นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง/ภาพ นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
อีสานรงคบำบัด: Esan Tone Therapy
โลกนี้คงไร้สีสันหากชีวิตไม่วิวัฒนาการ “เซลล์รูปแท่ง” และ “เซลล์รูปกรวย” ขึ้นมา
การมองเห็นของดวงตา
ปกติแล้วเวลาที่เราเห็นแสงสีขาวในธรรมชาติเราอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่เมื่อใดที่แสงขาวนั้นได้ส่องผ่านแท่งแก้วปริซึมแล้วสีสันทั้ง ๗ สี ปรากฏออกมา เมื่อนั้นล่ะความว้าว! จึงบังเกิด
ปรากฏการณ์นี้เกี่ยวข้องกับเซลล์รูปแท่งและเซลล์รูปกรวยอย่างไร ใจเย็นๆ กำลังจะเล่าเดี๋ยวนี้เแล้ว
ดวงตาของมนุษย์มีอุปกรณ์ในการรับภาพที่เรียกว่า “จอตา” แต่มีแค่จอตาเฉยๆ ก็ใช่ว่าจะเห็นภาพต่างๆ ได้เลยแบบจอหนังตะลุง ต้องประกอบด้วย “เซลล์รูปแท่ง” ทำหน้าที่รับแสง ส่วน “เซลล์รูปกรวย” ทำหน้าที่จำแนกสี
ถ้าถามว่าในเมื่อมีเซลล์รูปกรวยทำหน้าที่จำแนกสีอยู่แล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมีเซลล์รูปแท่งก็ได้นี่นา ก็ต้องบอกว่า “จำเป็น” เพราะจำเป็นต้องมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ จึงทำให้เรามองเห็นสีสันได้
ตามปกติดวงตาของเรามองเห็นแสงที่ความยาวคลื่น ๔๐๐-๗๐๐ นาโนเมตร แต่ไม่สามารถจำแนกเป็นสีต่างๆ เห็นเพียงรวมๆ กันเป็นแสงขาว ต้องใช้แท่งแก้วปริซึมช่วยในการหักเหแสง ทำให้แต่ละคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นไม่เท่ากันกระจายตัวออกเห็นเป็นสีสันต่างๆ
มากกว่าคำว่า “อ่อน” “เข้ม” “มืด” “สว่าง” “ด้าน” และ “ระเรื่อ”
สมองอันมหัศจรรย์ของเราไม่ได้มีเพียงส่วนที่ใช้ในการคิดวิเคราะห์หรือจดจำเท่านั้น แต่ยังมีส่วนประกอบแห่งวัฏจักรชีพสมดุลด้วย เรียกว่า “ต่อมไพเนียล”
มนุษย์ทุกคนต่างมีเวลา ๒๔ ชั่วโมง เท่ากัน ต่อมไพเนียลเป็นเสมือนนาฬิกาชีวิตที่ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยขึ้นกับปัจจัยตามสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “แสง”
ต่อมไพเนียลจะมีปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อสีแต่ละสีแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าต้องมีแสงอย่างเพียงพอจึงจะเห็นสี สีแต่ละสีจะส่งผลต่อความรู้สึก จิตใจ อารมณ์ และฮอร์โมนในร่างกายของเรา เช่น วันใดที่ฟ้าหม่นครึ้มติดต่อกันหลายวัน ก็มีผลให้เรารู้สึกหดหู่ได้ ประเทศทางตะวันตกที่มีฤดูหนาวยาวนานฟ้าไม่ค่อยเปิด จึงนิยมมาแสวงหาแสงแดดทางบ้านเรากันมาก จนอันที่จริงหากเอาแสงแดดมาเป็นพลังละมุน (soft power) คงทำให้ประหยัดงบประมาณในการตามหาพลังดังกล่าวไปได้ไม่น้อย
เมื่อจอประสาทตารับแสงสีแดงจะทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว ในทางตรงกันข้ามแสงสีม่วงจะทำให้รู้สึกสงบ เพราะการส่งผลต่ออารมณ์ความสึกนี่เอง นักจิตวิทยาจึงได้นำแนวทางนี้มาใช้ในการรักษาแบบทางเลือกควบคู่ไปกับการรักษาหลัก
