Sunday, October 6, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

เก้ายอด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
จัดสร้างเรือนยอด ๙ ยอดนี้ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย ในโอกาสมหามงคล ดังนี้

๑. ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๕๙
๒. ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๖๐
๓. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๗ รอบใน พ.ศ. ๒๕๕๙
๔. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญ พระชนมายุครบ ๕ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๕๕

๕. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญ พระชนมายุครบ ๕ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๕๘
๖. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬา ภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชันษาครบ ๕ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๖๐
๗. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเจริญพระชันษาครบ ๕ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๕๔


นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 18
เรื่อง: ผศ. ประเทือง ครองอภิรดี
ภาพ: สถาบันสิริกิตติ์

เก้ายอด

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นามพระราชทานนี้ มีความหมายว่าเรือนยอดที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่

งานแสดง “ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ ๗” ปี ๒๕๕๙ นี้ มีงานศิลป์ชิ้นเยี่ยมและพิเศษ เป็นเรือนยอดสวยงามอร่ามเรือง ตั้งเด่นอยู่ กลางแจ้งอย่างถาวรทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม นอกเหนือจากงาน ศิลป์ล้ําค่าต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายในพระที่นั่ง เหมือนเช่นงานศิลป์แผ่นดินครั้งก่อนๆ

ลักษณะเป็นศาลาโถง คือ โล่ง ไม่มีฝาผนัง หลังคาจั่วแบบจตุรมุข มีมุขออกไปทั้ง ๔ ด้าน แต่เป็นจตุรมุขที่มีหลังคาซ้อนชั้นหลั่นลดกันอย่างวิจิตรพิสดาร มีหน้าบันเล็ก ที่เรียกว่า “มุขประเจิด” เป็นลูกเล่นใน การออกแบบที่เพิ่ม ความวิจิตรยิ่งขึ้น

ความพิเศษประการหนึ่งก็คือ เครื่องยอดเครื่องบน เครื่องตกแต่งหน้าบันที่เรียกว่า “เครื่องสายอง” และลวดลายประดับต่าง ๆ เช่น เครื่องตกแต่งเสา คันทวยค้ายันชายคา ตลอดจนพนักระหว่างเสาทั้งปวง ล้วนเป็น โลหะผสม อาคารที่มีเครื่องบนและเครื่องยอด ตลอดจนกระเบื้องมุงที่ทําด้วยแผ่นโลหะ ล้วนๆ แบบนี้ เห็นจะมีโลหะปราสาท วัด ราชนัดดารามวรวิหารเท่านั้น

ลวดลายที่ทําด้วยวัสดุโลหะนั้นย่อมทําได้ วิจิตรพิสดารกว่าไม้ ปลายของลายกระหนก ย่อมทําได้แหลมเรียวเพรียวบาง ทั้งยังถาวร ทนแดดทนฝนได้นานกว่าไม้ด้วย บรรดาวัดวาอารามเก่าๆ ของเราล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องไม้และปูนปั้นเสียโดยมาก จึงหา ที่ยืนยงคงอยู่ถึง ๑๐๐ ปีโดยไม่ผุพังและ ไม่ต้องซ่อมนั้นไม่มีเลย

เรือนยอดหลังนี้ตั้งอยู่บนฐาน ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ ทําเป็นฐานไพทีเดินได้โดยรอบ แล้ว มีบันไดขึ้นสู่ฐานชั้นที่สองอีก ๓ ด้านโครงสร้าง ฐานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กรุด้วยหินอ่อนจากเหมืองหินอ่อนคารารา ประเทศอิตาลีเหมืองเดียวกับหินอ่อนที่ใช้กรุพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นเหมืองหินอ่อนคุณภาพดีและใหญ่ ที่สุดในโลก อายุเก่าแก่ ๔๐๐ ปี และยัง ประกอบการอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้

