ภาพ/เรื่อง: ส. พรายน้อย

เมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา เทศกาลงานบุญอะไรต่างๆ จึงเกี่ยวเนื่องกับพระเป็นส่วนมาก และเหตุที่คนไทยสมัยโบราณมีอาชีพทำนา งานบุญต่างๆ จึงกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นระยะเวลาที่ชาวนาว่างจากการทำนา มีโอกาสพักผ่อนทำบุญสร้างกุศลตามศรัทธา
การทำบุญสร้างกุศลของคนแต่ก่อนคือ การเข้าวัด ที่ทำเป็นประจำก็คือ ทำบุญตักบาตรพระในวัด กำหนดไว้ชัดเจน ว่าทำในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ พอถึงวันดังกล่าวก็จัดหาอาหารไปที่วัด ไม่ต้องบอกกล่าวอะไรกันอีก เรียกว่าทำบุญวันพระก็เข้าใจกันดี แต่การทำบุญดังกล่าวเป็นการทำบุญตามวัดใกล้บ้าน ไม่มีอะไรเป็นการสนุกเพลิดเพลิน
การทำบุญที่ได้รับความสนุกด้วยคือ เทศกาลงานไหว้พระที่ อยู่ต่างบ้านต่างเมือง หรือที่จัดให้มีปีละครั้งเป็นอย่างแรกเข้าใจว่า จะเป็นงานไหว้พระพุทธบาทจำลอง
พระพุทธบาทจำลองเกิดขึ้นครั้งกรุงสุโขทัย พระยาลิไท (พระยาธรรมิกราช) โปรดให้ไปจำลองมาจากรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ เมืองลังกา (เท่าของจริง) มาประดิษฐานไว้ที่เมืองศรีสัชนาลัยแห่งหนึ่ง และที่ยอดเขาสุมนกุฏ เมืองสุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง และที่อื่นอีก แต่จะมีเทศกาลไหว้พระบาทอย่างไรไม่ทราบกล่าวโดยสรุป การไหว้พระพุทธบาทจำลองคงมีมาแล้วแต่ครั้งสุโขทัย ส่วนพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี เคยได้ยินชาวบ้านเรียกว่า พระบาทใหญ่ เชื่อกันว่าเป็นรอยพระบาทของจริง ไม่ใช่จำลอง
อย่างไรก็ตาม เทศกาลไหว้รอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีเป็นเหตุให้เกิดมีงานไหว้รอบพระพุทธบาทจำลองขึ้นในกรุงเทพฯ
ที่คลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ มีวัดโบราณชื่อวัดบางหว้าน้อย ต่อมากรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม” วัดนี้มีวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพทธบาทจำลองต่อมาวัดชำรุดทรุดโทรมลง ในครั้งนั้นนั้นหม่อมราชวงศ์พระส่านบวชอยู่ที่วัดนี้ มีความคิดที่จะทำนุบำรุงวัด จึงคิดอ่านซ่อมแซม มณฑปและภูเขาก่อด้วยอิฐปูน (บางที่จะเป็นเขามอที่นิยมสร้างกันในสมัยหนึ่ง) กับรอยพระบาทที่มีอยู่เดิมก็ทำให้เรียบร้อยและสวยงามขึ้น

