Friday, April 18, 2025
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

บันทึก…ตามรอยสังสินไซ ในวัดมอญ

          หากพูดถึงนิทานมุขปาฐะเรื่อง “สังสินไซ” คนที่ได้ยินอาจจะงุนงงกันยกใหญ่ แต่ถ้าถามว่าใครรู้จักวรรณคดีเรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” บ้าง อาจจะมีมือหลายๆ ข้างชูขึ้นแทนคำตอบรับ แต่ที่จริงแล้ววรรณกรรมทั้ง ๒ เป็นเรื่องเดียวกัน!

          ย้อนเวลากลับไปในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้น คือ “การสังคายนาครั้งที่ ๘” เมื่อพุทธศักราช ๒๐๒๐ ที่วัดเจ็ดยอด (วัดมหาโพธาราม) ในครั้งนั้นเกิดวรรณกรรมทางพุทธศาสนาขึ้นมากมายเนื่องด้วยความศรัทธาที่มีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สังสินไซก็เป็น ๑ ในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในช่วงนั้นจึงจัดเป็นชาดกนอกนิบาต ผู้ที่จะจัดสังคายนาได้จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจมากในยุคสมัยนั้นจึงจะสามารถทำให้ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาเดินทางมาร่วมกันสังคายนาพระไตรปิฎกที่อาณาจักรของพระองค์

          สำหรับเรื่องสังสินไซแม้ไม่ทราบว่าผู้แต่งเป็นใคร แต่สันนิษฐานว่าเป็นภิกษุที่มาร่วมงาน ซึ่งท่านต้องเป็นพระที่ความรู้แตกฉานทั้งเรื่องไตรภูมิ ดาราศาสตร์ พืชพรรณ สัตว์ และการเมืองการปกครอง ทั้งยังมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ชนิดหาตัวจับยาก เป็นวรรณกรรมที่อ่านเอาเรื่องก็ได้ อ่านเอารสก็ได้

          ด้วยความสนุกของเรื่องราว เมื่อคณะสงฆ์แต่ละประเทศที่มาร่วมทำการสังคายนากลับบ้านกลับเมืองของตนไปก็นำวรรณกรรมเรื่องนี้กลับไปด้วย และเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไปผ่านทางสำนักเรียน โดยในบ้านเราทางภาคเหนือเรียก “สังข์สิงห์ธนูชัย”  ภาคกลางเรียก “สังข์ศิลป์ชัย” ภาคอีสานเรียก “สังสินไซ” (ภาคอีสานออกเสียงอักษร ช. เป็น ซ.) นิยมเรียกย่อๆ ว่า “สินไซ” ส่วนภาคใต้เรียก “สังข์ศิลป์ชัย” แบบภาคกลาง

        พระพุทธรูปประธานทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ด้านหลังเหนือกรอบหน้าต่างเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าและพระสาวก

          คราวนี้ขยับไปดูประเทศเพื่อนบ้านของเรากันบ้าง มอญ (พม่า) เรียก “สังคทา” สาธารณรัฐประชาชนลาว เรียกเหมือนภาคอีสานว่า “สังสินไซ” หรือ “สินไซ” ส่วนกัมพูชาเรียก “เสียงสิลเจย” และราชอาณาจักรไทยเราเรียก “สังข์สินไซ”

ดังนั้นหากจะเรียกว่าสังสินไซเป็นวรรณกรรมอุษาคเนย์ก็เห็นจะไม่ผิด

          เรื่องราวเริ่มต้นจากยักษ์กุมภัณฑ์กระสันอยากได้เมีย จึงไปลักพาตัวนางสุมณฑาซึ่งเป็นน้องสาวของพระยากุศราชเจ้าเมืองเป็งจาลไปเป็นเมีย พระยากุศราชจึงออกบวชเพื่อธุดงค์ตามหาน้องสาว แต่ปรากฏว่าไปได้มเหสีมาเพิ่มอีก ๗ นาง รวมกับนางจันทาที่เป็นมเหสีองค์แรก เป็น ๘ นาง

