เรื่อง : คนชอบ(พระ)สวย
พระสมเด็จวัดระฆัง
พิมพ์ใหญ่
สำหรับอนุรักษ์ฉบับที่ต้อนรับตรุษจีนพ.ศ. ๒๕๖๑ ก็จะเป็นเรื่องราวและประวัติโดยย่อของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่“องค์หมวดแอ๊ด” (ร.ต.ท. อนุชิต โปษยานนท์ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นพระสมเด็จวัดระฆังองค์ที่ได้ถูกลงตีพิมพ์ไว้ในหนังสือพระรุ่นแรกๆ ซึ่งได้รับการจัดทำเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๕ (๔๖ ปีมาแล้ว) และในหนังสือพระฉบับที่ดังกล่าว ผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงพระสมเด็จองค์นี้ว่า “เป็นพระสมเด็จที่งดงามตามธรรมชาติโดยไม่มีการตกแต่งและมีความสมบูรณ์อันดับเยี่ยมที่สุดเท่าที่ค้นพบในวงการพระเครื่อง” ทุกท่านที่ได้เคยเห็นองค์พระจริง ก็มักจะวิจารณ์ไปในทางเดียวกันว่า เป็นพระที่มีสีผิวเป็นประกายเสมือนกระเบื้องเคลือบดินเผา กล่าวคือมีความเปล่งปลั่งเป็นประกายเป็นพิเศษในเรื่องนี้ตัวผมเองได้เคยขอความรู้จากเซียนพระผู้อาวุโสในอดีตคือ คุณลิ (ใหญ่)ท่านได้ให้ความเห็นว่าพระสมเด็จที่จะมีผิวลักษณะผิวใสและการแตกลายงาแบบละเอียดเสมอเท่ากันทั้งองค์เช่นนี้ จะต้องมีส่วนผสมลงตัวพอดี ทั้งเนื้อ – มวลสาร – น้ำและลักก็จะต้องร่อนเองโดยไม่ใช้การล้างด้วยน้ำยา ส่วนในเรื่องของการติดจากแม่พิมพ์ก็ต้องถือว่าติดได้ลึก และมีพุทธลักษณะที่ได้ทั้งเส้นดิ่งและเส้นฉากขนานกับการตัดทั้งสี่ด้าน และที่พิเศษที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือองค์พระหนาและเมื่อวางลงบนโต๊ะก็จะขนานกับโต๊ะ เสมือนกล่องไม้ขีดไฟโดยไม่มีบิดและก็ไม่โก่งเลย
ประวัติเดิมของพระองค์นี้เป็นของคุณบุญยง นิ่มสมบุญ ซึ่งได้มาจากผู้ใหญ่ที่สูงศักดิ์มาตั้งแต่สมัย พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้นๆและต่อมาก็ตกทอดมาอยู่กับ “หมวดแอ๊ด”(ร.ต.ท.อนุชิต โปษยานนท์ ยศในขณะที่ได้พระ) พระสมเด็จองค์นี้ได้เคยลงประกวดเพียงครั้งเดียวในงานใหญ่ที่จังหวัดฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และได้รับรางวัลชนะเลิศที่หนึ่ง จากจำนวนพระที่ส่งลงประกวดกว่าสิบองค์
และเมื่อผมได้เข้ามาอยู่ในวงการสะสมพระเครื่องในปีพ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ได้ทราบเรื่องความสวยเด่นของพระสมเด็จองค์นี้จากรุ่นอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่แนะนำให้คอยติดตามพระสมเด็จองค์นี้ และผมก็ได้ทุ่มเทเวลากว่าสามปีในการตามตื๊อขอพระองค์นี้จากพี่แอ๊ด โดยจะขอนัดพบกับพี่แอ๊ดเกือบทุกอาทิตย์ จนกระทั่งวันหนึ่งพี่แอ๊ดทนการตื๊อของผมไม่ไหว เกิดใจอ่อนจึงหลุดปากตีราคาว่าจะต้องเป็นราคาสูงเป็นประวัติศาสตร์ที่แพงกว่าพระสมเด็จทุกองค์ที่เคยเช่าก่อนหน้านี้ และจะต้องแพงกว่าพระสมเด็จองค์ทรงเจดีย์ของพี่แจ๋ว (เจ๊แจ๋ว) ที่อาจารย์รังสรรค์เช่ามาในราคาที่เป็นสถิติสูงสุดในขณะนั้น เบื้องต้นพอได้ยินราคาก็รู้สึกขยาดและทำท่าจะถอดใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเฮียเถ้า (วิโรจน์ ใบประเสริฐ) ผู้ซึ่งสนิทสนมกับผมและกับอาจารย์รังสรรค์ ได้มากระซิบเตือนผมว่าหากผมไม่รีบตัดสินใจ อาจารย์รังสรรค์คงจะตัดหน้าเช่าไปในเร็ววันนี้ ในคืนวันที่ทราบข่าวนี้ ผมก็รีบกลับบ้านไปปรึกษาภรรยาอยู่ทั้งคืน
จนกระทั่งรุ่งเช้าก็ยังตัดสินใจไม่ได้ จนกระทั่งภรรยาผมซึ่งเห็นผมหมกมุ่นกับการติดตามพระสมเด็จองค์นี้อยู่หลายปี ถึงขนาดนำรูปพระสมเด็จองค์นี้มาติดอยู่ผนังโต๊ะทำงาน และก็ยังกราบไหว้อธิษฐานขอให้ท่านมาอย่ดู ้วยหลายปี จึงเอ่ยกับผมว่า ถ้าคุณทำใจว่าจะเช่าท่านให้ตัวเองไม่ได้ ก็ให้นึกใหม่ว่าคุณเช่าให้กับฉันก็แล้วกัน และขอร้องอย่างเดียว เย็นวันนี้อย่ากลับมาบ้านโดยไม่มีพระสมเด็จองค์นี้ เพราะฉันไม่อยากเห็นคนทนอกหักไปตลอดชีวิต
ต้องยอมรับว่าคำพูดสนับสนุนและเตือนสติในเช้าวันนั้น ทำให้ผมตัดสินใจเดินหน้าทันที และเมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตก็พบว่า การทำใจกับราคาพระที่แพงแบบเป็นราคาประวัติศาสตร์นั้น จะมีความเสียดายเงินก็เฉพาะตอนเซ็นเช็คเท่านั้น และเมื่อเช็คใบนั้นได้หลุดไปจากมือเราและได้บูชาพระมาอยู่กับตัว ก็จะทำให้ความเสียดายเงินนั้นหมดหายไปโดยสิ้นเชิง และทุกครั้งซึ่งหยิบพระขึ้นมาส่องดูก็จะมีแต่ความปีติและผูกพันกับท่านมากขึ้น และมากขึ้นตามอายุ
ผมต้องขอขอบคุณอนุรักษ์อีกครั้งหนึ่งที่ได้เปิดโอกาสให้ผมได้พูดถึงประวัติและเรื่องราวของพระเครื่องในอดีต และฉบับที่หน้าก็คิดว่าจะเขียนถึงพระผงสุพรรณพิมพ์หน้ากลาง ซึ่งเป็นพระองค์ที่ผมรู้ช้าไปไม่ถึงสามชั่วโมง จึงต้องรอคอยเกือบ ๔๐ ปีกว่าพระท่านจะหวนกลับมาหาผมอีกครั้ง
ขอบคุณครับ