แต่ที่จริงแล้ว “รงคบำบัด” (chromotherapy) มีประวัติเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคอารยธรรมอียิปต์แล้ว ในเอกสารโบราณซึ่งเป็นคัมภีร์ของนักบวชได้กล่าวถึงเรื่อง รงคบำบัดว่า ได้มีการสร้างวิหาร ภายในวิหารนั้นได้แบ่งออกเป็น ๗ ห้อง ที่ทาสีต่างกัน ๗ สีแบบรุ้ง ผู้รับการบำบัดจะถูกพาตัวไปห้องสีใด ก็แล้วแต่อาการว่าควรจะได้รับการรักษาโรคทางกาย หรือ ฟื้นฟูจิตใจ
ทัศนศิลป์พื้นบ้านกับอีสานรงคบำบัด
ก่อนจะเข้าเรื่องขอเล่าถึงงานจิตรกรต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับรงคบำบัดเสียก่อน จิตรกรผู้นั้นคือ “มาร์ก รอทโก” (Mark Rothko) ซึ่งมองว่าเรื่องราวตำนานและเหตุการณ์ปกรณัมกรีกโบราณที่เล่าขานมาแท้จริงแล้วคือสัญญะที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกกับมนุษย์
รอทโกบ่มเพาะตนเองอยู่หลายปี เขาได้ตัดชื่อภาพที่เป็นถ้อยคำรุงรังออกไป เหลือเพียงหมายเลข ทั้งยังปฏิเสธที่จะอธิบายความหมายของผลงานแต่ละชิ้น เพื่อไม่ให้ถ้อยคำใดๆ ไปปิดกั้นจินตนาการของผู้ชม ปล่อยให้ความเงียบได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์
ช่วงปีคริสต์ศักราช ๑๙๗๑ รอทโกได้ตกผลึกผลงานชุด “โบสถ์ของรอทโก” (Rothko chapel) ขึ้นมา โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นโบสถ์ทางจิตใจในพื้นที่จำลองบรรยากาศของโบสถ์คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ แต่เขาใช้ผนังที่ทาสีน้ำเงินเข้มๆ ด้วยมือเพื่อให้คนได้เข้าไปทำสมาธิ
วกกลับเข้ามาในบ้านเรา ทางพุทธศาสนามีการฝึกสมาธิที่เรียกว่า “กสิณ”
กสิณ มี ๑๐ อย่าง แบ่งเป็น ๒ พวก
พวกแรกเรียกว่ากสิณกลาง มี ๖ อย่าง เกี่ยวกับ ดิน ไฟ ลม ช่องว่าง แสง และน้ำ
ส่วนกสิณพวกที่ ๒ มี ๔ อย่าง จะเป็นการฝึกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการบำบัดเกี่ยวกับสี ดังที่จะเล่าต่อไปนี้
กสิณพวกที่ ๒ นับจากข้อที่ ๗ ไปถึง ๑๐ เหมาะสำหรับผู้ที่โกรธง่าย ขี้หงุดหงิด โดยการเพ่งสีต่างๆ ได้แก่ สีแดง (โลหิตกสิณ) สีเขียว (นีลกสิณ) สีเหลือง (ปีตกสิณ) และสีขาว (โอทาตกสิณ)
ที่จริงแล้วหากตัดเรื่องอำนาจฤทธิ์ในกสิณทางพุทธศาสนาออกไป การฝึกสมาธิจะช่วยให้รู้สึกสงบและถือเป็นการบริหารจิตให้มีความเข้มแข็งไม่หวั่นไหวกับสิ่งเร้าได้โดยง่าย
ดอกเตอร์ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนะศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับสีไทยโทนและให้ความสำคัญกับเรื่องไทยโทนบำบัดด้วย ในชั้นเรียนหลักสูตรระยะสั้น เรื่อง สีไทยโทน และ เรื่องแรงบันดาลไทย ที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดให้เข้าเรียนในระบบออนไลน์สำหรับผู้สนใจในช่วงโรคระบาดโควิด ๑๙ ท่านได้กล่าวถึงสีไทยที่ปรุงขึ้นจากธรรมชาติว่า
“เฉดสีของไทยมีชื่อเรียกที่ช่วยกระตุ้นจินตนาการ มีความนุ่มนวลหรือความตุ่นที่เป็นเอกลักษณ์ หรืออย่างสีในกลุ่มเอิร์ธโทนก็ให้ความรู้สึกอบอุ่น การได้สัมผัสจึงถือเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง”
แต่…
แม้จะผลิตจากธรรมชาติแต่ก็มีความอันตรายจาก “พิษ” ที่มาจากสีด้วย เช่น “สีขาวกระบัง” ได้จากตะกั่ว หรือ “สีชาด” ได้จากปรอท เป็นต้น
ถ้าแบบนี้ก็เข้าทางสิมอีสานบ้านเฮาเลย พลิกวิกฤกติในความอัตคัตให้เป็นโอกาส!
