เรื่อง/ภาพ ดร.ณัฐธัญ มณีรัตน์

เมษายนเดือนแห่งการเริ่มต้นของชาวสยามประเทศแต่โบราณถือเป็นปีใหม่ของคนไทยและเป็นเทศกาลที่ชาวไทยทุกคนรอคอยวันเวลาที่เต็มไปด้วยความสุขทั้งงานบุญและการรดน้ำดำหัวตลอดจนการละเล่นที่สนุกสนาน ความเป็นมาของสงกรานต์มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สํกฺรานฺติแปลตรงตัวว่า “การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว” หรือ “การเปลี่ยนแปลง” การเริ่มต้นเข้าสู่ราศีเมษนอกจากประเทศไทยแล้วสงกรานต์ยังเป็นวันปีใหม่ในหลายวัฒนธรรมของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สงกรานต์ของไทยเรามีความเชื่อเรื่องนางสงกรานต์ซึ่งเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ ซึ่งสถิตณพรหมโลก ส่วนตำนานวันสงกรานต์นั้นเรื่องมีอยู่ว่า ท้าวกบิลพรหมได้ท้ากับธรรมบาลกุมารซึ่งชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ผู้ทรงปัญญา ท้าวกบิลพรหมจึงอยากทดลองความรู้ของบุรุษผู้นี้ ในการทดสอบปัญญาของธรรมบาลกุมารท้าวกบิลพรหมได้ตั้งคำถามเกี่ยวตำแหน่งของราศีในแต่ละเวลาในหนึ่งวัน หากธรรมบาลกุมารสามารถตอบคำถาม ท้าวกบิลพรหมจะยอมตัดเศียรของตนโดยให้เวลา7 วัน
การที่ธรรมบาลกุมารสามารถตอบคำถามได้เนื่องจากธรรมบาลกุมารได้ยินคำตอบจากนกอินทรีย์ที่กำลังคุยกันว่า ยามเช้าราศีอยู่ที่กน้า มนุษย์ตื่นขึ้นมาจึงล้างหน้า ยามกลางวันราศีอยูที่อกผู้คนจึงเอาน้ำรูปอก และตอนเย็นราศีอยู่ที่เท้าจึงต้องล้างเท้าก่อนนอน ธรรมบาลกุมาจึงทราบคำตอบ ท่านท้าวกบิลพรหมจะยอมตัดพระเศียรของท่าน เมื่อเวลาผ่านไปครบ 7 วัน ธรรมบาลกุมารสามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ถูกต้อง ท่านท้าวกบิลพรหมจึงตัดพระเศียรตนดังที่ได้กล่าวไว้ ท้าวกบิลพรหมได้เรียกพระธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์เข้ามาหาแล้วสั่งว่า อย่าให้เศียรของท่านตกถึงพื้นดินเป็นอันขาด ถ้าตกถึงพื้นดินเมื่อใดจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก อย่าให้เศียรของท่านตกลงไปในมหาสมุทร น้ำจะเหือดแห้งจนหมดไป อย่าทิ้งเศียรของท่านให้ลอยไปในอากาศ จะทำให้ฝนแล้งตลอดไป

ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้ธิดาของท่านนำเอาพานทองมารองรับพระเศียร และให้เทพบริษัททำประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วเชิญเข้าประดิษฐานในมณฑลถ้ำคันธธุลี ณ เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ เมื่อครบกำหนด 1 ปี ถือกันว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ เทพบริษัทแสนโกฏิพร้อมด้วยพระธิดาทั้ง 7 องค์ ผลัดเวรกันเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่แหนทำประทักษิณไปรอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่

วันมหาสงกรานต์ปี 2568 ตรงกับวันอาทิตย์ นามว่านาวทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังพญาครุฑเป็นพาหนะ ทำนายว่าผลิตผลเกษตรกรรมที่มีแนวโน้มดี แต่มักจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ผู้คนในวงวิชาการจะได้รับความเคารพนับถือและมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพหน้าที่
ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าบิดาของนางสงกรานต์เป็นถึงพระพรหม ทว่าพระพรหมองค์นี้คนทั่วไปกลับไม่ค่อยรู้จักนามของท่าน รูปลักษณะของท้าวกบิลพรหมที่ทำไว้สักการะนั้นจะเป็นเศียรพระพรหมมีสี่หน้าทว่าปรากฎแต่พระเศียรประดิษฐานบนพานไม่มีวรกายนี่อาจเป็นสาเหคุที่ท่านจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมบูชาเท่าที่ควร เมื่อพูดถึงพนะพรหมนั้นต้องแบ่งออกเป็นสองตำนานกล่าวคือปกรณัมแบบพราหมณ์-ฮินดูและปกรณัมแบบพุทธซึ่งมีความต่างกัน ซึ่งฉบับหน้าจะเล่าให้ฟังนะครับ