Monday, October 14, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ช็อกโกแลตสื่อรัก

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 64
เรื่อง: ศิถี สาหัตถิกะ
ภาพ: shutterstock

นี่คือเรื่องราวความหวานจากช็อกโกแลต ที่ส่งสารไปกระตุ้นให้หัวใจหวานหวามมานานนับพันปี

ผู้โปรดปรานช็อกโกแลตส่วนใหญ่รู้ดีว่าการกินช็อกโกแลตมีโอกาสที่จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่กลิ่นอันหอมหวาน และรสชาติที่ชวนปลื้มของช็อกโกแลต ก็ยากที่จะทำให้ใครๆ หักใจลง

ช็อกโกแลตเป็นผลผลิตที่ได้จากเมล็ดของต้นคาเคา (Cacao) ในป่าร้อนชื้นของทวีปอเมริกา ถูกค้นพบมาตั้งแต่สองพันปีที่แล้ว ตามประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ ชนกลุ่มแรกที่รู้จักทำช็อกโกแลตอยู่ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง เป็นกลุ่มชนชาวมายาและชาวแอซเท็กแห่งอารยธรรมเมโสอเมริกา พวกเขาเอาเมล็ดคาเคามาบดแล้วผสมกับเครื่องปรุงหลายชนิดเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มซึ่งให้รสขมเฝื่อน เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีการปลูกอ้อยเพื่อนำมาทำเป็นน้ำตาล

กาลเวลานั้น ช็อกโกแลตยังมีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีทางศาสนาและสังคมอีกด้วย เล่ากันว่าคนมายายุคคลาสสิกชอบดื่มช็อกโกแลตในวาระพิเศษ ขณะที่บรรดาชนชั้นสูงนิยมดื่มกันเป็นกิจวัตร สำหรับชาวแอซเท็ก มีเฉพาะผู้ปกครองระดับสูง พระ ทหารยศสูง และพ่อค้าที่มีหน้ามีตาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ลิ้มรสเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์นี้ ช็อกโกแลตยังมีบทบาทสำคัญในพิธีของราชวงศ์และศาสนา เนื่องจากพระใช้เมล็ดคาเคาเป็นเครื่องสักการะบูชา และนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อดื่มในพิธีสำคัญๆ

สเปนเป็นประเทศแรกในยุโรปที่รู้จักกับช็อกโกแลต เมื่อครั้งที่ทำสงครามมีชัยเหนือชาวแอซเท็ก ทหารชาวสเปนได้นำเอาช็อกโกแลตกลับประเทศของตนด้วย ทว่าค่าที่ไม่ใช่ของหาง่ายดาษดื่น จึงมีก็แต่ชาวสเปนผู้มั่งคั่งและบาทหลวงเท่านั้นที่หาซื้อมาดื่มได้ นั่นนับเป็นการเปิดฉากให้ช็อกโกแลตเข้ามาสู่ดินแดนยุโรป และกระจายความนิยมไปทั่วทุกหนแห่งในโลก

แต่ช็อกโกแลตกลายมาเป็นของขวัญที่เป็นเสมือนคำบอกรักได้อย่างไรนั้น มีเรื่องราวเรื่องเล่าต่างกันไป

บ้างก็ว่าเพราะช็อกโกแลตมาจากต้น “Theobroma Cacao” ซึ่งในภาษากรีกแปลว่า “อาหารสำหรับเทพเจ้า”

ผู้คนในสมัยก่อนจึงมองว่าถ้ามันดีพอสำหรับพระเจ้า มันก็จะต้องดีสำหรับคนที่ฉันรักเช่นกัน

ในอีกเรื่องเล่าที่มีมาเนิ่นนานนั้น ว่ากันว่าในยุคโรมันช่วงศตวรรษที่ ๓ จักรพรรดิคลอดิอุสที่ ๒ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ชายชาวโรมันสมรส เพราะต้องการเกณฑ์ผู้ชายไปรบต่อสู้ข้าศึกโดยที่ไม่ต้องมีห่วงกังวลใดๆ ถึงขนาดใครฝ่าฝืนจะมีโทษประหารชีวิตเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นพลังใดๆ ก็มิอาจต้านทานพลังแห่งรักได้ มีชายหญิงหลายคู่ลักลอบแอบจัดพิธีสมรสกันโดยมีนักบุญที่ชื่อว่า “วาเลนไทน์” ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงานให้ ต่อมาภายหลังจักรพรรดิคลอดิอุสที่ ๒ ทราบข่าว จึงได้สั่งประหารชีวิตนักบุญวาเลนไทน์ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ (จึงเป็นที่มาของวันระลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ก่อนพัฒนามาเป็นวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรักนั่นเอง) ในยุคนั้นความรักของชายหญิงไม่อาจทำกันได้โดยเปิดเผย จึงนิยมมอบของขวัญฝากไปเพื่อเป็นสิ่งแทนความหมายในใจ และสิ่งที่นิยมมอบให้กันมากก็คือช็อกโกแลต เนื่องจากเป็นของมีค่า หายาก และมีราคา

