Wednesday, December 11, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

หลวงพ่อรุ่ง  วัดท่ากระบือ  เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน ตอนที่ ๕

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ มกราคม 2567
เรื่อง/ภาพ ดร. ณัฐธัญ มณีรัตน์

ผ้ายันต์ ๑๐๘ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

           ในบรรดาเครื่องรางของขลังที่หลวงปู่รุ่งท่านสร้างเอาไว้ ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญและตะกรุดจันทร์เพ็ญถือเป็นของวิเศษจะต้องทำตามฤกษ์คือ จะทำได้แต่ในวันจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งในเวลาหลายปีจึงจะมีสักครั้งหนึ่ง ในผ้ายันต์มีพระคาถาพระพุทธเจ้า ๑๐ ทิศ และคาถาพระขรรค์เพชรพระพุทธเจ้า ซึ่งพระคณาจารย์โบราณนับถือกันมาก โดยเฉพาะคาถาพระขรรค์เพชรนั้นถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ได้รวมเอาสารัตถะแห่งพระธรรม ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์เอาไว้ หากผู้ใดท่องบ่นภาวนาก็จะแคล้วคลาดจาก ภยันตรายทั้งปวง เทวดารักษา หลวงปู่รุ่งท่านชอบใช้พระคาถาบทนี้ปลุกเสกพระและเครื่องรางของท่าน 

 
            อิติสิทธิพุทธังสมาธิ อิติสิทธิธัมมังสมาธิ อิติสิทธิสังฆังสมาธิ อิติสิทธิสุตตังสมาธิ อิติสิทธิวิเนยยังสมาธิ อิติสิทธิอภิธัมมังสมาธิ อิติสิทธินะโมพุทธายะสมาธิ อิติสิทธิปาระมิตาสมาธิ อิติสิทธิมังรักขันตุสัพพะทาสมาธิ

              ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจจะนำไปทดลองใช้ดูก็ได้นะครับ ทั้งนี้ก็น่าจะขึ้นอยู่กับจิตที่มีสมาธิด้วย พระคาถาจึงจะบังเกิดผล สำหรับผ้ายันต์จันทร์เพ็ญนั้นนอกจากจะดีทางคุ้มครองป้องกันแล้ว ยังเล่าขานกันว่าดีทางความเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย เคยมีข้าราชการท่านหนึ่งในกรุงเทพได้ไปปรากฏว่าหน้าที่การงานมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะฤกษ์จันทร์เพ็ญเดือน ๑๒ อันมีเคล็ดหมายถึงความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ไม่พร่อง คือจันทร์เต็มดวง น้ำก็เต็ม เดือนก็เป็นเดือน ๑๒ นอกจากหลวงปู่จะทำผ้ายันต์แล้ว ยังมีตะกรุดด้วยซึ่งดอกจะค่อนข้างใหญ่ และหายากมาก ท้องถิ่นเช่าหากันเกือบแสนยังหาไม่ได้เลยครับ

ผ้ายันต์จันทร์เห็ญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
ผ้ายันต์จันทร์เห็ญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
ผ้ายันต์พุทธนิมิตร หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

