Friday, April 18, 2025
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ดำรง วงศ์อุปราช กับบ้านชาวประมงที่มงลง

เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

            ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 ก็เหมือนทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้มีเหล่าศิลปินชั้นแนวหน้าส่งผลงาน เพื่อร่วมประกวดประขันกันมากมายในหลากหลายหมวดหมู่อันประกอบไปด้วยจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพเอกรงค์ แกะแม่พิมพ์ไม้ ศิลปตกแต่ง ศิลปในลักษณะไทยโบราณ และศิลปประยุกต์

           เหตุที่ศิลปินทุกแขนงในยุคนั้นตั้งใจอย่างสุดความสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ล้ำเลิศ เพื่อผ่านด่านสุดหินได้ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดง และประกวดในเวทีระดับประเทศนี้ เพราะต่างหมายมั่นปั้นมือว่าจะมีโอกาสคว้ารางวัลอันยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการศิลปะไทย เป็นการการันตีความสามารถ และแจ้งเกิดเปิดตัวให้โด่งดังเปรี้ยงป้าง

ดำรง วงศ์อุปราช กับผลงาน ‘บ้านชาวประมง‘ (ซ้าย) และ ‘หมู่บ้านชาวประมง’ (ขวา) ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 พ.ศ. 2503 (ภาพจากหนังสือที่ระลึกเนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรง วงศ์อุปราช)

           การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติจัดลำดับรางวัลเป็นเกียรตินิยมเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเหรียญรางวัลพร้อมประกาศนียบัตรพ่วงด้วยเงินรางวัล โดยกติกาในการเฟ้นหาผู้ชนะในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินั้นต่างกับการแข่งขันกีฬาตรงที่ว่าคณะกรรมการมีสิทธิ์ที่จะมอบ ไม่มอบ หรือมอบเพียงบางรางวัล ให้กับผลงานศิลปะที่ถูกคัดสรรมาแสดงในแต่ละประเภทได้ และไม่จำเป็นจะต้องมีผู้ชนะให้ครบทุกรางวัลเสมอไป จึงเป็นเหตุให้การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 นี้มีผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองเพียงชิ้นเดียว จากทั้งงานที่มีผลงานร่วมแสดงในทุกๆหมวดหมู่รวม ๆ กันกว่า 200 ชิ้น มิหนำซ้ำในขณะที่งานนี้มีศิลปินอาชีพ ศิลปินอาวุโส ซึ่งแต่ละท่านล้วนเก่งกาจมาลงสนามแข่งขันกันเพียบ แต่ผู้ชนะเลิศเพียงหนึ่งเดียวผู้นั้นกลับเป็นนักศึกษาหนุ่มที่ร่ำเรียนศิลปะอยู่ และยังไม่ทันจะจบเลยด้วยซ้ำ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง แก่ ดำรง วงศ์อุปราช ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 พ.ศ. 2503 (ภาพจากหนังสือที่ระลึกเนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรง วงศ์อุปราช)

            นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สร้างตำนานมงลงแบบโด่เด่คนเดียวในงาน นั้นมีนามว่า ดำรง วงศ์อุปราช โดยในสูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล พรรณนาถึงผลงานของดำรงไว้อย่างชื่นชมว่า

            ผลงานศิลปะฝีมือดำรง ที่ผ่านการคัดสรรให้เข้าร่วมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2503 ในครั้งนี้มีมากถึง 9 ชิ้น ทั้งหมดล้วนเป็นภาพวิวทิวทัศน์เช่นภาพ คลอง บ้านชาวนา บ้านริมทะเล บ้านเชิงเขา ที่ดำรงบรรจงพัฒนาต่อยอดจากผลงานสร้างชื่อที่ใช้ความเป็นไทยในชนบทมาเป็นแรงบันดาลใจ และทำให้ดำรงได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญเงินในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติมาแล้วหมาด ๆ เมื่อปีก่อนหน้า

            ในบรรดาผลงานที่ได้แขวนโชว์ทั้ง 9 ชิ้นนี้ มี 2 ชิ้นที่โดดเด่นเป็นพิเศษซึ่งมีหน้าตา และชื่อแทบจะเหมือนกันคือภาพ ‘บ้านชาวประมง’ และภาพ ‘หมู่บ้านชาวประมง’ ผลงานชุดนี้เกิดขึ้นจากการที่ดำรงได้ไปค้างแรมที่บ้านเพื่อนแถวปากน้ำเมื่อช่วงปลายปีพ.ศ. 2502 แล้วเกิดประทับใจกับบรรยากาศของหมู่บ้านชาวประมงสไตล์ดั้งเดิมที่พบเห็น หลังจากนั้นเมื่อดำรงกลับมายังบ้านเช่าในสวนย่านนนทบุรีจึงเกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอันลือเลื่องคู่นี้ โดยเริ่มตระเตรียมวัสดุด้วยการนำผ้าฝ้ายดิบผืนบาง ๆ ซึ่งซื้อหาได้ง่ายราคาไม่แพง  มาขึงบนเฟรมไม้ แล้วจึงเริ่มใช้พู่กันค่อย ๆ ระบายด้วยสีฝุ่นอย่างดียี่ห้อ แซนฟอร์ด และ เพลลิแกน ที่นำเข้าจากประเทศอังกฤษ และเยอรมัน ดำรงเลือกใช้เฉพาะสีโทนธรรมชาติให้เข้ากับธีมชนบท เช่น สีเหลืองโอเคอร์ สีน้ำตาล สีน้ำตาลแดง สีเทา และสีเทาดำ