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ช็อกโกแลตยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ มิตรภาพ และสันติภาพ นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนให้บทบาทของช็อกโกแลตมาเกี่ยวเนื่องกันกับความรัก นอกจากนี้ในบางสมมติฐาน มองว่าช็อกโกแลตนั้นจัดเป็น “ยาโป๊ว” แบบฉบับที่ตะวันตก เรื่องนี้เล่ากันมาว่า จิอาโคโม คาสซาโนวา (๑๗๒๕-๑๗๙๕) นักรักชื่อกระฉ่อนโลก กินช็อกโกแลตทุกครั้งก่อนขึ้นเตียงกับบรรดาสาวๆ ของเขา และเพิ่มเติมด้วยตำนานจากสเปนที่บอกต่อๆ กันมาว่า มองเตชูมา นักรบสเปนผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็มักจะดื่มช็อกโกแลตเป็นประจำเสมอเพื่อกระตุ้นอารมณ์รัก ก่อนจะแวะไปหาบรรดาสาวๆ ของเขาในยามค่ำคืน เรื่องเล่าทำนองนี้ทำให้คนจำนวนมากเชื่อกันว่า ช็อกโกแลตเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์วาบหวาม ทว่าในปัจจุบันผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เผยให้เห็นแล้วว่า ช็อกโกแลตไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศใดๆ เลย

เรื่องเล่าที่น่าจะเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดจึงน่าจะมาจากเรื่องราวทางธุรกิจ

ก่อนหน้านั้นช็อกโกแลตเป็นของอร่อยทว่ามีราคาแพง จึงทำให้มีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะสามารถลิ้มลองช็อกโกแลตได้ จนมาในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๐๐ ที่ประเทศอังกฤษ ตระกูล Cadbury สามารถผลิตช็อกโกแลตที่มีรสชาติอร่อยในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึงได้ ริชาร์ด แคดบูรี ได้คิดแผนการตลาดอย่างชาญฉลาดด้วยการออกแบบกล่องบรรจุช็อกโกแลตเป็นรูปหัวใจ ตกแต่งด้วยกามเทพและดอกกุหลาบเพื่อแสดงถึงความโรแมนติก ทำให้ทั้งบรรจุภัณฑ์และรสชาติของช็อกโกแลต Cadbury ในยุคนั้นครองใจชาวอังกฤษได้ไปทั่ว ช็อกโกแลตแบรนด์ Cadbury ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และด้วยไอเดียอันบรรเจิดนี้จึงได้ทำให้ช็อกโกแลตกลายเป็นของขวัญที่นิยมมอบให้แก่คนรักในวันวาเลนไทน์

นอกจากฝั่งยุโรป ฝั่งอเมริกาก็มีเรื่องราวช็อกโกแลตสื่อรักเฉกเช่นกัน เมื่อมิลตัน เฮอร์ชีย์ ซึ่งมีธุรกิจผลิตคาราเมลขาย ได้เปลี่ยนมาทำช็อกโกแลต และในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ เขาก็ได้ออกช็อกโกแลตที่ภายหลังรู้จักกันไปทั่วโลกในชื่อว่า Hershey’s Kisses ช็อกโกแลตรูปหยดน้ำที่ทำให้นึกถึงรอยจุมพิตเล็กๆ และทำให้ช็อกโกแลตถูกดึงเข้ามาพัวพันกับความรักอย่างเปิดเผย

การกินช็อกโกแลตอาจจะไม่ได้ทำให้เรารู้สึกรักใครมากขึ้น แต่เวลากินช็อกโกแลตแล้วจะมีสารที่ไปกระตุ้นสมองให้หลั่งเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา ทำให้เรารู้สึกสบายใจ คลายเครียด

และก็คงเพราะเหตุนี้ จึงทำให้แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลแห่งความรัก ช็อกโกแลตก็ไม่เคยคลายพลังดึงดูดให้เราอยากจะลิ้มความหอมหวานทุกครั้งไป

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://damecacao.com/why-chocolate-love/
https://www.santabarbarachocolate.com/blog/why-chocolate-on-valentines-day/
https://chocolatetsucre.com/how-chocolates-became-a-symbol-of-love/
http://www.anatomy.dent.chula.ac.th/choco.html

About the Author

Share:
Tags: อาหาร / food / ฉบับที่ 64 / ช็อกโกแลต / ของหวาน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