เรื่อง / ภาพ : ดร. ณัฐธัญ มณีรัตน์
ในฉบับที่ผ่านมาได้นำเสนอชีวประวัติของ “หลวงปู่บุญ ขันธโชติ” ยอดพระเกจิอาจารย์ปฐมจารย์ผู้เรืองอิทธิฤทธิ์แห่งวัดกลางบางแก้วจบไปแล้วซึ่งหลวงปู่บุญ ท่านนี้เป็นถึงพระสังฆาธิการผู้ใหญ่ระดับเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี ปกครองท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี สมุทรสาครและนครปฐม เป็นที่เกรงขามต่อคณะสงฆ์สมัยนั้นซึ่งแม้แต่ “สมเด็จพระสังฆราชแพ ติสฺสเทโว วัดสุทัศน์เทพวรารามฯ” ประมุขสงฆ์ไทยในยุคนั้น ยังยอมรับนับถือและชื่นชมในบารมีของหลวงปู่ นอกจากงานด้านคณะสงฆ์แล้ว หลวงปู่ยังเป็นผู้ที่มีความแตกฉานในด้านวิปัสนากรรมฐาน, แพทย์แผนโบราณของไทย และ พุทธาคม อย่างเอกอุ ได้การสร้างพระเครื่องบูชาและเครื่องรางของขลังหลายชนิด มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังองค์สำคัญๆในยุคต่อมาต่างเดินทางเข้ากราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เป็นจำนวนมาก เพราะท่านเหล่านั้นต่างก็ทราบดีว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่บุญ และสำนักวัดกลางบางแก้วนั้นถือเป็นตักศิลาคลังความรู้สำคัญทางพระเวทย์วิทยาคมนั่นเอง และในบรรดาลูกศิษย์ของท่านก็ได้นำวิชาที่รับจากท่านออกไปสร้างชื่อเสียงเป็นจำนวนมากอาทิเช่น
เจ้าคุณฯศรีสนธิ์ หรือ พระศรีสัจจะญาณมุนี ฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชแพ แห่งวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ เจ้าตำหรับพระกริ่งอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเจ้าคุณศรีสนธิ์ท่านนี้เป็นท่านเดียวที่ได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระสังฆราชแพฯ ให้เป็นเจ้าพิธีในการจัดสร้างพระกริ่งและหล่อหลอมวัตถุมงคลต่างๆของสมเด็จพระสังฆราชแพ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสมเด็จพระสังฆราชท่านทราบดีว่าเจ้าคุณศรี (สนธิ์) เป็นศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมและพระกรรมฐานมาจากหลวงปู่บุญนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ท่านยังเป็นพระนวกะได้อาศัยในอารามร่มโพธิ์ของวัดสุทัศน์เทพวราราม ศึกษาพระปริยัติธรรมเพื่อหวังจะได้รับความเจริญก้าวหน้าทางพระปริยัติแต่เพราะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดทำให้ท่านต้องได้รับวิบากกรรมถูกคนบ้าวิ่งเข้ามาเอามีดดาบฟันท่านถึงขั้นอาพาธสาหัสต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดของท่านที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อกลับไปพบกับหลวงปู่บุญ หลวงปู่ท่านเห็นแล้วเกิดเวทนาสงสารเป็นยิ่งนัก ท่านจึงประสิทธิพรด้วยวาจาสิทธิ์ให้แก่ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ว่า “ต่อไปเธอไม่ต้องกลัวสิ่งใดแล้ว เธอเป็นลูกศิษย์ต่อไปจะไม่มีใครทำร้ายเธอได้อีก และชีวิตของเธอจะมีแต่ความผาสุกไม่เดือดร้อนอีกต่อไป” ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่ก็ได้ถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆให้กับท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) จนหมดสิ้น และก็จริงอย่างคำของหลวงปู่กล่าวคือในเวลาต่อมาไม่นานท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ก็ได้เดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดสุทัศน์ฯตามเดิมและได้เป็นพระฐานุกรรมในสมเด็จพระสังฆราชแพในเวลาต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระศรีสัจจญาณมุรี” วิชาที่ท่านเจ้าคุณฯได้รับจากวัดกลางบางแก้วและนำมาสร้างชื่อในเวลาต่อมาก็คือวิชาการประจุหล่อหลอมธาตุโลหะและรสายนเวทย์ว่าด้วยการเล่นแร่แปรธาตุ ที่สำคัญท่านเจ้าคุณฯยังได้รับการประสิทธิวิชาการลง “นะทรงพระธรณี” และ “นะมหาคงคา” นะสำคัญในการประกอบการหล่อหลอมสร้างวัตถุมงคลต่างๆซึ่งภายหลังตำรากาลงนะเหล่านี้ได้ตกเป็นสมบัติทางพระเวทย์วิทยาคมกับ “อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร”สุดยอดอาจารย์ฆราวาสผู้แตกฉานในพระเวทย์และโหราศาสตร์ในเวลาต่อมา
ลูกศิษย์อีก ๒ ท่านที่ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาด้านเดียวกับท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ได้แก่พระอาจารย์พา วัดระฆังโฆสิตาราม และ พระครูวินัยกิจโกศล (ตรี) วัดกัลยาณมิตร ทั้งสองท่านนี้ได้วิชาการทำ “โลหะขี้นกเขาเปล้า” อันเป็นเอกลักษ์วิชาเฉพาะของวัดกลางบางแก้ว
สำหรับในย่านจังหวัดนครปฐมลูกศิษย์ที่หลวงปู่ท่านถ่ายทอดวิชาให้ก็มีไม่น้อยอย่างเช่น
หลวงปู่ดี สุวัณโณ วัดสุวรรณ รูปนี้ได้วิชามาเยอะไม่แพ้ลูกศิษย์ท่านอื่นๆเลยเพราะหลวงปู่ท่านสอนวิชาไป และให้หลวงปู่ดีคัดลอกจดสูตรและคาถาลงในคัมภีร์ใบลานต่างๆแทนท่าน เนื่องจากท่านชื่นชมลายมือของหลวงปู่ดีว่าเป็นผู้ที่มีลายมือสวยงามนั่นเอง แต่ทว่าหลวงปู่ดีท่านไม่ชอบทำวัตถุมงคลมากนักเพราะรักสันโดษ อย่างมากท่านก็ทำแค่ “ธงมหาราช” เรียกลาภ เท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่าท่านเรียนมาจากหลวปู่บุญ ส่วนวัตถุมงคลอื่นๆที่แสดงถึงการสืบสายวิชาวัดกลางฯนั้นท่านแทบไม่ได้ทำเลย อีกท่านหนึ่งเป็นศิษย์เอกหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกที่ดั้นด้นเดินทางมาเรียนวิชากับหลวงปู่คือหลวงพ่อวงศ์ วัดทุ่งผักกูด เจ้าตำหรับยันต์ธงคู่คงกระพันแต่ทว่าน่าเสียดายที่ท่านมรณภาพในเวลาอันรวดเร็วตามคำทำนายของหลวงปู่บุญอาจารย์ของท่าน
อีกท่านหนึ่งที่นักนิยมสะสมพระเครื่องอาจจะไม่คุ้นหูนักก็คือ หลวงพ่อชื่น วัดกลางคูเวียง อำเภอนครชัยศรี หลวงพ่อชื่นได้วิชาการปลุกเสกราชสีห์และวิชาใช้สมุนไพรรักษาโรคไปจากหลวงปู่รุ่นเดียวกับ ปู่หลอม ตรีเนตร, ก๋งคำ ตรีเนตร, ก๋งยิ้ว ตรีเนตร แต่หลวงพ่อชื่นท่านเป็นพระเป็นผู้เมตตาสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ ท่านจึงมุ่งมั่นแต่การรักษาโรคเป็นเพียงพระหมอเท่านั้นชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่รู้จักในวงแคบ แต่ไม่ว่าลูกศิษย์ท่านใดของหลวงปู่บุญจะได้วิชาไปมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาการต่างรวมถึงข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่บุญไปได้มากที่สุดอย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้ก็คือ หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน” อดีตเจ้าอาวาสองค์ต่อจากหลวงปู่บุญนั่นเอง
เรื่องราวของหลวงปู่เพิ่มนั้นหากย้อนเวลาไปประมาณสัก ๒๐ หรือ ๓๐ ปีที่แล้วมูลค่าการสะสมพระเครื่องของหลวงปู่ยังไม่สูงมากอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ด้วยความที่พระเครื่องขององค์อาจารย์ท่านยังพอเช่าหาได้และประกอบกับบารมีของหลวงปู่บุญที่มากจึงทำให้ผู้คนยังมิได้ให้ความสนใจสักเท่าไหร่ แต่พอเวลาผ่านไปเมื่อของหลวงปู่บุญเริ่มหายากขึ้น มีของฝีมือ มากขึ้นผู้คนจึงหันไปอาราธนาพระเครื่องของหลวงปู่เพิ่มมาใช้แทน ซึ่งจากประสบการณ์ที่บอกกันปากต่อปากก็พบว่าพุทธคุณพระเครื่องของหลวงปู่เพิ่มก็ไม่ด้อยไปกว่าอาจารย์ของท่านเลย