“แม่น้ำโขง” ไม่เพียงหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และสัตว์ แต่ยังหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณในฐานะผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรม และตำนานต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะวรรณกรรมพุทธศาสนาอย่าง “อุรังคธาตุนิทาน”
อุรังคธาตุนิทานเป็นตำนานที่ผูกโยงกับการสร้างพระธาตุพนม ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ทั้งฝั่งราชอาณาจักรไทย และ ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมถึงคุณค่าในการศึกษาเรื่องทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีในการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และประเทศเพื่อนบ้านอยู่ด้วย
อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร
เนื้อหาของนิทานปรัมปรานี้แบ่งเป็นหลายบั้น (บท) เล่าถึงตำนานพญานาค ตำนานอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๗ ในอดีต (เมืองศรีโคตรบูร เมืองหนองหานหลวง เมืองหนองหานน้อย เมืองสาเกต เมืองกุรุทนคร เมืองจุลณี และเมืองอินทปัฐ) ตำนานนางอุษา-ท้าวบารส พุทธทำนาย รอยพระพุทธบาท การกลับชาติมาเกิดของพระยาผู้ครองแต่ละเมือง การสร้างพระธาตุพนม การปกปักษ์รักษาโดยเทวดา และตำนานการสร้างกรุงเวียงจันทน์
แต่บั้นที่ทำให้ฉันติดอกติดใจเป็นอันมาก เห็นจะเป็นบทที่เรียกว่า “บั้นฮอยพระบาท” ซึ่งกล่าวถึงการเสด็จมาเยือนดินแดนลุ่มน้ำโขงของพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ ซึ่งไม่ได้มาแบบธรรมดาๆ นะ แต่เป็นการเสด็จมาทางอากาศ!
จากนิทานมุขปาฐะที่บอกเล่าปากต่อปาก จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงได้มีการบันทึกจดจารลงในใบลาน และกลายเป็นลายแทงขุมทรัพย์อันเย้ายวนที่ทำให้หัวใจของฉันเต้นแรง จนต้องเก็บสัมภาระออกพเนจรอีกครั้งหนึ่ง
รอยพระพุทธบาทเวินปลา
“แกระดับน้ำโขงลดต่ำลงมาก คาดว่าเดือนหน้าก็จะจัดงานบวงสรวงรอยพระพุทธบาทได้” หลังวางหูโทรศัพท์จากเพื่อนสาวที่ส่งข่าวเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขง การเดินทางครั้งใหม่ของฉันก็เริ่มต้นขึ้นในฤดูร้อนนี้เอง โดยมีหมุดหมายอยู่ที่ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ฉันเลือกใช้เส้นทางเก่าแก่ข้ามเทือกเขาภูพาน กระทั่งผ่านโค้งปิ้งงูมาได้จึงเริ่มหายใจได้ทั่วท้องตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงร่องรอยพระเจ้าเหยียบโลก ที่บริเวณนี้ว่า “มีพญาปลาตัวหนึ่ง ชาติก่อนเป็นภิกษุในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า ได้ล่วงพระวินัยโดยเด็ดเอาใบไม้มาตักน้ำกิน ตอนใกล้ตายรู้สึกกินแหนงแคลงใจ เมื่อตายแล้วจึงมาเกิดเป็นพญาปลาที่ตรงนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกพระอานนท์ว่า พญาปลานี้มีอายุยาวนาน ๑ กัปป์ จนเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรย์มาโปรดสัตว์ จึงไปเกิดเป็นลูกคนแล้วออกบวชในสำนักพระเมตไตรย์ พญาปลาได้ยินก็มีความยินดี คิดอยากได้รอยพระบาทของพระพุทธเจ้า มห่บุรุษจึงอธิษฐานรอยพระบาทไว้โขดหินในน้ำ คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่า “พระพุทธบาทเวินปลา” มาจนถึงทุกวันนี้
หมู่บ้านเวินพระบาทเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ยังดำเนินไปตามวิถีชีวิตพื้นบ้าน ภายในวัดริมโขงนั้นเงียบสงัดราวไร้สิ่งมีชีวิต หากไม่เห็นภิกษุรูปหนึ่งนั่งทำสมาธิอยู่ริมตลิ่งเสียก่อนคงคิดว่าเป็นวัดร้าง ที่ด้านล่างของตลิ่งนั้นมีโขดหินประดับทุงพัดพลิ้วตามแรงลมแม่น้ำ ฉันรู้โดยสัญชาติญาณว่า “นั่นล่ะใช่แล้ว โขดหินในตำนาน พระธาตุหัวอก”
เมื่อเดินไต่ราวไม้ไผ่ลงไปสักการะบริโภคเจดีย์ อีกไม่กี่ก้าวจะถึงรอยพระพุทธบาทอยู่แล้ว จู่ๆ ระดับน้ำก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนท่วมเนินทราย และปริ่มสะพานในเวลาไม่ถึงนาที คงเป็นน้ำที่ทางการจีนปล่อยจากเขื่อนแน่ ในระยะเวลา ๓ ปีมานี้ น้ำท่วมรอยพระพุทธบาทมาโดยตลอด หากพลาดโอกาสไปไม่รู้ว่าต้องรออีกเมื่อไรจึงจะมีโอกาสได้เห็นอีก
“จะเอาไงดี” ฉันว้าวุ่นใจกลัวอันตรายก็กลัว แต่สิ่งที่รอมาถึง ๓ ปี ก็อยู่แค่เอื้อมมือนี่เอง ในใจนึกถึงเทพยดาพญานาคให้มาช่วยเนรมิตให้น้ำลดที อย่างในละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วก็ได้แต่ถอนใจ เพราะในชีวิตจริงคงเป็นไปไม่ได้
พลันมีเรือน้อยลำหนึ่งลอยลำผ่านมา อ้ายเจ้าของเรือยินดีพาฉันพายอ้อมโขดหินไปดูรอยพระพุทธบาทโดยไม่ต้องการค่าตอบแทน พร้อมทั้งนำทางในการคลำร่องรอยโค้งเว้าของหินที่ใต้น้ำ เมื่อภาพนิ้วก้อย นิ้วนาง นิ้วกลาง นิ้วโป้ง ปรากฏชัดขึ้นในหัว หัวใจที่เต้นอย่างเจียมตัวบัดนี้มันเต้นระรัวไม่เป็นส่ำ เมื่อยกมือไหว้ก็ปรารถในใจว่าอยากจะให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึง ๕,๐๐๐ วัสสา
รอยพระพุทธบาทเชิงชุม
จากฤดูร้อนแดดยิบตาล่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนธันวาคม ฉันติดตามร่องรอยจากเอกสารเก่าทั้งบันทึกต่างๆ และหนังสือผูกใบลานจนมั่นใจว่า รอยพระเจ้าเหยียบโลกแห่งที่ ๒ อยู่ที่เมืองสกลนครนี่เอง
เมืองสกลนคร ชื่อแต่โบราณคือ “หนองหานหลวง” ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับที่อีสานได้เล่าถึงการประทับรอยพระพุทธบาทที่นี่ว่า
“ที่เมืองหนองหานหลวงมีพระยาสุวรรณพิงคารเป็นผู้ปกครอง เมื่อพระองค์รู้ข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า จึงอาราธนานิมนต์ไปฉันภัตาหารที่ปราสาทของตน หลังฉันเสร็จ พระพุทธองค์ก็เทศนาสั่งสอนพระยาผู้ครองเมืองและคนทั้งหลาย จากนั้นจึงเสด็จลงจากปราสาทและทำปาฏิหาริย์ให้มีดวงแก้ว ๓ ดวง ลอยออกมาเป็นลำดับ พระผู้มีพระภาคได้อธิบายแก่พระยาสุวรรณภิงคารว่า
“ที่ตรงนี้เป็นที่ประชุมรอยพระบาทของอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากุกกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคม และพระพุทธเจ้ากัสสปะ แต่ละพระองค์เมื่อมาฉันภัตตาหารที่ภูกำพร้าแล้วจึงเสด็จมาไว้รอยพระบาทที่นี่เป็นประเพณี และท้ายที่สุดแก้วดวงที่ ๔ ที่ลอยออกมาก็เป็นของพระโคดมพุทธเจ้าเอง
“หลังจากประทับรอยพระพุทธบาทใส่แผ่นหินแล้ว จึงได้ทำนายเหตุการณ์หลังจากที่ทรงปรินิพพานไปแล้วว่า สถานที่ใดพระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับรอยพระพุทธบาทไว้ สถานที่นั้นจะเป็นที่ตั้งบ้านเมือง รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา รวมถึงเรื่องราวของเมืองหนองหานหลวงและหนองหานน้อยด้วย
