Wednesday, December 11, 2024
ส.พลายน้อย ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

สงกรานต์ งานบุญของชาวบ้าน เมื่อ ๘๐ ปีมาแล้ว ชีวิตช่างเป็นสุขจริงหนอ

การก่อเจดีย์ทราย ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง คือเชื่อกันว่าคนเข้าวัด เมื่อเดินออกจากวัดก็จะมีเศษดินทรายในวัดติดฝ่าเท้าออกไปฉะนั้นเมื่อถึงสงกรานต์ปีใหม่ จึงควรขนทรายเข้าวัดเป็นการทดแทน และทางวัดก็อาจเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ถมที่เป็นบ่อเป็นหลุม หรือใช้ในการก่อสร้าง การก่อเจดีย์ทรายนี้เป็นเรื่องสนุกอีกอย่างหนึ่ง และเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้ช่วยกัน ได้อยู่ใกล้ชิดกัน เขาจะทำกระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง ติดปลายไม้เล็กๆ มาประดับที่เจดีย์ให้ดูสวยงาม

แต่เรื่องก่อเจดีย์ทราย ก็ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์อะไร บางคนมีศรัทธาก็เอาสตางค์แดงบรรจุไว้อันหนึ่ง บางคนก็เอาใบโพธิ์บรรจุไว้ อธิษฐานอะไรกันไปตามความเชื่อ

บางวัดก็ก่อเจดีย์ทรายวันที่ขนทรายมานั่นเอง แล้วทำบุญฉลองในวันที่สาม บางแห่งวัดอยู่ไกลแม่น้ำการขนทรายลำบาก ก็ไม่มีการก่อเจดีย์ทราย

มีความนิยมอย่างหนึ่งที่ทำกันมาแต่กรุงศรีอยุธยาก็คือ การปล่อยนกปล่อยปลานกที่ปล่อยสมัยโน้นเป็นนกตัวเล็ก ที่ในปัจจุบันหายไปหมดแล้ว พวกบ้านป้อมหัวแหลม เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะเอานกสีชมพู นกปากตะกั่ว นกแดงอิฐ นกกะทินกกระจาบ ใส่กรงเดินเร่ขายให้ชาวเมืองซื้อปล่อย และพวกบ้านปากกราน ก็จับปลาหมอเกราะ หาบมาเดินเร่ขายบ้าง ใส่เรือมาเร่ขายบ้าง เพราะคนครั้งกรุงศรีอยุธยา อยู่แพอยู่เรือกันมาก ตามหลักฐานกล่าวไว้ชัดเจนว่ามีปลาหมอเกราะแต่เพียงอย่างเดียว

ประเพณีสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการสรงน้ำพระพุทธรูปและสรงน้ำพระสงฆ์ ตามประเพณีโบราณ จะสรงน้ำพระพุทธรูปก่อนแล้วจึงสรงน้ำพระสงฆ์ ทางภาคอีสานครั้งโบราณถือการสรงน้ำพระเป็นเรื่องสำคัญ มีชื่อเรียก

เฉพาะว่า “บุญสรงน้ำ” คือสรงน้ำพระพุทธรูปสรงน้ำพระสงฆ์ และรดน้ำผู้ใหญ่ บางแห่งสรงน้ำพระพุทธรูปอยู่ถึง ๑๕ วันจึงเลิก บางแห่งสรงน้ำพระตลอดเวลา ๑ เดือน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ จึงมีสวดมนต์เชิญพระพุทธรูปกลับเข้าประดิษฐานที่เดิมและขอขมาพระพุทธรูป

ตามประเพณีทั่วๆ ไป เมื่อเสร็จจากสรงน้ำพระแล้ว ก็จะเล่นสาดน้ำกันเอง เป็นเรื่องสนุกของชาวบ้าน ในชนบทแต่ก่อนคนมีอายุจะเล่นมอมหน้า หรือผู้หญิงไล่จับผู้ชาย เรียกค่าไถ่เป็นเหล้าโรงเอามากินกัน ในกรุงเทพฯ ก็มีเล่นอย่างเดียวกัน พระอยู่ได้แต่งถึงเรื่องการเล่นมอมหน้าไว้ในนิราศรำพึง ตอนหนึ่งว่า

“ลางพวกเล่นไล่มอมด้วยหม่าหม้อ
เปื้อนมอลอแก้มคางนางเล่นได้
แม่แปรกมิใช่ชั่วไม่กลัวใคร
ผ้าสไบคาดนมกลมเป็นเกลียว
สองมือดำทำเขม่าเอาไล่ป้าย
พวกผู้ชายวิ่งหนีสตรีเหนี่ยว
ดูเขาเล่นกันเป็นสุขสนุกเจียว”