ข้อความที่เขียนอยู่ด้านหลังภาพ ‘บ้านชาวประมง‘

            ภาพวาดหมู่บ้านชาวประมงโดยปกติแล้วต้องนับว่าอยู่หมวดเดียวกันกับภาพตลาดน้ำ ภาพทุ่งนา หรือภาพวัดวาอาราม ภาพที่มีเนื้อหาไทย ๆ เทือกนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวต่างชาติ ซึ่งก็คือ ลูกค้าหลักผู้ซื้อหาผลงานศิลปะไทยในช่วงทศวรรษที่ 2500 ต้น ๆ ด้วยอุปสงค์ดังกล่าวจิตรกรน้อยใหญ่จึงกระหน่ำปั๊มภาพแนวนี้ออกมาอย่างรีบ ๆ ทีละมาก ๆ เพื่อป้อนแกลเลอรี และร้านขายของที่ระลึกทั่วบ้านทั่วเมือง ไปที่ไหนก็เห็นกันเกร่อจนชินตาดุจดั่งสินค้าดาด ๆ ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมกระทบจิตใจอย่างไรใด ๆ ให้กับอาร์ตเลิฟเวอร์ตัวจริงเสียงจริงได้ พูดง่าย ๆ คือหากใครอุตริส่งภาพตลาด ๆ ทำนองนี้มาร่วมประชันในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ คณะกรรมการก็คงจะคัดออกตั้งแต่ยังไม่ทันจะแกะห่อ

            มาถึงตรงนี้หลายท่านคงพลันสงสัย ว่าเหตุไฉนภาพหมู่บ้านชาวประมงที่เนื้อหาแสนจะปกติของดำรงถึงได้ร่วมแสดง แถมยังชนะเลิศเหรียญทองเหรียญเดียวจากงานใหญ่ระดับชาตินี้ได้ ต้องบอกว่าเหตุที่หมู่บ้านชาวประมงของดำรงวิเศษวิโสเข้าขั้นสุดก็เพราะมีส่วนผสมที่ลงตัวอย่างพอดิบพอดีของเนื้อหา รูปแบบ เอกลักษณ์ และฝีมือในการสร้างสรรค์ หมู่บ้านชาวประมงในภาพของดำรงไม่มีหลักแหล่งอยู่จริง บ้านทุกๆหลังถูกถ่ายทอดออกมาจากความทรงจำที่ได้สัมผัสจากสิ่งแวดล้อมอันตราตรึงใจ ทุก ๆ องค์ประกอบของภาพถูกจัดเรียงขึ้นใหม่จากจินตนาการเกิดเป็นบ้านในอุดมคติ

‘บ้านชาวประมง‘ พ.ศ. 2503 เทคนิคสีฝุ่นบนผ้าฝ้ายดิบ ขนาด 91 x 118 เซนติเมตร

            ณ ห้วงเวลาที่กระแสความนิยมการวาดภาพสีน้ำมันที่มีฝีแปรงรวดเร็วปรู้ดปร้าดฉับไวสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์กำลังเชี่ยวกราก จิตรกรรมแนว จับแสง แสดงอารมณ์ ไม่เน้นรายละเอียด ที่มีรากเหง้ามาจากยุโรปนี้ก็คือ รูปแบบผลงานที่กวาดรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งก่อนหน้ามาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ตัวดำรงเองก็เคยชื่นชอบและสร้างสรรค์ผลงานแนวนี้มาก่อน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหากส่งผลงานสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์เข้าประชันอาจเพิ่มโอกาสให้ได้รับรางวัล แต่ดำรงกลับตัดสินใจกระชากอารมณ์ไปวาดภาพแนววิจิตรบรรจง ค่อย ๆ เติม ค่อยๆแต้ม ใส่ทุกรายละเอียดแบบครบ ๆ ชัด ๆ เน้น ๆเห็นกันจะ ๆ ไม่ต้องเดาว่าวาดอะไร ภาพบ้านของดำรงมีหมดตั้งแต่ไม้ไผ่ผ่าซีกทุกเส้นที่เอามาสานขัดแตะเป็นฝา ใบจากแต่ละใบที่ใช้มุงหลังคา แผ่นไม้พื้น จั่ว คาน เสาบ้าน บันได ครบครัน มัดเชือกเข้าลิ่มกันพอดิบพอดี ตะกร้าที่ต่างใบต่างก็สานขึ้นมาด้วยลวดลายรูปร่างแตกต่างแล้วแต่วัตถุประสงค์การใช้อย่างไม่มีซ้ำ ในภาพยังมีเรือ ไม้พาย ถัง แห อวน สุ่ม ไซ กระชอน ประมาณว่าใครมีอุปกรณ์ตามลิสต์นี้ก็พร้อมออกทะเลหาปลาได้ทันที

About the Author

Share:
Tags: thaiartist / พิชัย นิรันต์ / ดำรง วงศ์อุปราช / Thai National Artist / นิตยสารอนุรักษ์ / หมู่บ้านชาวประมง / อนุรักษ์ / ศิลป พีระศรี / ศิลปะ / damrong wong-uparaj / ตัวแน่น / ศิลปินแห่งชาติ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