Sunday, October 6, 2024
ชื่นชมอดีต

ฝรั่งเขียน(ถึง)ไทย ตั้งแต่ยังเป็นสยาม

(ภาพที่ 1) สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับหนังสือเหล่านั้น คือการนำ ภาพพิมพ์ แบบเอนเกรฟวิ่ง บนแผ่นทองแดง สองภาพ มาตีพิมพ์ประกอบเรื่องราวต่างๆ ของสยาม ในชื่อ Couvent de Talapoins และ Pagode De Siam ซึ่งสร้างขึ้นจากภาพวาดของ มองซิเออร์ปิแยร์มูติแยร์ หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางมากรุงศรีอยุธยากับคณะทูตฝรั่งเศสชุดแรก เป็นภาพสมมติที่มองจากมุมสูงลงไปยังสิ่งปลูกสร้างของวัดวาอาราม ที่มีพระเจดีย์งดงามสูงโดดเด่นเป็นสง่า โบสถ์และวิหารอีกทั้งกุฎิพระที่เรียงรายอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีกำแพงรั้วปิดรอบขอบชิด รวมไปถึงอาคารบ้านเรือนต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังเผยให้เห็นถึงการจัดสวนและปลูกต้นไม้ในมุมต่างๆ ของวัดและเมืองอีกด้วย
     เมื่อกรุงศรีอยุธยาต้องวายวอดลงเพราะไฟบรรลัยกัลป์ของข้าศึกในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ บรรดาสมุด หนังสือ ตำราและเอกสารอันมีค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย ที่ได้มีการสะสมกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึงสี่ร้อยปี ก็พลอยต้องสูญสลายไปในเปลวเพลิง อัครราชธานีแห่งหนึ่งของโลก ได้มอดไหม้ลงกลายเป็นกองอิฐกองถ่าน เหลือเพียงเรื่องราวของอดีต ที่บอกเล่าด้วยคำพูดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง หามีหลักฐานใดๆ ที่จะสามารถจับต้องและพอที่จะยืนยัน อีกเผยให้เห็นภาพอันชัดเจนของยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ที่สุดยุคหนึ่งของประเทศสยาม

ฝรั่งเขียน(ถึง)ไทย ตั้งแต่ยังเป็น

สยาม

เรื่อง: มล. ภูมิใจ ชุมพล
ภาพ: จากหนังสือ?

      แต่ในความโชคร้ายของประวัติศาสตร์ ยังพอมีความโชคดีทับซ้อนอยู่บ้าง เพราะนอกจากอยุธยาจะเป็นราชธานีและศูนย์กลางแห่งการปกครอง ศาสนกรรมและวัฒนธรรมแล้ว อยุธยายังเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในช่วงหลายๆ ศตวรรษ จะด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ของเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่นำ้ใหญ่ที่ไหลลงสู่อ่าวนำ้ลึกที่ไร้พายุรุนแรง เหมาะกับการจอดพักเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าขึ้นบก หรือเหตุผลทางนโยบายการทูตเชิงพาณิชย์ ที่สยามช่ำชองมาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยก็ตาม ยังผลให้มีผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางเข้าออกกรุงศรีอยุธยา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านการค้าหรือการเผยแผ่ศาสนา และกลุ่มคนจากนานาเผ่าพันธุ์เหล่านี้เอง ที่เป็น ผู้บันทึกเรื่องราวและความเป็นไปของกรุงศรีอยุธยาและสยามประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมเก็บงำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอัครราชธานีแห่งนี้ให้พ้นจากเปลวเพลิงของสงครามในครั้งนั้น

      กล่าวได้ว่าจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเปอร์เซีย น่าจะเป็นชนชาติแรกๆ ที่ได้ทำการบันทึกเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา ตามด้วยชาวยุโรปคือ กรีก ดัชท์ อิตาลี ปอร์ตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่ทยอยกันเดินทางเข้ามาหาลู่ทางในการค้าขายและเปิดโรงงานใกล้กับตัวพระนคร เอกสารเหล่านี้ยังหาค้นคว้าได้ตามหอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศต่างๆ ที่กล่าวถึงมาข้างต้น และในเอกสารบางฉบับที่นั้นยังมีการวาดภาพประกอบให้เห็นภูมิทัศน์ของกรุงศรีอยุธยาอย่างชัดเจน

