(ภาพที่ 5) ภาพที่แสดงให้เห็นถึงการแต่งตัวของชาวสยามยังคงได้รับความนิยมต่อมาอีกเรื่อยๆดังภาพพิมพ์แบบเอ็นแกรฟวิ่งชื่อ Mandarin Siamois ที่สร้างโดยห้องภาพเดอฟลอสรูเชนต์วิคเตอร์ เพื่อสนองพระราชดำริขององค์พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ซึ่งก็ยังเป็นภาพข้าราชการชาวสยามที่คัดลอกมาจากภาพเก่าจากหนังสือของ เดอลาลูแบร์ แต่ได้นำมาปรับเปลี่ยนท่าทางเสียใหม่ และมีการระบายสีให้น่าสนใจมากขึ้น อนึ่งหมวกผ้าทรงสูงแบบสยามที่มีชื่อว่า ลองพอก นั้นในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นสีแดงอย่างที่ฝรั่งได้จินตนาการวาดไว้เพื่อความสวยงามและโดดเด่นของภาพ
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลงอย่างยับเยินโดยข้าศึก พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงสถาปนาศูนย์กลางของรัฐสยามแห่งใหม่ขึ้นที่ บริเวณป้อมปราการเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ธนบุรี และในภายหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้ทรงย้ายพระราชธานีมาอยู่ยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ
และทรงสร้างพระบรมมหาราชวังที่บริเวณย่านค้าขายของชาวจีนเดิม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปอยู่ยังที่ใหม่คือบริเวณย่านสำเพ็งในปัจจุบันพระนครแห่งใหม่เติบโตขึ้นตามลำดับ การค้าขายกับชาติโพ้นทะเลเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆและกรุงเทพก็ได้รับบทบาทเป็นเมืองท่าสำคัญแทนกรุงศรีอยุธยาที่เคยตั้งอยู่เหนือแม่น้ำขึ้นไป แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าไม่มีใครได้วาดภาพเพื่อบันทึกทัศนียภาพของกรุงเทพในยุคต้นเอาไว้ จนกระทั่งการเดินทางมาของคณะราชทูตอังกฤษ จอห์น ครอฟอร์ด (หรือที่ชาวบางกอกเรียกกันจนติดปากว่า ท่านทูตจั่นการาฟัด) เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อมุ่งหวังว่าจะปรับปรุงการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษให้เจริญยิ่งขึ้น
(ภาพที่ 6) ภาพพิมพ์แบบเอนแกรฟวิ่งภายใต้ชื่อว่า View of the city of Bangkok สร้างขึ้นโดยนายเจคล้ากฟิลป์ จากภาพวาดต้นฉบับที่ของ นายจอรช์ฟินเลย์ฃัน หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางมากับคณะราชทูตอังกฤษในครั้งนั้น นับว่าเป็นภาพที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เพราะเป็น ภาพแรกสุดของกรุงเทพฯ ที่ได้มีการวาดขึ้น และได้ถูกตีพิมพ์ลงคู่กับบทความของ ราชทูตจอห์น ครอฟอร์ด ในหนังสือ Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China ของสำนักพิมพ์เฮนรี่โควเบินและริชาร์ดเบ้นทลี่ในประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๒
ในภาพที่กล่าวถึงนี้ผู้ที่วาดน่าจะยืนอยู่ทางฝั่งธนบุรี ไม่ไกลจากพระปรางค์วัดอรุณ และมองข้ามแม่น้ำมายังพระบรมมหาราชวังที่มีพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตั้งเด่นเป็นสง่าในหมู่พระราชมณเฑียร เบื้องหน้าของพระบรมมหาราชวังบริเวณริมตลิ่งจะมีเรือนแพผูกต่อๆ กันไว้เป็นแนวยาว ในแม่น้ำมีเรือสำเภาลำใหญ่ทอดสมออยู่ ซึ่งพอจะอุปมาได้ว่าคือเรือที่คณะราชทูตอังกฤษใช้เดินทางมายังกรุงเทพในครั้งกระนั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นมีเรื่องที่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือกำเนิด แฝดอินกับจัน เด็กหนุ่มสองพี่น้องที่มีร่างติดกันที่ช่วงหน้าอกหรือว่า Siamese Twins ที่ได้กลายมาเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้เรียกคู่แฝดลักษณะเช่นนี้ ในภาพพิมพ์แบบลิโทกราฟบนแผ่นหินที่ตีพิมพ์โดย นายทีเอ็มเบนส์ โดยสำนักพิมพ์ซีอัลมานแดล เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓
(ภาพที่ 7 และ 8) ยังมีภาพพิมพ์แบบเอนแกรฟวิ่งระบายสีที่สวยงามอีกสองภาพในชื่อ Siamese Woman และ Siamese Man ที่สร้างขึ้นโดยนายอีเรดอาร์อาร์ ฃึ่งก็ได้รับการตีพิมพ์ควบคู่ไปกับภาพ View of the city of Bangkok ในหนังสือของท่านทูตจอห์น ครอฟอร์ด ภาพสองภาพที่ว่านี้แสดงให้เห็นถึงการแต่งกายของสามัญชนในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็ยังคงละม้ายคล้ายกับการแต่งกายในสมัยอยุธยาที่มีการใช้ผ้าห่มและผ้านุ่งสำหรับสตรีและการนุ่งผ้าปล่อยชายและเปลือยท่อนอกของบุรุษ
(ภาพที่ 9) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นมีเรื่องที่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือกำเนิด แฝดอินกับจัน เด็กหนุ่มสองพี่น้องที่มีร่างติดกันที่ช่วงหน้าอกหรือว่า Siamese Twins ที่ได้กลายมาเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้เรียกคู่แฝดลักษณะเช่นนี้ ในภาพพิมพ์แบบลิโทกราฟบนแผ่นหินที่ตีพิมพ์โดย นายทีเอ็มเบนส์ โดยสำนักพิมพ์ซีอัลมานแดล เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ แฝดอินจันมีอายุเพียง ๑๘ ปีและต่อมาในภายหลังทั้งคู่ได้ถูกนำไปแสดงตัวที่สหรัฐอเมริกา และได้ตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่ที่นั่นจนชั่วชีวิตของเขาทั้งสอง
(ภาพที่ 10 และ 11) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ องค์พระปรางค์วัดอรุณได้ถูกสร้างสำเร็จลุล่วงไปมากแล้ว และภาพที่ชาวต่างชาติจะได้เห็นเมื่อเวลาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากภาพพิมพ์แบบเอนแกรฟวิ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงองค์พระปรางค์และกลุ่มอาคารต่างๆ ที่รายล้อมอยู่ภายในวัดอรุณ ภาพพิมพ์นี้สร้างขึ้นโดย นายเทย์รอนด์มินิวเอียร์ จากภาพถ่ายของสถานที่จริง
โดยช่างภาพชาวอังกฤษชื่อ นายจอห์น ทอมสัน (ที่จะขอกล่าวถึงในช่วงต่อไปของบทความนี้) เช่นเดียวกับภาพพิมพ์แบบเเอนแกรฟวิ่งอีกภาพ โดย นายอีโบคอร์ท ที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของหอระฆังในวัดอรุณ ทั้งสองภาพนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือชื่อ Le Tour du Monde ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวราวๆปี พ.ศ. ๒๔๐๓