Wednesday, December 11, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

วังหลัง

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 5
เรื่อง / ภาพ : นภันต์ เสวิกุล

วังหลัง

ในช่วงที่บ้านเมืองยุ่งๆ ได้ยินแต่ข่าวเรื่องคนไทยเราไม่ค่อยถูกกัน ความคิดความอ่านแตกออกเป็นสองฝักสามฝ่าย พานให้นึกถึงว่า ในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อไรที่เราแตกความสามัคคี หรือต่างความคิดกันแบบสุดโต่ง ถ้าไม่เสียบ้านเสียเมือง ก็มีแต่เรื่องเดือดร้อนลำเค็ญทุกครั้งไป แม้ว่าสมัยนี้จะไม่ต้องระมัดระวังศึกศัตรูจากภายนอกอย่างแต่ก่อนแต่ศึกภายในหรือกับคนไทยด้วยกันนี่แหละเป็นเรื่องน่าเสียใจและหมดความสุขมากกว่าเสียอีก

ระยะนี้อีกเช่นกัน ที่ต้องไปมาแถวๆ วังหลัง-บางกอกน้อยอยู่บ่อยๆ ถึงบ่อยมาก ทำให้มีโอกาสเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ชื่อ “ศิริราชพิมุขสถาน” ที่เขานำสถานีรถไฟธนบุรีหลังเก่าริมแม่น้ำมาบูรณะใหม่ แสนโอ่อ่าน่านั่งน่าเดิน ในนั้นมีสิ่งแสดงหลายอย่าง ล้วนเป็นเรื่องของผู้ที่เคยครอบครองแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน ทั้งศิริราช ทั้งการรถไฟฯเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเจ้าของ แผ่นดินท่านแรก ที่วันนี้เหลือเพียงชื่อให้จดจำกันเพียง ๒ พยางค์เท่านั้น คือ “วังหลัง”

ไปถามหนุ่มๆ สาวๆ ฝั่งธนบุรีสมัยนี้ว่ารู้จักไหม อาจจะต้องพูดถึงชื่อสามพยางค์ คือ “ตรอกวังหลัง” ที่เป็นย่านของกินของใช้มีชื่อเสียง และย่านที่ว่า ก็ซ้อนทับเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินผืนนั้น

เมื่อศิริราชได้รับที่ดินจากการรถไฟฯได้ทำการสำรวจทางโบราณคดีพบฐานป้อมกำแพงด้านทิศเหนือของกรุงธนบุรี สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังหลังด้วย
อาคารสถานีรถไฟบางกอกน้อย สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองแทนหลังเดิมที่ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายจนราบ เปลี่ยนการใช้งานอีกครั้ง จากเป็นจุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายใต้ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

ตำแหน่งแห่งที่ของวังหลังจริงๆ ก็คือ พื้นที่ด้านใต้ของปากคลองบางกอกน้อย ลงไปถึงวัดระฆังโฆสิตาราม มีขอบเขตทางทิศเหนือจรดกำแพงเมืองธนบุรีเดิม ทางทิศใต้จรดฉางเกลือในตำบลบ้านปูน หรือรู้จักกันในชื่อ “สวนลิ้นจี่” ปัจุบันนี้คือชุมชนวังหลังและโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งแต่เดิมนั้นรวมอยู่ในเขต “พระราชวังหลัง”ของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกจากทางด้านตะวันตกและด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์

ภูมิอมรเมืองมิ่งแก้ว โกสินทรา
เกษมสุขสิทธิชัยประชา ประโชติได้
เวียงวังวัดกษัตริย์สถา ปนาภิเษก
ศักสิทธิ์ภูมิสถิตไว้ ประวัติรู้ วังหลังฯ

พระราชประวัติของกรมพระราชวังหลังนี้ ทางพิพิธภัณฑ์เขาจัดทำเป็นภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ ขนาด ๒ x ๘ เมตร วาดโดยอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร แล้วนำเสนอด้วยการบรรยายประกอบแสงเสียง มีบทร้อยกรอง ซึ่งประพันธ์โดย ศิลปินแห่งชาติเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฟังแล้วนํ้าตาซึม ว่าบรรพบุรุษของไทยท่านทุ่มเทเสียสละให้กับแผ่นดินไทยมากมายเหลือคณานับ ไม่รู้จะทดแทนบุญคุณกันอย่างไรไหว

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข มีพระนามเดิมว่า “ทองอิน” ทรงถือกำเนิดตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็น “หลานน้า” ของรัชกาลที่ ๑ เพราะพระมารดาคือท่านสา (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี) เป็นพระพี่นางในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบิดา คือพระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจในสมัยพระเจ้าบรมโกศ (พระอินทรรักษานอกจากจะมีโอรสธิดากับกรมพระยาเทพสุดาวดีแล้ว ยังมีบุตรชายกับภรรยาอื่นชื่อขุนเณร ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ ได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าขุนเณร สุดยอดนักรบที่มีบทบาทเป็นนายทัพกองโจร คอยซุ่มโจมตี ดักปล้นเสบียงอาหาร ตัดกำลังกองทัพพม่าในสงครามเก้าทัพที่กาญจนบุรี)

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก และตั้งกรุงธนบุรีแล้ว ท่านสาจึงพาบุตรธิดาจากที่ซ่อนทหารพม่า มาถวายตัวเป็นมหาดเล็กส่วนธิดาก็ถวายทำราชการฝ่ายใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานที่ดินตำบลบ้านปูน ให้เป็นที่อยู่อาศัยมหาดเล็กทองอินรับราชการด้วยความขยันขันแข็งได้เป็นถึงหลวงฤทธิ์นายเวร แล้วออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุริยอภัย ได้รับความดีความชอบที่สุดเมื่อครั้งปราบจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรี

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ในพ.ศ. ๒๓๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์

About the Author

Share:
Tags: ภาพจิตรกรรม / พิพิธภัณฑ์ / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 5 / ปัญญา วิจินธนสาร / วังหลัง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