ประเทศอินเดียเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาถือกำเนิด ในอดีตนั้นศาสนาพราหมณ์ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนแล้ว ภายหลังเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและได้ประกาศคำสอน ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่าพระพุทธศาสนาและพระองค์ได้รับการถวายนามว่าพระพุทธเจ้า ลักษณะคำสอนของพุทธศาสนาเป็นแบบอเทวนิยม มีแนวคิดและปรัชญาเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อความพ้นทุกข์เป็นสำคัญ ทำให้พระพุทธศาสนาโดดเด่นในสังคมอินเดียสมัยนั้น
พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิราวพุทธศตวรรษที่ ๓ หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชโปรดฯ ให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๒๓๕ ปี โดยอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระให้ช่วยชำระสอบสวนพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ออกไปจากธรรมวินัย และในครั้งนั้นพระองค์ทรงขอให้พระโมคคัลลีบุตรติสสะเลือกพระอรหันต์เป็นพระสมณทูต เพื่อส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่างๆ ในจำนวนนั้นปรากฏชื่อดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าคือดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า ไทย ลาว และเขมร
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ในประเทศไทยสามารถแบ่งพัฒนาการของพุทธศาสนาดังนี้
พุทธศาสนาเถรวาทยุคแรกที่เข้าสู่ดินแดนแถบนี้ เชื่อกันว่าได้รับสืบทอดมาจากพระโสณะเถระและพระอุตตระเถระเมื่อครั้งที่พระสมณทูตทั้งสองเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๑๖ หลังจากนั้นพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามเริ่มเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖
โดยเข้ามายังอาณาจักรล้านนาในราว พ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ได้ตั้งสุโขทัยเป็นราชธานี พระพุทธศาสนาในยุคสุโขทัยเมื่อครั้งแรกเริ่มนั้นคงมีทั้งลัทธิเถรวาทและลัทธิมหายานปะปนกัน จวบจนถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๖๐) พระองค์ทรงสดับกิตติคุณความเคร่งครัดของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ที่เมือง นครศรีธรรมราช โปรดฯ ให้นิมนต์พระภิกษุจากนครศรีธรรมราชขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังกรุงสุโขทัย หลังจากนั้นลัทธิเถรวาทแบบมอญเก่าก็ดี ลัทธิมหายานก็ดีค่อยๆ สูญสลายหายไป
ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๕ (พ.ศ. ๑๘๙๗-๑๙๑๙) ได้เสด็จออกผนวช นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยซึ่งผนวชในพระพุทธศาสนาในขณะที่ขึ้นเสวยราชย์แล้ว ทั้งนี้ พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ที่สถาปนาในสมัยสุโขทัยนี้เองที่มีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ในลำดับต่อมา
ขอเชิญชม สารคดีสั้น “พุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก” ติดตามได้ทางช่องทางยูป นิตยสารอนุรักษ์ หรือ เฟซบุ๊คพิมพ์คำว่านิตยสารอนุรักษ์
โครงการนี้สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ตัวอย่างสารคดี (Teaser)