ทำความรู้จักสิม แหล่งที่มาของอีสานรงควัตถุ และอีสานรงคบำบัด
เมื่อ ๑๐๐-๒๐๐ ปีก่อน ไม่มีร้านขายวัสดุก่อสร้างครบวงจรแบบในปัจจุบัน การจะสร้างสิม (โบสถ์ในภาษาอีสาน) ต้องวัสดุก่อสร้างกันเป็นปี ทั้งขี่เกวียนไปขนทรายแม่น้ำมูน ไปขนหินปูนจากภูเขา เก็บขี้นกอินทรีย์ (ฟอสซิลหอยในทุ่งกุลา) ทั้งปลูกอ้อย และเคี่ยวกาวหนังสัตว์กันเอง กว่าจะได้สิมสักหลักหนึ่ง สิมในภาคอีสานจึงมีขนาดเล็กเพียงพอให้พระภิกษุจำนวนขั้นต่ำในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น
คราวนี้พอสร้างสิมเสร็จก็ได้เวลาแต่งแต้มสีสันให้กับสิมด้วยฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรมในภาษาอีสาน) แล้ว ฮูปแต้มอีสานมักเล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านอย่างสังสินไซ พระลักพระลาม พระมาลัย พุทธประวัติ พระเวสสันดร นรกสวรรค์ สอดแทรกความเชื่อ วิถีชีวิตพื้นบ้าน รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญในยุคสมัยนั้น
ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าโบสถ์ในภาคกลางจะนิยมใช้สีแดงชาดทาพื้นหลังเพื่อสื่อถึงสวรรค์ ซึ่งสีแดงชาดในยุคนั้นต้องนำเข้าจากประเทศจีนทำให้มีราคาสูง ช่างแต้มอีสานซึ่งพลิกแพลงเก่งไม่ยึดติดกฎเกณฑ์ตายตัวจึงบ่หัวซา (หาได้นำพาไม่) แล้วหันไปใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นแทน ซึ่งบังเอิญทำให้ปลอดภัยจากสารปรอทและสารตะกั่วไปแบบฟลุ๊คๆ
รงควัตถุของอีสานนั้นได้มาจากสัตว์ พืช และแร่ธาตุ โดยสีที่ช่างแต้มนิยมใช้จะเป็นสีวรรณะเย็น ส่วนสีวรรณะร้อนมีพบได้บ้างส่วนใหญ่ใช้ระบายสีองค์ประกอบเล็กๆ ของภาพ แต่ถ้าพบระบายเป็นพื้นที่บริเวณกว้างจะเป็นฮูปแต้มที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางที่วัดพอจะมีทุนทรัพย์
กลุ่มสีวรรณะเย็น
เป็นกลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกสดชื่น สงบ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ลดความเครียด จึงเป็นกลุ่มสีที่เหมาะกับคนทำงานหนักและใช้ความคิดเยอะ ตัวอย่างสีในกลุ่มนี้ เช่น
สีน้ำเงิน ได้มาจากการหมักใบครามกับปูนแดงหรือปูนขาว น้ำขี้เถ้า และมะขามเปรี้ยว ได้สีน้ำเงินครามที่ออกตุ่นๆ ให้ความรู้สึกสุขุม เยือกเย็นหนักแน่น และละเอียดรอบคอบ พลังของสีน้ำเงินยังทำให้ระบบหายใจของเราเกิดความสมดุลและแข็งแรงขึ้น ใช้ในการบำบัดโรคความดันโลหิตสูง ทั้งยังเป็นสีที่สร้างแรงบันดาลใจทางศิลปะอีกด้วย
สีฟ้า ช่างแต้มสมัยโบราณรู้จักการผสมสีแล้ว สีฟ้านี้เกิดจากการใช้สีครามผสมกับสีขาวที่ได้มาจากการเผาเปลือกหายกาบกี้หรือบางพื้นที่ก็เรียกหอยกิ๊บกี้ เผาแล้วจึงตำให้ละเอียดได้ผงสีขาว จึงนำมาปรุงให้ได้เฉดสีตามต้องการ สีฟ้าเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสงบ เยือกเย็น เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ปลอดภัย และระงับความกระวนกระวายในใจได้ดี พลังของสีฟ้ามีคุณสมบัติในการรักษาอาการของโรคปอด ลดอัตราการเผาผลาญพลังงาน รักษาอาการเจ็บคอ และทำให้ชีพจรของเราเต้นเป็นปกติ
