Wednesday, December 4, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ปลา ถวัลย์ ดัชนี ในเงื้อมมือดาลี

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ เมษายน 2567
เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

“ปลา” พ.ศ. ๒๕๑๐
เทคนิค หมึกดำบนกระดาษ
ขนาด ๗๕ x ๑๐๐ เซนติเมตร
ศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี

      เคยเห็นกันไหม มุกในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ที่คนกินข้าวคลุกน้ำปลา ในขณะที่ดูภาพวาดปลา จินตนาการไปว่ากำลังได้กินปลาตัวนั้นอยู่จริงๆ หากดูเผินๆ ก็แค่มุกขำๆ แต่ถ้ามาพินิจพิเคราะห์กันอย่างจริงจังผู้ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นคงรู้สึกอัดอั้นจนไม่มีทางจะขำออกเลย

          พอยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึง สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินไทยท่านหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตยากลำบาก กำพร้าพ่อแม่แต่ยังเล็ก เติบใหญ่มาแบบไม่มีสตางค์ต้องอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อจากความอนุเคราะห์จากพี่สาว และเพื่อนๆ เมื่อเลือกอาชีพเป็นจิตรกรก็ถูกดูถูกดูแคลน บ้างหาว่าฝีมือเหมือนเด็กวาด บ้างก็ว่าผลงานที่สร้างสรรค์ออกมามีเนื้อหาเคร่งเครียดไม่เหมาะจะซื้อหาไปประดับประดา ก็แน่ล่ะสิเพราะสุเชาว์เลือกที่จะวาดภาพที่ถ่ายทอด ชีวิต และระบายความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมาแบบไม่เสแสร้ง ผลงานที่สาธารณชนคุ้นตาจึงเป็นภาพเด็กชายกับพี่สาวที่กำลังหิวโหย ภาพบ้านในอุดมคติซึ่งสุเชาว์ไม่มีโอกาสจะได้มี รวมภาพปลาแบบเต็มๆ ตัว และก้างปลานอนในจาน จินตนาการถึงอาหารดีๆ ที่นานๆ ถึงจะมีโอกาสตกถึงท้องสักที

‘ปลา’ พ.ศ. ๒๕๑๐  
เทคนิค หมึกดำบนกระดาษ
ขนาด ๗๕ x ๑๐๐ เซนติเมตร
ศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี

         สุเชาว์คิดถึงแต่ปลาของสุเชาว์มาโดยตลอด เพิ่งจะมีปันใจไปเมื่อเร็วๆ นี้ตอนที่ได้พบภาพวาดชิ้นพิเศษฝีมือศิลปินไทยอีกท่านซึ่งมีเนื้อหาประมาณนี้ถึง ๒ ชิ้นพร้อมๆ กัน ผลงานชิ้นแรกเป็นรูปปลาตัวเขื่อง หน้าตาดุดัน มีเขี้ยวโค้งยาว สีดำทะมึนนอนอยู่บนเขียง รอบๆ มีมือมนุษย์ลอยๆ อยู่เฉพาะมือไม่มีแขน ในท่าทางที่หลากหลายคล้ายกำลังจะจัดการด้วยกรรมวิธีต่างๆ เพื่อสยบความเกรี้ยวกราดของอสูรกายจากทะเลให้กลายเป็นเมนูอันโอชะ

         ส่วนผลงานอีกชิ้นเป็นภาพปลาที่ถูกแทะเนื้อไปหมดจนเหลือแต่หัวกับก้างวางอยู่ในจาน ข้างๆ มีปลาอีก ๒ ตัววางอยู่บนโต๊ะซึ่งก็คงหนีไม่พ้นชะตาเดียวกัน ต้องกลายเป็นอาหารในที่สุด บริเวณตรงกลางด้านล่างของภาพมีมือซ้ายและมือขวาแบออกคู่กันจากมุมของเจ้าของมือ เหมือนบอกเป็นนัยว่าได้จัดการกับปลาตัวในจานเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วด้วยสองมือ และปากของฉันเอง