หน้าบันใหญ่ด้านหน้าทางทิศใต้ ประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ภ.ป.ร.) พร้อมฉัตรเก้าชั้นและเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ อันได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ วาลวีชนี (แส้ขนจามรีและพัดโบก) มีเทวดาเชิญ พระแสงขรรค์ชัยศรีและธารพระกร (ไม้เท้า) ล่างสุดคือ รองพระบาทเชิงงอน ผูกเป็นลวดลายอย่างลงตัวปิดทองประดับกระจกสวยงาม
หลังคาที่ซ้อนชั้นล้วนมีเครื่องลำยอง ได้แก่ ช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ ที่ทำเป็นนาคสามเศียร บราลี (ซี่แหลมที่เรียงบนสันหลังคา) ทับแนวกระเบื้องแต่งด้วยลวดบัวและกระจังรวน กระเบื้องเกล็ดเต่าทำด้วยทองแดง ซึ่งยิ่งนานวันจะเกิดสนิมออกเป็นสีเขียวเหมือนหลังคาโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคมที่อยู่ข้างๆ
ปลายยอดทั้ง ๙ ยอด ทำเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์หล่อด้วยโลหะ ปิดทอง ประดับกระจก
นาคสะดุ้ง ต่อด้วยตัวเหราซึ่งคายนาคสามเศียรออกมา (บางแห่งเรียกว่า “คาบ” นาค แต่คำว่า “คาย” ฟังดูเป็นมิตรและโหดเหี้ยมน้อยกว่า) เศียรนาคทั้งสามสวมชฎายอดแหลมและเบือนหน้าเฉียงมาข้างหน้าเล็กน้อย จึงเรียกว่า “นาคเบือนทรงเครื่อง”
เสาย่อมุมประดับลวดลายตัวเสาและบัวปลายเสาอันวิจิตร มีโก่งคิ้วหรือสาหร่ายที่ตกแต่งมุมเสากับใต้ขอบหน้าบัน

ยอดแหลมทรงจอมแหแบบยอดมณฑปและปราสาท มีทั้งหมด ๙ ยอด มีหน้าบันเป็นจั่วสามเหลี่ยมอยู่ ๘ หน้าบัน ผูกลายเป็นตราอักษรพระปรมาภิไธยประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ภ.ป.ร.) และเจ้านายชั้นสูงพระองค์ต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องในพระองค์ท่านโดยสายตรง อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทร (อ.ป.ร.), สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ส.ก.),สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ว.ก.), สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ม.อ.), สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ส.ว.),สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ก.ว.), สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราช
กุมารี (ส.ธ.)

ส่วนอักษรพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (จ.ภ.) และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราช กัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (อ.ร.) นั้น ผูกเป็น ลายเพดานภายในของเรือน เป็นอันว่าครบถ้วนทุกพระองค์

ในทางสถาปัตยกรรมไทยประเพณีรูปแบบของอาคารจะแสดงฐานันดรด้วย เรือนที่มียอดปราสาทนี้จะเป็นอาคาร ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ยอดปราสาทนั้นคือสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของเทพตามคติที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ดุจสมมุติเทพนั่นเอง ดังนั้น ที่ ๔ มุมของสนามรอบเรือนยอดจึงมีรูปหล่อทองแดงเป็นสัตว์ ๔ ชนิด คือ ช้าง ม้า โค และสิงห์ ตามที่ระบุไว้ในไตรภูมิว่า เชิงเขาพระสุเมรุมีสัตว์ ประจําทิศเหล่านี้อาศัยอยู่ และเป็นต้นน้ําของ แม่น้ําสําคัญ ประติมากรรมรูปสัตว์ประจําทิศ ทั้ง ๔ นี้ตั้งอยู่กลางสระน้ําเล็กๆ มีน้ําพุพุ่ง ออกมาจากปากสัตว์ที่ฐานด้วย

