เวลาที่มาเที่ยววัดโบราณทางภาคอีสาน ถ้าลองสังเกตจะพบศาสนคารหลังเล็กๆ น่ารัก เหมือนบ้านตุ๊กตา สิ่งปลูกสร้างนี้ในทางอีสานเรียกว่า “สิม” ซึ่งก็คือ “โบสถ์” ในภาษาภาคกลางนั่นเอง สิมน้อยหลายหลังสร้างขึ้นด้วยฝีมือ “ช่างญวน”

ช่างญวนคือใคร
หากถามว่า “ช่างญวน” คือใคร คงต้องเล่าย้อนไปในสมัยที่ประเทศฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมในแถบอินโดจีน ซึ่งตรงกับช่วงรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ (พุทธศักราช ๒๓๙๔-๒๔๕๓) ในครั้งนั้นเริ่มมีชาวเวียดนามอพยพข้ามแม่น้ำโขง เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบจังหวัดนครพนม สกลนคร อุบลราชธานี หนองคาย และศรีสะเกษ แต่ช่วงที่ชาวเวียดนามลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากที่สุด เห็นจะเป็นช่วงพุทธศักราช ๒๔๘๘-๒๔๘๙ ซึ่งในขณะนั้นประเทศเวียดนามมีความขัดแย้งกันในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง ทั้งจากภายในและนอกประเทศ
ความสามารถทางเชิงช่าง
เมื่อเข้ามาสู่สยามแล้ว จึงดำรงอาชีพตามความถนัด คือ “งานช่าง” ช่างเวียดนาม หรือ ช่างญวน มีความถนัดในเรื่องงานปูนมาก เขาจะมีเอกลักษณ์ทางเชิงช่างที่สังเกตได้ในการสร้างสิมอีสาน คือ การเจาะช่องระเบียงเป็นรูปไข่ บันไดทางขึ้นสองข้างมีลักษณะผายออก และฝีมือที่สำคัญอีกอย่างคือ การสร้างกรอบโค้งเหนือประตูหน้าต่าง อย่างที่ได้รับอิทธิพลและทักษะมาจากประเทศฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม ซึ่งช่างท้องถิ่นยังไม่มีทักษะในการก่อสร้างกรอบโค้งเช่นนี้ ทำให้สิมที่มีการก่อสร้างอย่างชาติตะวันตกดูจะโก้ไม่หยอกในยุคสมัยนั้น


ประชาธิปไตยบนสิมญวน
นอกจากปูนปั้นเป็นลวดลายเครือเถาและสัตว์มงคลที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนแล้ว ยังมีลวดลายสัญลักษณ์หนึ่งที่ปรากฏอยู่ในงานช่างญวนคือ “รูปพานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตย ภาพพานแว่นฟ้านี้ มีจุดเริ่มต้นจากแนวความคิดของนายจำรัส มหาวงศ์นันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดน่าน ที่เสนอให้อัญเชิญรัฐธรรมนูญจำลองไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวและเป็น
ที่พึ่ง เมื่อปลายเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ต่อมาจึงมีการสร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น ๗๐ ชุด โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ควบคุมดูแล โดยประสานกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในเรื่องการออกแบบ จนได้มาเป็นสมุดไทยลงรักปิดทองบนพานสองชั้น ให้เป็น “พานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดความเป็นของบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากพานสองชั้นที่เรียก “พานแว่นฟ้า” ปรกติจะใช้รองรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์หรือพระพุทธศาสนา เช่น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือพระบรมสารีริกธาตุ
ที่จริงแล้วสัญลักษณ์แห่งความเสมอภาคในศาสนาสถานภาคอีสานไม่ได้ปรากฏแค่เพียงหน้าบันเท่านั้น แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่า มีการนำรูปพานรัฐธรรมนูญมาตกแต่งบนศาลาการเปรียญ หรือแม้แต่ธรรมาสน์ด้วย การนำสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญมาสร้างสรรค์ในงานช่างนี้ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการปรับทัศคติเชิงลบให้กับตนเอง ที่ถูกรัฐไทยมองว่ามีความฝักใฝ่ต่อการขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ภาคอีสานก็เป็นไปได้
ประชาธิปไตย
บนสิมญวน
ความเปลี่ยนแปลงภายในยุค
จอมพลป.พิบูลสงคราม
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพลป.พิบูลสงครามได้ดำเนินนโยบายชาตินิยม เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงกำหนดให้มีการสร้างโบสถ์ในรูปแบบที่ประเมินกันมาแล้วมาว่างาม ๓ ลักษณะ เรียกว่า “โบสถ์แบบ ก.ข.ค.” ช่างญวนจึงหมดโอกาสที่จะฝากความคิดสร้างสรรค์ไว้ในเชิงช่าง กอรปกับในระยะหลังวัดหลายแห่งเริ่มเห็นว่า สิมหลังเล็กของตนนั้นดูไม่ทันสมัยเสียแล้ว จึงมีการทุบทำลาย เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ หรือสร้างโบสถ์ใหม่ที่ดูสวยงามตามสมัยนิยม จนสถานการณ์สิมอีสานอยู่ในขั้นร่อแร่
โชคดีที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มกันกลับมาให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงบางวัดมีการสร้างโบสถ์ในรูปแบบอย่างสิมอีสานเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป ทำให้ยังพอพบเห็นได้บ้าง หากนักท่องเที่ยวท่านใดมีโอกาสทัศนาจรไปทางภาคอีสาน อย่าลืมแวะไปชื่นชมสิมญวนบ้างนะ เพื่อที่สิมหลังน้อยจะได้ไม่เงียบเหงาจนเกินไป

