เรื่อง นภันต์ เสวิกุล นิตยสารอนุรักษ์

ไปมาแถววังหลัง บางกอกน้อย จึงมีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์ “ศิริราชพิมุขสถาน” ที่เขานำสถานีรถไฟธนบุรีหลังเก่าริมแม่น้ำมาบูรณะ มีสิ่งแสดงหลายอย่างล้วนเป็นเรื่องของผู้ครอบครองแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน การรถไฟ และเจ้าของแผ่นดินท่านแรก คือ “วังหลัง”
ไปถามหนุ่มๆ สาวๆ ฝั่งธนบุรีสมัยนี้ว่ารู้จักไหม อาจจะต้องพูดถึง “ตรอกวังหลัง” ที่เป็นย่านของกินของใช้ที่ซ้อนทับกับแผ่นดินผืนนี้
ตําาแหน่งแห่งที่ของวังหลังจริงๆ ก็คือ พื้นที่ด้านใต้ของปากคลองบางกอกน้อย ลงไปถึงวัดระฆังโฆสิตาราม ขอบเขตทางทิศเหนือ จรดกำแพงเมืองธนบุรีเดิม ทิศใต้จรดฉางเกลือ ตำบลบ้านปูน หือ สวนลิ้นจี่ ปัจจุบันชุมชนวังหลังและโรงพยาบาลศิริราชนั้นรวมอยู่ในเขต “พระราชวังหลัง” ของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลังใน แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทําหน้าที่ป้องกันข้าศึกจากทางด้านตะวันตก และด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์


พระราชประวัติของกรมพระราชวังหลังนี้ ทางพิพิธภัณฑ์จัดทำจิตรกรรมขนาดใหญ่ ขนาด ๒ x ๘ เมตร วาดโดย อาจารย์ ปัญญา วิจินธนสาร บรรยายประกอบแสงเสียงมีบทร้อยกรอง ซึ่งประพันธ์โดย ศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ฟังแล้วนํ้าตาซึมว่า
บรรพบุรุษของไทย ท่านทุ่มเทเสียสละให้กับแผ่นดินไทยมากมายเหลือคณานับ ไม่รู้จะทดแทนบุญคุณกันอย่างไรไหว

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขมีพระนามเดิมว่า “ทองอิน” ทรงถือกําเนิดตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็น“หลานน้า” ของรัชกาลที่ ๑ เพราะพระมารดา คือ ท่านสา (ต่อมาได้รั บการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี) เป็นพระพี่นางในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระบิดา คือ พระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตํารวจในสมัยพระเจ้าบรมโกศ (พระอินทรรักษานอกจากจะมีโอรสธิดากับกรมพระยาเทพสุดาวดี แล้ว ยังมีบุตรชายกับภรรยาอื่น ชื่อ ขุนเณร ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ ได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าขุนเณรสุดยอดนักรบ ที่มี่บทบาท เป็นนายทัพกองโจรคอยซุ่มโจมตี ดักปล้นเสบียงอาหาร ตัดกําลังกองทัพพม่าในสงคราม เก้าทัพที่กาญจนบุรี)

เมื่อกรุงแตก และตั้งกรุงธนบุรีแล้ว ท่านสาจึงพาบุตรธิดา จากที่ซ่อนทหารพม่ามาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ส่วนธิดาก็ถวายทําราชการฝ่ายใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานที่ดินตําบลบ้านปูน ให้เป็นที่อยู่อาศัย มหาดเล็กทองอินรับราชการด้วยความขยันขันแข็งได้เป็นถึง หลวงฤทธิ์นายเวร แล้วออกไปเป็น ผู้สําเร็จราชการเมือง นครราชสีมา มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุริยอภัย ได้รับความดีความชอบที่สุดเมื่อครั้งปราบจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรี
ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในพ.ศ. ๒๓๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์

ตลอดพระชนม์ชีพเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ได้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณ ด้ว ยความเข้มแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชการสงครามป้องกันพระราชอาณาจักรหลายคร้ังที่ดุเดือด และมีชื่อเสียงที่สุด ก็คือ การรบที่ปากพิง หนึ่งในสมรภูมิสำคัญของสงครามเก้าทัพ