          ผลงานแปลกตาทั้ง ๒ ชิ้นนี้สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยนักศึกษาศิลปะนามว่า ถวัลย์ ดัชนี ชายหนุ่มผู้กำลังค้นหาตัวตนท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันแตกต่างจากเชียงรายบ้านเกิดแบบคนละโลก โดยก่อนหน้านี้ไม่นานถวัลย์เพิ่งได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการศึกษาของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้เข้าเรียนปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ และผังเมือง ผนวกด้วยปริญญาเอกด้านอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ในราชวิทยาลัยศิลปะ Rijks Akademic van Beeldende Kunsten

ถวัลย์ ดัชนี ขณะเรียนอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพจากหนังสือ ถวัลย์ ดัชนี ไตรสูรย์)

         ทุนการศึกษาที่ได้รับนั้นถึงจะไม่ใช่น้อยแต่ก็ครอบคลุมแค่ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบพออยู่ได้ จะอยู่อย่างหรูหรากินของดีๆ ในภัตตาคารนั้นเป็นเรื่องเพ้อฝันสำหรับถวัลย์ เมนูปลาเป็นตัวๆ แบบเหลา ถ้าของบ้านเราแพงแค่ไหน ของฝรั่งยิ่งแพงกว่าเป็นเท่าๆ ปลาหน้าตาแปลกๆ แบบนี้ตามร้านอาหารทะเลห้าดาวในยุโรป เขาจะเอามาวางบนถาดน้ำแข็งเรียงโชว์ไว้หน้าร้าน ไม่ได้เลี้ยงใส่ตู้ไว้เหมือนร้านอาหารจีน หากลูกค้าใจถึงท่านไหนตัดสินใจออร์เดอร์เขาก็จะมาเอาไปปรุงให้ ภาพทั้งสองนี้ถวัลย์จึงใช้ความเป็นศิลปินจินตนาการออกมาเป็นภาพวาดราวกับว่าได้จัดการและกินปลาที่หน้าตา และค่าตัวมหาโหดเหล่านั้นจริงๆ โดยมีต้นทุนเพียงแค่ค่ากระดาษและสี

         ภาพปลาทั้ง ๒ ชิ้นไม่ได้เป็นเพียงการระบายความอัดอั้นผ่านมโนภาพของถวัลย์เท่านั้น แต่หากพิจารณากันให้ถี่ถ้วนแล้ว ผลงานชุดนี้นับว่ามีจุดพลิกผันที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งหลายประการ

        โดยผลงานจิตรกรรมของถวัลย์สมัยที่มีชื่อเสียงนั้น นับได้ว่าอยู่ในลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ หรือรูปแบบเหนือจริง เช่น การวาดมนุษย์ที่มีหัวเป็นสัตว์ วาดสถาปัตยกรรมไทยให้เป็นอวัยวะของร่างกายสิ่งมีชีวิต หรือวาดแมลง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก ให้มีขนาดใหญ่เกินธรรมชาติ โดยสมัยที่ถวัลย์ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนได้รับทุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ภาพวาดของถวัลย์นั้นมีรูปแบบที่หลากหลายมาก มีทั้งรูปแบบเรียลลิสม์ อิมเพรสชั่นนิสม์ และคิวบิสม์ ภาพปลาทั้ง ๒ ชิ้นนี้เป็นภาพแรกๆ ในวิวัฒนาการของผลงานที่ถวัลย์ตัดสินใจมุ่งไปในแนวทางแบบเหนือจริง หากดูจากการวางองค์ประกอบที่ไม่สนใจขนาดของวัตถุ การจัดแสงแบบสว่างจ้าตัดกับเงาที่มืดมิด และภาพมือที่ล่องลอยอยู่ในภาพ จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับผลงานของผู้นำลัทธิเซอร์เรียลลิสม์อย่าง ซัลวาดอร์ ดาลี เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ นั้นก็ตรงกับยุคที่ ดาลี ในวัย ๖๓ ยังคงสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่ และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตกพอดิบพอดี นักเรียนทุนอย่างถวัลย์จึงต้องมีโอกาสได้เห็นผลงานชิ้นจริงของดาลีที่มีจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทั่วยุโรปแน่นอน อีกทั้งยังคงได้รับอิทธิพลมาอย่างมีนัยยะสำคัญ