วัตถุมงคลประเภทเหรียญของหลวงปู่รุ่ง

               เหรียญรุ่นแรกที่สร้างเป็นทางการของหลวงปู่รุ่งนั้นสร้างปี พ.ศ. ๒๔๘๔ แกะบล็อกมาจากในกรุงเทพ เหรียญรุ่นนี้มีหลายบล็อกจะเช่าหาต้องศึกษาดูให้ดีเพราะราคาต่างกันมาก ที่นิยมสูงสุดนั้นเป็นพิมพ์ที่เรียกขานกันในวงการว่า “หน้าแก่ยันต์หยิก” กล่าวคือใบหน้าของหลวงปู่จะดูเคร่งขรึม ด้านหลังที่อุณาโลมยอดยันต์มีขยักแบบไม่ค่อยเท่ากัน ดูหยิก ๆ เลยเรียกว่า ยันต์หยิก เหรียญรุ่นนี้สวย ๆ ราคาเป็นแสน มีเนื้อทองแดง เงินและ เงินลงยา โดยเฉพาะเงินลงยานั้นหายากมากมีไม่เกิน ๕๐ เหรียญ ส่วนใหญ่ตกกับลูกศิษย์ในกรุงเทพหมด อีกพิมพ์หนึ่งเรียกว่าหน้าหนุ่มยันต์ตรง ซึ่งแยกย่อยเป็นบล็อกแตกและบล็อกไข่ปลา เหรียญรุ่นนี้ หน้าหลวงปู่ดูไม่ค่อยดุเหมือนรุ่นแรก ยันต์ด้านหลังเหรียญตรงอุณาโลมตรงขึ้นไป จึงเรียกว่า รุ่นยันต์ตรง มีเกร็ดประวัติเกี่ยวกับเหรียญรุ่นนี้ พระที่ท่านบวชในสมัยหลวงปู่รุ่งรูปหนึ่ง ท่านกรุณาเล่าให้ฟังว่า ที่จริงแล้ว เหรียญรุ่นนี้สร้างก่อน รุ่นหน้าแก่ยันต์หยิก เมื่อลูกศิษย์นำเหรียญตัวอย่างมาให้หลวงปู่ท่านตรวจดู ท่านติว่า “หน้าไม่เหมือนข้า ไปแกะมาใหม่” แต่ก็ได้ปั๊มออกมาจำนวนหนึ่ง และไม่เป็นที่นิยมด้วยเหตุผลดังกล่าว มีทั้งเนื้อเงินและทองแดงเช่นเดียว เหรียญรุ่นนี้ต้องระมัดระวังเพราะทางวัดได้นำบล็อกเก่ามาสร้างใหม่ในราวปี สองพันห้าร้อยกว่า ๆ โดยพระครูสาครบุญวัฒน์(หลวงพ่อหยัด เจ้าอาวาสองค์ต่อจากหลวงปู่รุ่ง) นอกจานี้ยังมีแบบหน้าแก่ยันต์ตรง รุ่นนี้ท่านไปออกช่วยงานที่วัดบางขุด สมุทรสงคราม เหรียญหน้าหนุ่มสภาพสวย ๆ เช่าหากันไม่เกินหมื่น ซึ่งถือว่าถูกกว่ารุ่นหน้าแก่ยันต์หยิกมาก

เหรียญหลังพระประธาน เนื้อเงิน หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

             เหรียญรุ่นสองของหลวงปู่คือ รุ่นหลังพระประธาน สร้างในโอกาสหล่อพระประธานในพระอุโบสถ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ด้านหน้าคล้ายกับรุ่นแรก ผิดกันที่ รุ่นนี้ระบุชื่อ พระไพโรจน์มันตาคม และด้านข้างองค์หลวงปู่ และด้านล่างมีอักษรขอมอยู่ สี่ตัว ได้สอบถามท่านผู้รู้ ท่านบอกว่าเป็นอักขระที่มาจาก โองการพระเจ้านอโมเข้าใจว่าเรียนมาจากคุณพ่อเนียม วัดน้อย เพราะเคยได้พบตำราดังกล่าวที่วัดอำแพงเขียนว่า โองการพระเจ้านอโมของคุณพ่อเนียม วัดน้อย ด้านหลังไม่มียันต์แต่ประการใด แต่เป็นรูปพระประธาน นอกจากเหรียญปั๊มแล้วในครั้งนั้น หลวงปู่ยังได้นำโลหะที่เหลือจากการหล่อพระ มาสร้างเป็นเหรียญหล่อสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ด้านหน้าเป็นพระพุทธประทับอยู่บนฐานบัว ด้านหลังเป็นยันต์คล้ายกับเหรียญรุ่นแรก เหรียญหล่อรุ่นนี้มีประสบการณ์ดีมากทางมหาอุด (โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2484 บล็อคหน้าแก่ยันต์หยิก
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2484 บล็อคหน้าแก่ยันต์หยิกง 2

About the Author

Share:
Tags: มกราคม 2567 / หลวงพ่อรุ่ง / วัดท่ากระบือ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