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็ชักชวนชาวบ้านให้มาตั้งร้านขายของเหมือนอย่างพวกชาวป้านำของมาขายที่พระพุทธบาทสระบุรี โดยสมมุติสถานที่ต่างๆ ให้คล้ายกับการไปพระพุทธบาทใหญ่ เช่น สมมุติท่าเรือจ้างวัดอรุณราชวราราม เป็นท่าเรือพระพุทธบาท ถนนที่ตัดทำใหมในเวลานั้นก็สมมุติว่าเป็นถนถนไปพระบ่าท ศาลเจ้าอะไรต่างๆ ที่มีอยู่กลางทางก็ต่างว่าเป็นศาลเจ้าเขาตก คือสมมติให้มีชื่อแบบเดียวกับไปพระพุทธบาทจริงๆ
งานไหว้พระบาทจำลอง วัดอมรินทรารามครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนสาม พ.ศ. ๒๔๑๖ ครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นงานครึกครื้นมาก เพราะตรงกับงานไหว้พระบาทที่สระบุรี คนที่มีศรัทธาแต่ไปพระบาทใหญ่ไม่ได้ก็พากันมาเที่ยวพระบาทเล็กแทน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์เล่าถึงงานไหว้พระบาทวัดอมรินทรารามไว้ตอนหนึ่งว่า
“พอถึงกลางเดือนสาม ลานวัดที่เคยเปลี่ยวก็แปลงรูปเป็นร้านเล็กๆ อยู่เต็มไป ขายตั้งแต่ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาผ้าผ่อนเครื่องใช้สอยต่างๆ ตลอดจนของใช้ของกินแทบถ้วนทุกอย่าง..พวกมาออกร้านขายของก็ได้กำไรไม่รู้ว่าวันละกี่บาท ของถูกก็ขายได้แพงของไม่ควรต้องการก็ขายได้ พวกพิณ พาทย์ แตรสังข์ พวกขาย ธูปเทียนและทองคำเปลว พวกคนขอทานทั้งปวงก็ได้พบอดิเรก ลาภอันใหญ่ ยังพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นหรือวัดอื่นๆ ที่ได้รับนิมนต์เทศน์มหาชาติและคาถาพัน ชั้นต่ำที่สุดเจ้านาคที่โกนหัวคิ้ว นั่งเรี่ยไรจะบวชอยู่ตามริมทาง ก็ได้รับบริจาคมากและง่ายกว่าจะหาได้ที่อื่น”
การจัดงานไหว้พระบาทจำลองของหม่อมราชวงศ์พระส่าน (ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระครูวิเศษศิลคุณ) ได้รับความนิยมมีคนไปไหว้กันมาก ได้ผลประโยชน์นำไปบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรดทรุดโทรมให้ดีขึ้น ทำให้วัดอื่นๆ เห็นช่องทางคิดเอาอย่างจัดงานไหว้พระบาทขึ้นบ้าง
ในเวลานั้นที่วัดจักรวรรดิราชาวาส มีพระรูปหนึ่งชื่อ มามีตำแหน่งเป็นปลัด ฐานานุกรมของเจ้าอาวาส พระปลัดมามีความรู้ในทางช่าง ได้เป็นหัวหน้าสร้างพระพุทธบาทจำลองขึ้น แล้วนัดให้ประชาชนมานมัสการในเวลากลางเดือนสามเช่นเดียวกับวัดอมรินทราราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเพราะวัดอยู่ใกล้พระราชวัง แล้วมีพระราชศรัทธาโปรดให้สร้างมณฑปน้อยสวมรอยพระพุทธบาทจำลองเป็นของพระราชทานช่วย ทำให้ดูมีสง่าราศียิ่งขึ้น
พระปลัดมารูปนี้ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระพุฒาจารย์ มีฝีมือในการหล่อพระพุทธรูปและซ่อมพระพุทธรูป มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี เพราะมีเหรียญที่ระลึกเป็นรูปรอยพระพุทธบาทและรูปของท่าน แต่ใครจะทำขึ้นไม่ทราบงานไหว้พระพุทธบาทจำลองที่วัดจักรวรรดิราชาวาสตามเสียงคนแต่ก่อนเล่าว่าสนุกนัก เพราะมีของเล่นทำนองเสี่ยงโชคล่อใจคน เช่น เล่นโยนห่วง คือจัดของกองไว้เป็นระยะๆ ของดีอยู่ไกลของไม่ดีอยู่ใกล้ คนซื้อห่วงไปโยน ถ้าห่วงครอบของสิ่งใดก็ได้ของสิ่งนั้นไป การพนันอย่างนี้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลก็เปิดบ่อนกาสิโนให้เล่นกันแพร่หลาย