          พระยากุศราชได้ออกคำสั่งกับมเหสีทั้ง ๘ ว่า ถ้าใครสามารถให้กำเนิดพระโอรสที่เก่งกล้าสามารถปราบยักษ์ได้ก็จะยกเมืองให้ครอง น่าอัศจรรย์ตามไสตล์นิยายที่มเหสีทั้ง ๘ ตั้งครรภ์ขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อครบกำหนด ๙ เดือน ต่างก็เจ็บท้องคลอดพร้อมกัน ปรากฏว่านางจันทาคลอดลูกออกมาเป็นคชสีห์ นางลุนคลอดลูกเป็นฝาแฝด คนหนึ่งเป็นหอยสังข์ คนหนึ่งเป็นกุมารน้อยน่าเอ็นดูในมือถือพระขรรค์และธนูศิลป์ออกมาด้วย ส่วนมเหสีอีก ๖ นาง ต่างคลอดลูกออกมาเป็นชายเช่นกัน ทั้ง ๖ นางได้ติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าพระโอรสของนางจันทา และนางลุนนั้นเป็นกาลกิณีต่อบ้านเมือง จึงถูกขับเนรเทศไปอยู่ในป่า

          ครั้นบรรดากุมารเจริญวัยขึ้นพระยากุศราชได้บัญชาให้กุมารทั้ง ๖ ไปตามอากลับคืนมา เหมือนโชคชะตาเล่นตลก กุมารทั้ง ๖ ไปพบสิงหราช สุวรรณสังข์ สังสินไซ ที่ในป่า เมื่อรู้ว่าเป็นพี่น้องคนละแม่ จึงหลอกว่าพระราชบิดาให้อภัยแล้ว หากไปตามหาอากลับคืนมาได้จะยกเมืองให้ครองจึงเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางผจญอันตรายทั้ง ๗ ย่านน้ำ ๙ ด่านมหาภัย ของ ๓ กุมาร สิงหราช สุวรรณสังข์ และสังสินไซ…

          ความที่บทสรุปของเรื่องที่กล่าวว่าในกาลภายหน้าสังสินไซจะไปเกิดเป็นพระโคดมพุทธเจ้า จึงทำให้ชาวลาวและชาวอีสานมีความนิยมวรรณคดีเรื่องนี้มาก โดยทางสปป.ลาว ในสมัยประธานประเทศไกสอน พมวิหาน ท่านได้นำวรรณกรรมนี้มาเป็นวาทะสร้างชาติว่า “ซาวหนุ่มจ่งเป็นดั่งนกอินทรี ที่บ่หวั่นกัว ต่อพะยุลมแดง จ่งกายเป็นสินไซของยุคสมัยพวกเฮา” และ สำหรับภาคอีสานมักจะพบฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง) เรื่องสังสินไซปรากฏอยู่ตามวัดโบราณและวัดสมัยใหม่บางแห่ง

          หากเปรียบว่าเพราะชาวลาวยังมีศรัทธาในพุทธศาสนาอยู่มาก ถ้าเช่นนั้นชนชาติอื่นที่มีความศรัทธาเฉกเดียวกันและรู้จักวรรณกรรมเรื่องนี้ จะยังมีร่องของสังสินไซปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยหรือไม่

          จากหนังสือ “สังข์ศิลป์ชัย ฉบับ กลอนสวด” ที่จัดพิมพ์โดยองค์การค้า ของคุรุสภา ฉบับที่เขียนโดยตาคง-ยายมูน ซึ่งเป็นคนกรุงเก่า ได้เขียนกลอนสวดนี้ขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีข้อมูลของเรื่องเล่าที่ระบุไว้หลังบทไหว้ครูว่า

ข้าขอแต่งบทกลอน                    นียายมอญแต่ก่อนมา

เรื่องราวนานครคร่า                นานหนักหนามาก่อนไกล

          สมุดก็สูญหาย               เพราะวุ่นวายเสียเมืองใหญ่

บทกลอนข้าจำได้                      ผูกเอาไว้เป็นนียาย

ภาพจิตรกรรมในวิหาร ภาพพระพุทธเจ้าเขียนอย่างคติช่างมอญที่ผิวพระวรกายสีทอง พระศกดำ ทรงจีวรสีแดง พระรัศมีสีทอง