“พระยาสุวรรณพิงคารได้ฟังก็เลื่อมใส ถึงขั้นจะตัดเอาพระเศียรของพระองค์บูชารอยพระพุทธบาท แต่พระมเหสีนารายณ์เจงเวงได้ทัดทานไว้อย่างมีเหตุผลว่า หากมหาราชยังมีชีวิตอยู่ ยังจะได้ทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง พระยาแห่งเมืองหนองหานหลวงได้ฟังก็ได้สติ จึงปลดกระโจมหัวของตนบูชารอยพระพุทธบาท แล้วสร้างเจดีย์ครอบไว้แทน…”
และเนื่องจากเป็นที่ประชุมรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์สถานที่นี้จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุเชิงชุม”
พระธาตุเชิงชุมเดิมเป็นปราสาทขอมอายุราวพุทธศตรรษที่ ๑๖-๑๘ ภายหลังได้ซ่อมแซมเพิ่มเติมเป็นเรือนธาตุแบบศิลปะล้านช้างราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ มีซุ้มประตูยอดทรงปราสาท ทรงสูงแนบติดกับผนังเรือนธาตุขึ้นไป ต่อด้วยชั้นซ้อน ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ยืดสูงรองรับองค์บัวเหลี่ยมขนาดเล็กและยอดสุด
ปรกติแล้วฉันเป็นพุทธศาสนิกชนที่ค่อนข้างห่างเหินวัดวา แต่ในยามนี้เมื่อทราบว่าที่ด้านหลังประตูศิลานั้นเป็นที่ชุมนุมรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าถึง ๔ พระองค์ จึงยอบตัวลงกราบด้วยความรู้สึกศรัทธาและปีติที่ได้ใกล้ชิดบริโภคบริโภคเจดีย์ พลางจินตนาการถึงรอยพระพุทธบาทภายในพระปรางค์ว่าจะเป็นเช่นไร จะเป็นเหมือนรอยเท้าของคนทั่วๆ ไปหรือไม่
๒ ปี ผ่านไป ฉันได้มีโอกาสกลับไปกราบรอยประชุมพระพุทธบาทที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อีกครั้ง และครั้งนี้พิเศษมากๆ เพราะทางวัดได้เปิดประตูหินออกให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นภายในองค์พระธาตุ
แต่ป้าย “ห้ามแม่ยิงเข้า” ที่ติดไว้ด้านหน้าประตูทำให้เป็นอีกครั้งที่ฉันนึกหงุดหงุดกับความเป็นผู้หญิงของตนเองไม่ได้ แม้จะเข้าใจในธรรมเนียมปฏิบัติก็ตามที ความที่อยากจะเข้าไปเห็นรอยพระพุทธบาทด้วยตาเนื้อของตนเอง และอ่านจารึกโบราณที่อยู่ในนั้น แต่ทำไม่ได้มันช่างเป็นความอึดอัดขัดข้องใจเหมือนติดอยู่ในคุกใต้ดินที่กรีดร้องอย่างไรก็ไม่มีใครได้ยิน
“ช่วยไหมคุณโยม” เสียงที่ได้ยินด้านหลังราวเสียงสวรรค์จริงๆ
พระอาจารย์ผู้มีน้ำใจผลุบเข้าไปในห้องครรภคฤหะเพียงชั่วครู่ก็ออกมา พร้อมกับถามว่าภาพที่ถ่ายนั้นใช้ได้หรือไม่ ฉันก้มลงตรวจสอบภาพจากหน้าจอกล้องถ่ายรูปมิลเลอร์เลสตัวเล็กคู่ใจ ภาพคุณพระช่วยไม่เพียงแต่ใช้ได้ ยังทำให้เกิดความรู้สึกปีติอยากจะสืบทอดพระศาสนาให้ยืนยาวถึง ๕๐๐๐ วัสสา ดังคำทำนาย และปรารถนาจะได้กลับมากราบรอยประชุมพระพุทธบาทอีกครั้งในยุคสมัยของพระศรีอาริยเมตไตรย์อีกด้วย
รอยพระพุทธบาทบัวบก
ไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสพญานาคเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลจากแรงขับดันของละครฮิต ทุกคนที่แสวงหาโชคลาภล้วนมุ่งหน้าไปยังคำชะโนด สถานที่ที่ได้เชื่อว่าเป็นรอยต่อของโลกมนุษย์และเมืองบาดาล
ในขณะที่ดินแดนพรหมประกายโลกฝูงชนชนล้นหลามจนอัศจรรย์ แต่ฉันกลับมุ่งหน้าไปยังทิศทางตรงกันข้ามชนิดที่เรียกว่าคนละมุมเมืองอุดรธานีเลยทีเดียว ตามลายแทง…เอ่อ…ก็อ้างอิงทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนั่นละ ระบุว่าบริเวณที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานพวกนาคอันธพาลอยู่ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก หมู่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