สีเขียว ได้ใบพืช เช่น ใบแค และ ใบมะม่วง รวมทั้งได้จากการปรุงสีน้ำเงินครามและสีเหลืองจากยางรงเข้าด้วยกัน อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ครูผู้สอนจริยศิลป์ในการใช้สีฝุ่น ท่านเคยแนะนำว่าหากใช้สีครามปรุงกับสีเหลืองรงและสีขาวจากเปลือกหอยกาบกี้เข้าด้วยกัน จะได้สีเขียวเทอร์คอยส์
เมื่อต้องการผ่อนคลายความตึงเครียด พลังของสีเขียวช่วยให้ประสาทตาผ่อนคลาย ลดความดันโลหิต ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด บรรเทาอาการทางโรคหัวใจ ต้านเชื้อโรคลดการอักเสบของเยื่อบุ เป็นต้น
มาดู กลุ่มสีวรรณะร้อน กันบ้าง
กลุ่มสีวรรณะร้อนเป็นกลุ่มสีที่ทำให้รู้สึกมีพลัง เร่าร้อน กระตือรือร้น และกระฉับกระเฉง ในทางจิตวิทยาสีวรรณะร้อนมีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกอยากอาหาร ตัวอย่างของสีในกลุ่มนี้เช่น
สีเหลือง ได้มาจากยางต้นรง กว่าจะได้น้ำยางจากต้นรงมาทำสีฝุ่นนี่ก็ยากนัก ต้องเข้าป่าไปตามหาต้นรง กรีดเปลือกไม้แบบกรีดต้นยางพารา ให้น้ำยางค่อยๆ หยดลงในกระบอกไม้ไผ่ที่รองไว้ ทิ้งไว้จนแข็งแล้วจึงเคาะออกมา ก้อนยางรงที่ได้จึงมีลักษณะเป็นท่อนๆ เวลาจะใช้งานจึงนำกระดาษทรายเบอร์ละเอียดค่อยๆ ถูจนได้สีฝุ่นออกมา
สีเหลืองเป็นสีแห่งความสนุกสนาน สดใสร่าเริง เป็นสีแห่งปัญญา สามารถช่วยเยียวยาอาการท้อแท้ หดหู่และหมดกำลังใจของผู้ป่วยบางประเภท อีกทั้งพลังของสีเหลืองยังช่วยระบบการทำงานของลำไส้และน้ำดีสอดประสานกัน ช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหารทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
สีส้ม ที่จริงสำหรับสีอีสานน่าจะเรียก “สีดินแดง” มากกว่า เพราะให้สีแบบแดงอิฐ บริเวณจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อขุดดินลึกลงไปราว ๕ เมตร จะพบชั้นดินเดิมซึ่งเป็นดินสีแดง แต่การนำดินหรือแร่ธาตุมาปรุงสีนั้นต้องผ่านการเกรอะเสียก่อนอย่างน้อย ๒-๔ สัปดาห์ เพื่อล้างความสกปรกและความเค็มออกไป เพราะความเค็มนั้นเป็นตัวการที่ทำให้สีซีดจางในเวลาอันใกล้
สีส้มเป็นสีแห่งความสร้างสรรค์ อบอุ่น สดใส เปี่ยมไปด้วยพลังงานแห่งความทะเยอทะยาน ในทางจิตวิทยาสีส้มมีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการซึมเศร้า กระตุ้นพลังความกระตือรือร้นให้กลับคืนมา
สีแดง ทางอีสานใช้สีแดงจากครั่ง ซึ่งเป็นแมลงประเภทเพลี้ย มักจะอาศัยอยู่ตามต้นมะขามและต้นฉำฉา มันจะขับสารที่มีลักษณะเหมือนยางหรือชันออกมาป้องกันตัวเองจากศัตรู เจ้ายางแข็งๆ นี่ล่ะที่ให้สารสีแดง
นอกจากจะได้สีแดงจากครั่งแล้วยังได้จากแก่นฝางด้วย เมื่อต้มแก่นฝางจนได้น้ำสีแดงเข้มถูกใจ จึงค่อยๆ เคี่ยวกับไฟอ่อน เมื่อน้ำระเหยไปจนหมด จะเหลือผงสีแดง
ศาสตร์ของตะวันตกยกให้สีแดงเป็นสีที่กระตุ้นระบบประสาทได้รุนแรงที่สุด ให้ความรู้สึกตื่นเต้นท้าทาย ต่างจากไทยเราที่ใช้พื้นหลังภาพจิตรกรรมสีแดงเพื่อสื่อถึงสวรรค์อันเป็นความเงรยบสงบในจิตใจ ซึ่งแนวคิดนี้อาจจะมาจากการเพ่งกสิณสีแดงก็เป็นไปได้
