ๒๔๙๐ เหรียญหลวงพ่อโฉม วัดธรรมจริยาภิรมณ์ปี ๒๔๙๙ เหรียญเหล่านี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในส่วนกลาง หากมีโอกาสเจอก็รีบเก็บนะครับใช้แทนเหรียญรุ่นแรกท่านได้สบาย ไม่ต้องกังวลเรื่องปลอมด้วยครับ สบายใจได้
สำหรับเครื่องรางจำพวกตะกรุดนั้นหลวงปู่ท่านได้สร้างไว้หลายชนิดด้วยกัน แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวบ้านแถบท่ากระบือ คือตะกรุดจันทร์เพ็ญ เป็นตะกรุดที่ลงด้วยยันต์แบบเดียวกับผ้ายันต์และใช้ฤกษ์เดียวกัน จึงสร้างได้จำนวนน้อย ตะกรุดจันทร์เพ็ญมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่าหากันที่หมื่นต้นไปหมื่นกลาง ๆ นอกจากนี้ยังมีตะกรุดเก้าดอก เป็นที่เสาะหากันมากครับ ออกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต แต่หากเป็นตะกรุดชุดแรก ๆ จะเป็นฝาบาตรมีตะกั่วผสมอยู่ดอกหนึ่งร้อยไว้ในพิรอด ดอกจะเล็ก ๆ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งนั้น ตะกรุดของหลวงปู่ชนิดที่ไม่มีถัก ที่ทำจาก เงินหรือ ทองแดงนั้น ดอกจะเล็ก ม้วนแคบ ๆ มีเจียนมุมออกนิดนึง นอกจากนี้ยังมีตะกรุดชุด ๑๒ ดอก ๑๖ ดอกด้วย
นอกจากตะกรุดแล้วหลวงพ่อรุ่งยังสร้างวัตถุมงคลพิเศษที่เรียกว่า กระดอนสะท้อนเอาไว้ด้วย โดยสร้างจากไม้กาฝากกระท้อน ไม่ใช่ไม้กระท้อนนะครับ ทำเป็นพวง พวงหนึ่งมีสี่เม็ด แต่ถ้าเป็นแบบเดี่ยวจะมีขนาดเขื่องหน่อย เป็นเครื่องรางที่มีเอกลักษณ์ ราคาเช่าหาไม่เบาเลย ปัจจุบันแยกขายเป็นเม็ด ๆ ครับ เม็ดละไม่ต่ำกว่าพันบาท ถ้าที่มาดีสองพันก็มีคนรอเช่า แต่มีข้อเสียคือ มีของทำเลียนแบบมากเหลือเกิน
หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ นับได้ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีนที่คงความศักดิ์สิทธิ์ไม่เสื่อมคลาย และเป็นหนึ่งในพระเกจิ ๑๐๘ องค์ที่ได้รับนิมนต์มางานพุทธาภิเษกใหญ่ที่วัดราชบพิตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึงแม้ท่านจะละสังขารไปนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ความนับถือยังไม่เสื่อมคลาย งานประจำปีปิดทองรูปเหมือนท่าน มีคนมาร่วมงานนับพันคนทุกปี ปัจจุบันวัตถุมงคลที่ท่านสร้างกลายเป็นของล้ำค่าเป็นที่เสาะแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่อง