“ไฟว์ฮันเรด มิเตอร์ เทิอร์นเลฟ…เทิร์นไรท์…เทิร์นเลฟ” ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนวันนี้หรือเปล่า เจ้า GPS เพื่อนยากสุดท้ายจึงพาวนกลับมาที่เดิม นึกถึงคำอาจารย์ที่เคยเตือนว่า ใช้เทคโนโลยีให้น้อย ใช้ความเป็นมนุษย์ให้มาก จึงหวนกลับสู่วิธีพื้นฐาน
“ตรงไปเรื่อยๆ ถึงทางแยกให้เลี้ยวขวา ถึงโฮงหมอให้เลี้ยวซ้ายแล้วตรงไปเรื่อยๆ เลย” แม่ใหญ่ที่แผงขายเห็ดป่าเคยไปนมัสการรอยพระพุทธบาทมาแล้วจึงบอกทางได้ไม่ติดขัด
ออกจากตัวเมืองได้ก็ขับรถยิงยาวโดยไม่มีทางต้องเลี้ยว มีป้ายบอกทางเป็นระยะอย่างไม่ต้องกลัวหลงทาง ผ่านลำห้วยหลายแห่งซึ่งเป็นสาขาที่จะไหลไปลงแม่น้ำโขงอย่างห้วยน้ำฟ้า อาจเป็นเพราะช่วงนี้ฝนตกติดต่อกันหลายวัน น้ำจึงกัดเซาะคอสะพานเสียง่อกแง่ก จากตรงนี้ก็เริ่มเข้าสู่เขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแล้ว
เลยทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นไปอีกไม่ไกลก็ถึงวัดพระพุทธบาทบัวบก เมื่อเดินถึงจุดสูงสุดของเนินดิน พระธาตุสีชมพูพาสเทลอ่อนหวานก็ปรากฏขึ้นแก่สายตา พระธาตุองค์นี้ตามประวัติเล่าว่า เดิมเป็นเพียงอูบมุง (อุโมงค์) ขนาดเล็กสร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๓ พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ได้ธุดงค์มาพบจึงชักชวนชาวบ้านสร้างพระธาตุครอบใหม่ จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงแล้วเสร็จ
องค์พระธาตุที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทนี้มีลักษณะแบบศิลปกรรมล้านช้าง ส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยมประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบจากในรอยพระพุทธบาทเดิม ส่วนฐานล่างก่อเป็นห้องสามารถเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้ ที่ตั้งชื่อว่า “รอยพระพุทธบาทบัวบก” อาจเป็นเมื่อตอนที่พบนั้นมีต้นบัวบกอยู่เยอะ หรือ อาจจะเพี้ยนมาจากภาษาอีสานคำว่า “บ่บก” ที่หมายถึง “ไม่แห้งแล้ง” ก็เป็นได้
ตามตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงที่มาของรอยพระพุทธบาทนี้ว่า
“เมื่อพระพุทธเจ้าสถิตย์อยู่ภูกูเวียนพอสมควรก็เปล่งรัศมีไปยังเมืองนาค สุวรรณนาคคิดว่าถูกท้าทายจึงออกมาแสดงแสนยานุภาพทั้งเป่ามนต์ให้เป็นควันพิษ ทั้งรุมกันพ่นเปลวไฟใส่มหาบุรุษ แต่ก็หาทำอันตรายต่อผู้มีพระภาคได้ไม่
“เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นทางอากาศ ก็เนรมิตเป็นหัวนาคขาดตกลงสู่พื้นดิน ทำให้เหล่านาคนั้นหวาดกลัว มหาบุรุษจึงแผ่เมตตาพรหมวิหารแก่นาคทั้งหลายแล้วตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงบรรเทาเสียยังพยาธิตุ่มฝีอันมีอยู่ในหัวใจของท่านอันได้แก่ความโกธมาน อันเกิดในหัวใจของท่านนั้นเทอญ เฮาตถาคตจักใส่ยาให้หายพยาธิตุ่มฝี
“เมื่อนาคทั้งหลายได้ยินดังนั้นก็มีใจชื่นชมยินดี จึงพร้อมกันเข้ามากราบแทบพระบาท พระพุทธองค์จึงสั่งสอนให้เหล่านาคตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ นาคทั้งหลายก็ขอรอยพระบาทไว้เป็นที่เคารพ พระพุทธเจ้าก็เหยียบไว้ในแผ่นหินใกล้กับสุวรรณนาคคือที่ภูกูเวียน”
ภายในห้องนมัสการรอยพระพุทธบาท ฉันขมวดคิ้วมุ่นด้วยความเสียดายที่ได้มีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองทับของจริงไว้ แต่เมื่อคิดเสียว่าได้กราบทั้งบริโภคเจดีย์และอุเทสิกะเจดีย์ไปในเวลาเดียวกัน