สำหรับในทางการรักษา สีแดงมีอิทธิพลต่อการสร้างเม็ดเลือด เพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย และเสริมพลังความมั่นใจให้กล้าแสดงออก
สีน้ำตาล ได้จากยางรัก แม้จะอยู่ในกลุ่มสีวรรณะร้อนแต่คุณสมบัติของเฉดสีเอิร์ธโทน ทำให้รู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย อารมณ์ที่หนักแน่นขึ้นจึงแสดงออกในความเป็นตัวของตัวเอง
สีม่วง ได้จากเปลือกลูกหว้า ซึ่งผลผลไม้พื้นบ้านจะออกลูกในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและสร้างความสงบสุขในจิตใจได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ
พลังของสีม่วงช่วยปรับสมดุลในร่างกายของเราให้กลับมาเป็นปกติ เสริมพลังการบำบัดโรคแผนปัจจุบัน เช่น โรคไต โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคผิวหนังบางชนิด และโรคไขข้อได้อีกด้วย
ฮูปแต้มถือเป็นลักษณะศิลปะไร้มารยา (Naive) เพราะช่างพื้นบ้านได้ใช้ฝีมืออย่างอิสระที่ไร้ขนบมาเป็นกรอบ อะไรที่อยากเน้นให้เห็นว่าสำคัญจะวาดขนาดใหญ่ มีความทะลึ่งทะเล้นอย่างน่าเอ็นดู ทำให้จิตใจผ่อนคลายละลายความตึงเครียดได้ไม่น้อย เมื่อความเครียดลดลงภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ถูกกดไว้ด้วยสารคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาเพราะความเครียด จะค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นจนอยู่ในระดับปกติ
การมาชมสีสันฮูปแต้มของภาคอีสานนั้น จึงไม่เพียงแต่ได้บำบัดอาการผิดปกติของร่างกายให้กลับคืนสู่ความสมดุล ได้ใช้จินตนาการตามช่าง ที่แต่งแต้มเรื่องราวนิทานพื้นบ้านเสมือนเป็นการดูการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านผ่านฮูปแต้มด้วย
จากประโยคคลาสสิคที่กล่าวว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ” อีกนัยความหมายอาจจะสื่อถึง การเลือกมองสิ่งที่ทำให้ใจเป็นสุขก็เป็นไปได้
ข้อมูลอ้างอิง
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์. (2565).
รหัสนัยแห่งสี. พิมพ์ครั้งแรก. โรงพิมพ์มติชน. กรุงเทพมหานคร. 439 หน้า.
กฤษฏิญา ไชยศรี. (2565).
Mark Rothko ศิลปินผู้วาด ‘อารมณ์’ ของมนุษย์.
ธีวัฒน์ สุดขาว. (2565).
ศาสตร์แห่งสีเพื่อการบำบัด.
วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์. (2565).
คัมภีร์การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุ เพื่อสุขภาพคนวัยทำงาน นอนน้อย เครียด และติดหวาน (ตอนที่ 2).
ไพโรจน์ พิทยเมธี. (2566).
หลักสูตรระยะสั้นสีไทยโทน.
ไพโรจน์ พิทยเมธี. (2566).
หลักสูตรระยะสั้นแรงบันดาลไทย.
ศุภชัย ติยวรนันท์. (2553).
เมลาโทนิน วัฏจักรชีพ สมดุลชีวิต.
สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา.
รงคบำบัดหรือการบำบัดโรคโดยใช้สี (color therapy).
สีบำบัด (chromotherapy).