Wednesday, December 4, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

สุนทราภรณ์ …ถึงห่างแสนไกล ยังติดหัวใจมิเลือน…

3

“วงสุนทราภรณ์นี้ จะปฏิบัติเพื่อศิลปะแท้ๆ คือหมายความว่าจะเล่นดนตรีเพื่อให้เป็นศิลปะที่ดี ให้เป็นที่นิยมของประชาชน และเพื่อให้ประชาชนได้มีความบันเทิง ให้ประชาชนรู้จักว่าดนตรีคืออะไร นั่นก็เป็นหน้าที่ของศิลปินที่ดี จงนึกว่าสุนทราภรณ์ เป็นครอบครัวใหญ่ ต้องเห็นใจกัน นับวันครอบครัวนี้ จะใหญ่ขึ้นทุกที มีผู้มาสมทบมากขึ้น และเป็นการปฏิบัติการเพื่อชื่อสุนทราภรณ์

วงดนตรีสุนทราภรณ์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เป็นของเอื้อ สุนทรสนาน แต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขอให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ อยู่ยงต่อไปด้วยความสามัคคี ด้วยความตั้งใจเชิดชู ความดี และให้เป็นศิลปะโดยแท้”

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่ชาวคณะสุนทราภรณ์ ในวาระครบรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2512

วงสุนทราภรณ์ คงจะเป็นวงดนตรีไทยเพียงวงเดียว ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าให้ชาวคณะทุกชีวิต ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด พร้อมรับพระราชทานพระบรมราโชวาท ด้วยพระกรุณา จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

และครูเอื้อ ได้เปิดเผยความในใจ ถึงพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้นว่า

“พระมหากรุณาธิคุณ ที่ผม และวงสุนทราภรณ์ ได้รับพระราชทานมานี้ ไม่มีทางใดที่ใช้เป็นมาตรที่จะวัดหรือคำนวณความใหญ่หลวงได้

เพราะว่าพระมหากรุณาธิคุณ ที่หลั่งพระราชทานมานั้น ยิ่งใหญ่ และพรั่งพร้อม เป็นพระมหากรุณา ที่แม้ผมหรือนักดนตรีในวงนี้ จะได้ตายแล้วได้เกิดใหม่อีกสักกี่ชาติ เราก็จะหาทางสนองพระมหากรุณาธิคุณ ให้สมสาใจได้”

แฟนนานุแฟน ของสุนทราภรณ์…ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น จนมาถึงยุคนี้ คงตระหนักดีว่า ความดัง ความแรงของบทเพลง อันเป็นผลงานของสุนทรภรณ์ที่ครูเอื้อ ใส่ทำนองเพลง หรือบางครั้งท่านลงมือลงสมอง ประพันธ์เนื้อร้องเองนั้น ล้วนเต็มไปด้วยวิญญาณและความรู้สึกแห่งการเป็นบทเพลงอย่างแท้จริง

ทุกเพลงของสุนทราภรณ์ เนื้อร้องกินใจ กระชากความรู้สึก-อารมณ์ สัมผัสคล้องจอง ทำนองเร้าความรู้สึก ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านั้น อาจเป็นเพราะครูเอื้อได้ผ่านประสบการณ์จริงของชีวิตมาแล้วอย่างลึกซึ้งทุกรสชาติ

ผสานกับความรู้ทางดนตรีรอบด้านที่จะบ่งบอกถึงความรู้สึกและอารมณ์ของเพลงที่จะผสานกับเนื้อร้องนั้นๆว่าควรเป็นไปเช่นใด ลักษณะไหน จึงจะคงความเป็น “ชีวิต” ที่สัมผัสได้โดยเฉพาะเพลงรัก

แม้ฟังเพียงท่วงทำนองเท่านั้น ก็บ่งบอกได้ถึงความรู้สึกที่กินซึ้งเข้าไปถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจสิ่งเหล่านี้บอกได้ถึงประสบการณ์ด้านดนตรีอันล้ำลึกที่ครูเอื้อไม่เคยหยุดนิ่ง เฉกเช่นศิลปินที่รักในการทำงานอยู่ทุกลมหายใจ

ยามใดที่ว่างเว้นจากการเล่นดนตรี ครูเอื้อก็จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยการฟังดนตรีประเภทต่างๆ อันเปรียบเสมือนเป็น “การศึกษา” และ “การแสวงหา” ที่ไม่มีวันจบ เพลงของสุนทราภรณ์เป็นเพลงที่มากไปด้วย รูปแบบ-จังหวะ- “ลีลา” ต่างๆคละเคล้ากันไป บางเพลงอาจเต็มตื้นไปด้วยความโศกเศร้า รันทด ผิดหวัง ไปจนถึงความสมหวัง ดีใจ ความเคลิบเคลิ้มชวนฝัน ล้วนเป็นลีลาที่รวมอยู่ในบทเพลงต่างๆของสุนทราภรณ์อย่างครบถ้วน มาโดยตลอด