ประติมากรรมรูปม้าสัญลักษณ์แห่งสระอโนดาต
ประติมากรรมช้างสำคัญที่ขึ้นระวางแล้วในรัชกาลที่ ๙ รอบฐานเรือนยอด
ความวิจิตรของเครื่องยอดช้างสามเศียรที่ไขลาและพรหมพักตร์รัดบัวกลุ่มที่ยอด เป็นงานประดับกระจกอันประณีต
มุขที่ยื่นออกมาโดยมีเสารับให้ตั้งอยู่บนหลังคาแบบนี้เรียกว่า มุขประเจิดเพิ่มความวิจิตรให้หลังคา
เรือนยอดจากด้านหลัง มีบันไดโค้งลงสู่มหานทีสีทันดร
เพดานกลางภายในเรือนยอดผูกลายที่มุมด้วยอักษรพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (จ.ภ.)
ระเบียงรอบฐานเป็นรูปเทพพนมยืน
ขอขอบคุณท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรม ราชินีนาถ หนึ่งในผู้อํานวยการสร้างเรือนยอด บรมมังคลานุสรณีย์กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูล
กระจังปฏิญาณรูปเทพพนม แต่งขอบเชิงชายหลังคา
แผงสาหร่ายรวงผึ้งลายราชวัตรโปร่ง ล้วนท่าด้วยโลหะ ปิดคิ้วกรอบหน้านาง มีลายอุบะห้อย

ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ได้มีพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสําคัญ เป็นช้างประจํารัชกาล ๑๐ ช้าง จึงได้จัดสร้าง รูปหล่อประติมากรรมรูปช้างสําคัญทั้ง ๑๐ ในท่าทาง ต่างกัน เรียงรอบเรือนยอดโดยทักษิณาวรรต

เรือนยอดนี้ออกแบบโดยนายสมชายศุภลักษณ์อําไพพร ส่วนประดับตกแต่งโลหะ ทั้งหมด มีต้นแบบจากไม้แกะสลักผลงานของ ช่างศิลปาชีพ สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ก่อนจะนําไปหล่อเป็นชิ้นงานโลหะ แล้วจึงนํา มาปิดทองล่องชาด ประดับกระจกเพื่อติดตั้ง กับส่วนต่าง ๆ ของอาคาร

ถ้าดูผ่านๆ เผินๆ ก็จะเห็นว่าเป็นเรือน หรือศาลาไทยแบบคุ้นตา แต่ถ้าพิจารณาใน รายละเอียด ชั้นเชิงของการผูกลาย จะมีความ แปลกใหม่น่าสนใจอย่างยิ่ง เช่น ช่อฟ้า บราลี ใบระกา หางหงส์ คันทวย ก็ไม่ใช่เรียบๆ เหมือนที่เคยเห็นทั่วๆ ไป ล้วนมีการ ประดิดประดอยขึ้นพิเศษเฉพาะงานนี้ ทุกองค์ ประกอบล้วนมีแนวคิดและสื่อความหมายเพื่อ ให้สมเป็นบรมมังคลานุสรณีย์โดยสมบูรณ์

เหนือสิ่งอื่นใด งานศิลป์แผ่นดินชิ้นใหม่ที่ งามเป็นเลิศชิ้นนี้ เกิดจากฝีมือของช่างศิลปา ชีพ สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนายากจนไร้ฝีมือ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทรงชุบเลี้ยงฝึกฝนจาก สถาบันสิริกิติ์จนมีฝีมือเป็นเลิศ ดังนั้น งานศิลป์ชิ้นนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่าง หาที่สุดมิได้อีกด้วยเช่นกัน

งดงามทั้งรูปแบบ งดงามทั้งความคิด และเรื่องราวความเป็นมาของงานศิลป์ชิ้นเอกของแผ่นดิน… เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์

About the Author

Share:
Tags: วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / architecture / interior / เก้ายอด / ฉบับที่ 18 / เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ / รัชกาลที่ ๙ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