ตามความเชื่อของพม่าว่า สักยามิน (พระอินทร์) จะเสด็จลงมาบันทึกชื่อคนทำชั่วในแผ่นหนังสุนัข ไทยเราก็เชื่อกันว่าท้าวจตุโลกบาลจะเสด็จลงมาจดชื่อคนทำบุญในแผ่นทอง จดชื่อคนทำบาปในแผ่นหนังสุนัข พวกยิวหรืออิสราเอลก็มี

ดังนี้แสดงว่าเล่นสกปรกกันมาแต่โบราณแล้ว แต่ในครั้งกระโน้นเขาเล่นเฉพาะในหมู่พวกของเขา ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่รู้จัก ไม่ได้เตรียมตัวมาเล่น เขาก็ยกเว้น ไม่ได้คิดว่าผู้ที่เดินทางไปมาเขาอาจมีธุระหรือมีกิจจำเป็นที่จะต้องไปทำโดยรีบด่วน ถ้าไปทำให้เขาเปียกเสียแล้ว เขาก็ไปทำธุระไม่ได้ และอาจเป็นชนวนให้เกิดการวิวาทโต้เถียงขึ้น บางคนแสดงความหยาบคาย ปราศจากความสุภาพเรียบร้อย ไม่ได้ดูว่าใครควรจะรดนํ้าหรือไม่ควร นํ้าที่ใช้ก็สกปรกน่ารังเกียจ บางครั้งใช้นํ้าผสมสี เมื่อถูกเสื้อผ้าก็ทำให้เกิดรอยเปื้อน เป็นการทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย หรือเอาแป้งไปลูบไล้หน้าตาเนื้อตัวด้วยเจตนาไม่ดี

มีประเพณีที่ดีงามอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งบรรดาลูกหลานจะไปกราบไว้ขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ส่วนมากจะเลือกวันหลังจากสงกรานต์แล้ว เพื่อความสะดวกในการเดินทาง และผู้ใหญ่จะอยู่บ้าน แต่เดิมทีเดียวที่ลูกหลานที่

จะไปรดนํ้าขอพรจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย จะหาผ้านุ่ง เสื้อผ้าไปให้หลังรดนํ้าขอพรแล้ว แต่ภายหลังก็เปลี่ยนไป เหลือเพียงผ้าเช็ดตัวผืนหนึ่งหรือแล้วแต่จะเห็นเหมาะสม

ข้อที่ควรปฏิบัติในการรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่ก็คือ

• นํ้าสะอาด ถ้าไม่มีนํ้าอบหรือนํ้าปรุง ก็อาจใช้ดอกมะลิหรือดอกกุหลาบลอยในขันแทน (หลักสำคัญอยู่ที่นํ้าสะอาด)
• ใช้จอกเล็กตักภาชนะที่ใส่นํ้า รดที่ฝ่ามือของผู้ใหญ่ ไม่ต้องกล่าวคำอวยพรเพราะเราไปขอพรไม่ใช่ไปให้พร
• ควรมีภาชนะรองนํ้าที่ไหลจากมือผู้ใหญ่
• ควรเตรียมผ้าผืนเล็กให้ผู้ใหญ่ใช้เช็ดมือที่เปียกนํ้าถ้ามีสิ่งของอะไรที่จะมอบให้ผู้ใหญ่ ก็มอบให้ตอนนี้ แล้วกราบทำความเคารพ ผู้ใหญ่ก็จะให้พร

ในปัจจุบันเด็กชอบให้พรผู้ใหญ่ ถ้าพูดตามวัยวุฒิแล้วไม่ถูกต้อง ผู้ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายให้ถ้าอยากจะให้จริงๆ ก็ควรอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะเด็กจะมีความดีอะไรไปให้ผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่แต่ก่อนสอนว่า วันขึ้นปีใหม่ควรเริ่มต้นด้วยสิ่งที่เป็นมงคล ควรทักทายกันด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ไม่ให้สบถสาบาน ทะเลาะวิวาทด่าทอกัน ให้พูดแต่สิ่งที่เป็นมงคลคตินี้เห็นจะเหมือนกันหมดทุกชาติ ใครทำดีทำชั่วอย่างไร จะมีเทวดาลงมาจดบันทึกไว้ ตามความเชื่อของพม่าว่า สักยามิน (พระอินทร์)จะเสด็จลงมาบันทึกชื่อคนทำ ชั่วในแผ่นหนังสุนัข ไทยเราก็เชื่อกันว่า ท้าวจตุโลกบาลจะเสด็จลงมาจดชื่อคนทำบุญในแผ่นทองจดชื่อคนทำบาปในแผ่นหนังสุนัข พวกยิวหรืออิสราเอลก็มี

ชื่อที่เทวดาจดไว้นี้ เมื่อตายไปก็จะถูกนำมาเปิดดู แล้วพิจารณาว่าใครควรจะตกนรกและใครควรจะขึ้นสวรรค์

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ใครจะมีชื่อจารึกอยู่ในแผ่นทองก่อนเถิด ฉะนั้นจงแย่งกันทำความดีเถิด!

About the Author

Share:
Tags: วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 4 / สงกรานต์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