         

          จึงสันนิษฐานได้ว่าเมื่อครั้งที่อาณาจักรมอญในยุคหงสาวดีล่มสลายจากการรุกรานของราชวงศ์ตองอู ชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเจ้ากรุงอยุธยา ในการอพยพผู้คนช่วงสงครามย่อมต้องมีช่างฝีมือ นักปราชญ์ แรงงานแขนงต่างๆ ติดตามมาด้วย และแน่นอนว่า “สังคทา” ย่อมติดตามมาด้วย ดังนั้นวัดมอญในสมัยอยุธยาจึงเป็นเป้าหมายในการสำรวจครั้งนี้

          ในพงศาวดารมีการบันทึกว่าชาวมอญมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยทั้งหมด ๙ ครั้ง จังหวัดนนทบุรีเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีกลุ่มชาวมอญขนาดใหญ่ โดยหลักฐานเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาวมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ “วัดชมภูเวก”

          วัดชมภูเวกเชื่อกันว่าสร้างโดยภิกษุมอญชื่อ “พ่อปู่ศรี ชมภู” เมื่อพุทธศักราช ๒๒๒๕ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมเรียก “วัดชมภูวิเวก” ต่อมาคนนิยมเรียก “วัดชมภูเวก” จนถึงปัจจุบัน

รถไฟฟ้าสายสีม่วงจากสถานีเตาปูนพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วข้ามเขตจังหวัด จากทิวทัศน์ตึกสูงของกรุงเทพฯ เมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดนนทบุรีจึงสลับเป็นเรือกสวนไร่นาสีเขียวให้เห็นบ้าง ขบวนรถไฟจอดนิ่งสนิทที่สถานีพระนั่งเกล้า ลงบันไดทางออกที่ ๒ จะเลือกต่อรถสองแถว (สายท่าน้ำนนท์-สนามบินน้ำ) หรือ รถกระป๊อ (ท่าน้ำนนท์-วัดชมภูเวก)

          จากปากทางที่รถโดยสารมาส่งเดินไปตามทางเดินร่มรื่นไม่ไกล เสาหงที่เบื้องหน้าบอกให้รู้ว่าได้มาถึงวัดชมภูเวก พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมอญแล้ว วัดโบราณแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา อายุราว ๓๕๐ ปี เมื่อเดินตามเสาหงส์ไป โบสถ์เก่าทรงวิลันดาก็ปรากฏขึ้นแก่สายตา

          โบสถ์เก่าหลังนี้มีทางเข้าออกทางเดียวอย่างที่เรียกว่า “โบสถ์มหาอุตม์” ว่ากันว่าโบสถ์มหาอุตม์นี้ปลุกเสกเครื่องรางของขลังได้ทรงพุทธานุภาพยิ่งนัก หน้าบันของโบสถ์ประดับปูนปั้นลายดอกพุดตาน กลางดอกเป็นเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายพฤกษาอ่อนหวานแทบจะหยด

          เมื่อเดินผ่านพาไลมุงกระเบื้องดินขอเข้าไปในโบสถ์ก็คล้ายดังย้อนมิติเวลากลับไปเมื่อสามร้อยปีก่อน ฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังจนเต็ม โดยรองพื้นด้วยกาวเม็ดมะขามและดินสอพอง ซึ่งช่วยในการดูดซับสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ได้เป็นอย่างดี

          ระหว่างที่ค้นหาภาพจิตรกรรมสังสินไซ ยังได้พบภาพจิตรกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจเป็นต้นว่า ภาพอดีตพระพุทธเจ้า

ภาพเสาหงส์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองหงสาวดี เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังเนินแห่งหนึ่ง ทรงเห็นหงส์ ๒ ตัวเล่นน้ำจึงมีพุทธทำนายว่า ในภายหน้าที่แห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง พระพุทธศาสนาจะเฟื่องฟู ต่อมาเนินบริเวณดังกล่าวจึงกล่าวเป็นเมืองหงสาวดี

About the Author

Share:
Tags: สังสินไซ / วัดมอญ / สังข์ศิลป์ชัย /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