สงครามครั้งนั้น กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ถือพล ๑๕,๐๐๐ คน ขึ้นไปตั้งทัพสกัดพม่าที่บ้านปากพิง นครสวรรค์ ซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อสกัดทัพพม่าที่ลงมาจากทางเหนือจะต้องผ่านทางนี้ หรือ ถ้าเข้ามาทางด่านอุทัยธานีสู่ชัยนาทไทยก็ สามารถเคลื่อนทัพลงมารับ แม้กระทั่งพระนครเกิดคับขันเพราะกาญจนบุรี ราชบุรี แตก จะถอยทัพลงมาเสริมกำลังก็สามารถทำได้ทันท่วงที แต่ปรากฏว่าทัพไทยมีชัยชนะทุกสมรภูมิ ทั้งกาญจนบุรี ราชบุรี สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ก็นำกองทัพต่อลงไป
ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ที่กำเริบแข็งเมือง เหลือแต่ทัพพม่าทางเหนือด้านเดียว ที่รัชกาลที่ ๑ กำลังจะนำทัพขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ดังนั้นในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ เวลาเช้า ทัพไทยจึงเข้าโจมตีทัพพม่าทุกค่าย ที่ปากน้ำพิง จนค่ำทุ่มหนึ่ง ทัพพม่าก็แตกฉาน หนีข้ามแม่น้ำไปฟากตะวันตก ศพลอยเต็มแม่น้ำจนกินน้ำไม่ได้ ที่ถูกจับเป็นเชลยก็มากจากนั้นทัพไทยก็ขึ้นไปช่วยเมืองนครลำปางที่ถูกทัพพม่าล้อมอยู่ รบกันได้รับชัยชนะอีก

เสร็จสงครามเก้าทัพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานบำเหน็จแก่แม่ทัพนายกองตามสมควรแก่ความชอบ และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ขึ้นเป็นกรมพระดำรงพระเกียรติยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข พระองค์ที่สองของประเทศไทย
กรมพระราชวังหลัง มีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงบูรณปฏิสังขรณ์อารามน้อยใหญ่ เช่น วัดบางว้าน้อย วัดเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อย ก็โปรดให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดอมรินทราราม นอกจากนั้นยังมีวัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุขอีกวัดหนึ่ง ที่โปรดให้บูรณะขึ้นใหม่ทั้งพระอารามเช่นกัน ส่วนในต่างจังหวัดก็มีวัดกษัตราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดค้างคาว วัดท้ายเมือง จังหวัดนนทบุรีวัดกลาง วัดบูรพา จังหวัดนครราชสีมา เป็นอาทิ

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข มีพระอัครชายาชื่อ ทองอยู่ เรียกกันทั่วไปว่า เจ้าครอกข้างใน หรือเจ้าครอกทองอยู่ ได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้านายที่มีฝีพระหัตถ์เป็นเลิศด้านอาหารคาวหวาน พระองค์หนึ่ง ที่ลือชื่ออย่างยิ่งก็คือ “ขนมค้างคาว”
ทางด้านอักษรศาสตร์ก็ทรงพระปรีชายิ่ง ดังปรากฏผลงาน ด้านวรรณกรรมสำคัญ ๒ ชิ้น ได้แก่ กลอนบทละครเรื่องพระศรีเมือง และบทพระนิพนธ์แปล เรื่อง “ไซ่ฮั่น”
เมื่อมีพระชนมายุมากถึง ๕๖ ปี ก็ยังขอพระบรมราชานุญาตออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับที่วัดระฆังโฆสิตาราม จนทรงลาผนวชเมื่อพระชนมายุได้ ๖๑ พรรษา กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขก็เสด็จทิวงคต ในวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล

จุลศักราช ๑๑๖๘ ตรงกับวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๔๙ ครั้นถึงเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิธีพระเมรุที่ท้องสนามหลวง มีมหรสพสมโภช ๓ วัน แล้วได้พระราชทานเพลิง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอุทิศพระราชทาน ประดิษฐานไว้ที่ฐานชุกชีพระแก้วมรกต
ตลอดพระชนม์ชีพ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงเป็นแบบอย่างของเจ้านายที่อุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกิจสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และต่อแผ่นดินสยาม อย่างหาที่สุดมิได้