          ภาพปลาทั้งคู่ได้รวมเทคนิคการวาดภาพที่ถวัลย์ฝึกฝนจนช่ำชองในกาลเวลาต่อๆ มาเอาไว้ทุกแบบในที่เดียว ถวัลย์เริ่มใช้เทคนิคการตวัดพู่กันอย่างรวดเร็ว ป้ายเป็นเส้นหนาๆ ให้เห็นทีแปรงชัดๆ พลิ้วๆ เพื่อให้ภาพดูไม่ตาย สร้างความรู้สึกเคลื่อนไหว ในการวาดปลาตัวใหญ่ ซึ่งเทคนิคนี้ถวัลย์ฝึกฝนต่อมาอย่างเชี่ยวชาญจนภายหลังสามารถการปาดสีด้วยแปรงขนาดใหญ่อย่างฉับไว ใช้เส้นเพียงไม่กี่เส้นเกิดเป็นภาพสิงห์สาราสัตว์ที่เต็มเปี่ยมด้วยพละกำลัง ดิ้นพล่านดุจมีชีวิต

          ส่วนบริเวณมือที่รายล้อมปลา ถวัลย์ใช้พู่กันค่อยๆ ปาดสีเป็นเส้นเล็กๆ ขนานกัน ฝนสีดำทับซ้อนเป็นชั้นๆ ให้มีน้ำหนักอ่อนแก่ สร้างปริมาตรสามมิติ ในเวลาต่อมาถวัลย์นำเทคนิคการฝนเส้นแบบนี้มาใช้กับการวาดภาพด้วยปากกาลูกลื่น ซึ่งควบคุมน้ำหมึกได้ง่ายกว่า และเปิดโอกาสให้สามาถใส่เนื้อหาขนาดเล็กลงไปในภาพได้ ยุคถัดมาเราจึงได้เห็นผลงานเทคนิคปากกาลูกลื่นบนกระดาษของถวัลย์ที่มีรายละเอียดระยิบระยับในทุกอณูจนแทบจะต้องเอาแว่นขยายส่อง

          นอกเหนือจากเทคนิคที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ในภาพปลาถวัลย์ยังใช้วิธีกลึงพู่กันให้เกิดแสงเงา รวมถึงเลือกใช้สีดำสีเดียวแบบโมโนโทนในการสร้างสรรค์ จัดหนัก จัดเต็ม ใส่จนครบทุกเทคนิคลงไปในภาพปลา ราวกับจะพยายามแก้คำวิจารณ์ที่ครั้งหนึ่งอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวกับถวัลย์ไว้ว่า ‘งานของนายมีแต่ถูกต้อง มันเป็นงานเรียน เป็นอะคาเดมิคนะนาย มันไม่มีชีวิต ปลาของนายว่ายน้ำไม่ได้ ไม่มีกลิ่นคาว’ ซึ่งเทคนิควิธีการทั้งหลายเหล่านี้ที่ริเริ่มขณะยังเป็นนักศึกษา ถวัลย์ได้นำมาพัฒนาต่อยอดจนช่ำชอง และปรับใช้ในผลงานชุดต่อๆ มา ไปสู่สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของถวัลย์ที่สาธารณชนคุ้นตาในที่สุด

          ภาพปลาจากยุคค้นหาตัวตนจึงเปรียบเสมือนบันไดขั้นสำคัญที่พา ถวัลย์ ดัชนี ก้าวขึ้นไปสู่ความสำเร็จสูงสุดในอาชีพศิลปิน จุดที่ไม่เคยมีศิลปินไทยผู้ใดก้าวล้ำไปถึงมาก่อน ดุจการบุกป่าฝ่าดงกรุยทางอันยากลำบากเพื่อเป็นแนวทางให้ศิลปินรุ่นต่อๆ มาได้ก้าวตาม

About the Author

Share:
Tags: thaiartist / นิตยสารอนุรักษ์ / พิริยะ วัชจิตพันธ์ / อนุรักษ์ / The Art Auction Center / anurakmagazine / เมษายน 2567 / ศิลปิน / dali / ตัวแน่น / surrealism / ศิลปินแห่งชาติ / ฉบับที่ 73 / thai artist / ปลา / thawan duchanee / ถวัลย์ ดัชนี /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