ของที่วางขายในวัดจักรรรดิราชาวาสก็คือ ของที่วางขายในสำเพ็งนั่นเอง เพราะสำเพ็งอยู่ใกล้ๆ มีพวกเครื่องทองเหลือง มีด ทัพพี หวีกระเป็นสินค้าญี่ปุ่น ที่เป็นศิลปหัตกรรมแบบไทยๆก็พวกดินปั้นเป็นรูปผลไม้ทาสีให้คล้ายของจริง ตามหนังสือนิราศของพระพินิจหัตถการบันทึกไว้เมื่อ ๘๐ กว่าปีมาแล้วว่า ของเล่น ที่นิยมกันมากอย่างหนึ่งก็คือ เรือนจำลอง ตามกลอนว่า
ที่ร้านหนึ่งทำเรือนเล็กของเด็กเล่น
เขาทำเห็นจริงจังยังชั่วอยู่
มีหลังคาฝากระดานบานประตู
น่าเอ็นดูฝีมือดีนี้กระไร
สำหรับตั้งตุกกระตาดูน่ารัก
ไม่เล็กนักบางทีก็มีใหญ่
เป็นเครื่องตั้งดูเล่นให้เย็นใจ
คนเข้าไปซื้อหาราคาแพง

เรือนตุ๊กตาดังกล่าวเป็นอย่างไรไม่เคยเห็น แต่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีอยู่แบบหนึ่ง จำลองให้เห็นเรือนครึ่งซีก มิโต๊ะเตียงขนาดเล็ก จัดเป็นห้องดูน่ารักดี จำได้ว่าเจ้าจอมเรียม ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต) และท่านผู้หญิงตลับ เป็นผู้ยกให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่พอหาดูได้ในเวลานี้
อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ละครลิง น่าจะปืนการแสดงในงานวัดมาก่อน เพราะคงไม่มีใครจ้างไปแสดงตามบ้านอย่างแน่นอนเป็นการจับเอาลิงมาฝึกแสดงให้ดูแปลกๆ และปลงอนิจจังไปด้วยงานวัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖๖ ก็มีละครลิง

“ละครลิงโหมโรงเสียงโกร่งครื้น
ฉันหยุดยืนยืนคิดดังจิตหมาย
ฟังเสียงบทคอแหบร้องแทบตาย
แต่ข้างฝ่ายลิงนั้นมันไม่รำ
ก็เฆี่ยนลิงยิ่งตึจนชี้แตก
มีแปลกๆ น่าชมดูคมขำ
ก็เฆี่ยนตีตีกันจนมันรำ
เป็นประจำมิได้ค้างสตางค์แดง”
นอกจากละครลิงก็มีลิเก ลำตัด ซึ่งเป็นการแสดงที่นิยมมีทั่วๆ ไปในสมัยนั้น ส่วนละครลิงนั้นต่อมาก็ไม่ได้แสดงเฉพาะ
ในงานวัดเท่านั้น งานปีใหม่ งานฉลองรัฐธรรมนูญก็มี วัดในกรุงเทพฯ ที่จัดให้มีงานไหว้พระบาทจำลองยังมีอีก ๒ วัด
คือ วัตราชนัดดากับวัดราชดฤห์ หลายปีมาแล้วผู้เขียนเคยไปดู”พระฉาย” ที่วัดราชนัดดา (อยู่นอกกำแพงวัดด้านใต้) อยู่ในซุ้มก่ออิฐถือปูน ยังเห็นพระฉายสวยงามดีอยู่ ในปัจจุบันไม่ได้ผ่านไปทางนั้น จะยังอยู่ดีหรืออย่างไรไม่ทราบ
พระฉายเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี คนไปใหวัพระบาทจะต้องไปไหว้พระฉายด้วย เมื่อมีงานไหว้พระบาทจำลองในกรุงเทพฯ จึงต้องมีพระฉายด้วย ทางวัดน่าจะเก็บรักษาไว้เป็นตำนาน
ผู้เขียนอยู่ในวัยรุ่นใกล้ตาย ได้เห็นทั้งงานเทศกาลและงานเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ มามากพอสมควร ถ้าจะมีใครถามว่าชอบงานอะไรมากที่สุด ก็ตอบได้ทันทีว่าชอบงานไหว้พระตามวัดมากกว่างานอื่นๆ เพราะงานไหว้พระ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญหรือไหว้พระบาทตามที่กล่าวมา ประชาชนมาด้วยศรัทธามาเพื่อหวังบุญหวังกุศล จิตใจย่อมเบิกบาน อิ่มเอิบ เป็นสุข และผู้คนสมัยก่อนเมื่อเข้าวัด เขาก็รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันคงจะหาบรรยากาศอย่างนั้นไม่ได้อีกแล้ว