      หนึ่งในเอกสารที่ประเมินค่ามิได้ ที่ยังหลงเหลืออยู่ คือ บันทึกการเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ทั้งสองครั้งของคณะราชทูตฝรั่งเศส คือครั้งที่หนึ่งภายใต้การนำของ ราชทูต มองซิเออร์เดอโชมอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ และครั้งที่สองภายใต้การนำของ มองซิเออร์เดอลาลูแบร์ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยที่คณะราชทูตทั้งสองคณะนี้ได้ถวายพระราชสานส์จาก พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แด่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้พำนักในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี อีกทั้งยังได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังหัวเมืองต่างๆ ของสยาม โดยที่ทางการฝรั่งเศสได้ใช้การมาเยือนทั้งสองครั้งนั้น สอดแนมและบันทึกเรื่องราวของสยามไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่พระราชวงศ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระราชสำนัก วิถีชีวิตของชาวบ้านและชาวกรุง การเมือง ภาษา ศาสนาและความเชื่อ ตลอดไปจนถึงการเพาะปลูกเรือกสวนไร่นา และภูมิประเทศต่างๆ บันทึกและจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศสทั้งสองชุดนี้รวมทั้งบันทึกการเดินทางเข้ามายังสยามของ บาทหลวงตาชาร์ด ในปี พ.ศ. ๒๒๓๒ นั้น ภายหลังได้ถูกรวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในประเทศฝรั่งเศส และยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยอีกด้วย

ภาพที่ 3

(ภาพที่ 3) หนังสือบันทึกจดหมายเหตุการณ์เดินทางทั้งสามฉบับที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น ได้สร้างกระแสนิยมสยาม ขึ้นเป็นอย่างสูงในยุโรป และถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปอีกหลายสิบปี ภาพพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสยามก็ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ดูตัวอย่างของภาพพิมพ์แบบเอนแกรฟวิ่ง ภายใต้ชื่อ Habits of the Siamese ซึ่งเป็นการคัดลอกภาพเก่า จากในหนังสือจดหมายเหตุของคณะทูตฝรั่งเศส มาดัดแปลงเพิ่มเติมรายละเอียดเสียใหม่ โดยมีการเติมรูปของชาวอินเดียเข้าไปในฝั่งซ้ายของภาพและมีฉากหลังเป็นภูมิประเทศเขตร้อน ภาพนี้ถูกสร้างขึ้นโดย นายเอฟการเด้นฃัลป์ เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๓๑๓

ภาพที่ 4
ภาพที่ 2

(ภาพที่ 2) ส่วนภาพพิมพ์แบบเอนเกรฟวิ่ง ที่แสดงให้เห็นตัวอักขระที่ใช้เขียนกันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มาจากบันทึกการมาเยือนกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ของคณะทูตฝรั่งเศสภายใต้การนำของ มองซิเออร์เดอลาลูแบร์ ในภาพนี้มีการบันทึกการออกเสียงของคำภาษาไทย และตัวเลขอย่างไทยด้วยอักษรโรมันอย่างละเอียดถูกต้อง และได้ถูกตีพิมพ์วางขายในราวปี พ.ศ. ๒๒๓๑

About the Author

Share:
Tags: แม่น้ำเจ้าพระยา / Siam / ฉบับที่ 2 / Siamese / Bangkok / กรุงรัตนโกสินทร์ / Siamese Twins / แฝดอินกับจัน / กรุงเทพ / นิตยสารอนุรักษ์ / พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / ชื่นชมอดีต / วัดอรุณ / anurakmagazine / เอนแกรฟวิ่ง / สยาม /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