ครูเอื้อมีความมุ่งมั่นอันแท้จริงเมื่อตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้วมีความเด็ดเดี่ยวบวกอุตสาหะ อดทน ความประณีตบรรจงละไมละเมียดที่ความรู้สึกของใครๆสามารถสัมผัสได้

และนักร้องของสุนทราภรณ์ทุกคน ร้องเพลงได้ ชัด ทุกคำ ทุก วรรค ทุกถ้อยกระทงความ อักขระ คำควบกล้ำ ถูกต้องตามหลักภาษาไทย ทั้งหมดทั้งมวล เหล่านี้ ทำให้ วงสุนทราภรณ์ และครูเอื้อ สุนทรสนาน ชนะใจและครองใจแฟนเพลงทั้งประเทศมาทุกยุคทุกสมัยด้วยหลักการเหล่านี้ จนกลายเป็น “เพชรเม็ดงาม” ประดับวงการดนตรีที่มีค่าสูงส่ง

4

ในหนังสือ “สุนทราภรณ์ ครึ่งศตวรรษ” เรื่อง “ชีวิตและงานของคุณเอื้อ สุนทรสนาน ต.จ.ว. จ.ช.”เขียนโดย สุวัฒน์ วรดิลก(รพีพร1) เมื่อปีพ.ศ. 2532 กล่าวถึงผลงานครูเอื้อไว้อย่างน่าสนใจว่า

เพลงประกอบละครเพลงแรก…ครูเอื้อแต่งให้คณะละครแม่เลื่อน ซึ่งเป็นละครร้อง ที่มีชื่อเสียงมากยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯและก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2476-2482) ชื่อ “ยอดตองต้องลม” ใช้ในละคร “ตองต้องลม” เฉลิม บุณยเกียรติ แต่งเนื้อร้อง


สำหรับภาพยนตร์ เพลงแรกที่ครูเอื้อแต่งคือเพลง “พรานทะเล” อาศัยชื่อภาพยนตร์ฝรั่งพากษ์ไทย มาเป็นชื่อเพลง เนื้อเรื่องภาพยนตร์มาเป็นเนื้อหาของเพลง แก้ว อัจฉริยะกุล เป็นคนแต่งเนื้อร้อง

ราวพ.ศ. 2486 สิงห์ อิ่มลาภ ขับร้องบนเวทีสลับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เพลงประกอบภาพยนตร์ในปีต่อมาได้รับความนิยมหรือ “ฮิต” ติดปากคนดู ได้แก่เพลง “วันเพ็ญเดือนสิบสอง” ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง “สุภาพบุรุษเสือไทย” (พ.ศ. 2491-92) และเพลง “ศาสนารัก” ในภาพยนตร์ไทย “ศาสนารักของนางโจร” (พ.ศ.2494)


เพลงประกอบละครที่ครูเอื้อแต่งได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่เพลงชุด “จุฬาตรีคุณ” ใช้ในละคร “จุฬาตรีคูณ” แสดง ณ เวทีศาลาเฉลิมไทย (พ.ศ.2493-94)



เพลงประกอบรีวิวชุดแรก เรื่อง “พระสุธนมโนราห์” แสดง ณ เวทีสวนอัมพร



เพลงประกอบจินตลีลาในลักษณะละครเพลงสั้นๆที่ได้รับความนิยมยาวนาน นำออกแสดงบนเวทีต่างๆ แสดงทางโทรทัศน์เกือบทุกช่อง และเคยนำไปแสดงบนแผ่นดินใหญ่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาแล้ว (พ.ศ. 2500) คือ “มนต์รักนวลจันทร์”

สร้างจากตำนานธิดาท้าวกกขนากเมืองลพบุรี แสดงครั้งแรกสลับละครที่โรง “ศรีอยุธยา” สี่กั๊กพระยาศรี (พ.ศ.2496) ปีเดียวกันคุณเอื้อก็ได้แต่งเพลงชุดจินตลีลาทำนองเดียวกันนี้ แสดงสลับละครเวทีอีกเรื่องคือ “นิมิตรสวรรค์”

ละครเพลงอีกหลายเรื่องที่คุณเอื้อแต่งเพลงให้ ส่วนใหญ่เป็นงานของวงดนตรี “สุนทราภรณ์”เอง ส่วนใหญ่นำเสนอทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 (บางขุนพรหม) จากพ.ศ. 2499 ถึง 2512 กว่า 20 เรื่องๆเด่นๆที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็มี จุฬาตรีคูณ (พ.ศ.2500) มรดกสุนทรภู่(พ.ศ.2500) บนลานลั่นทม”(พ.ศ.2501) รักเธอเสมอและ คิดถึง (พ.ศ.2501) และ เกาะลับแล (พ.ศ.2512) ….ฯลฯ”

ความสามารถของครูเอื้อนั้น….ท่านมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการแต่งเพลงประกอบละคร รีวิว หรือละครเพลงสั้นๆ แม้กระทั่งภาพยนตร์ สามารถแยกแยะผลงานของครูเอื้อออกเป็นประเภทต่างๆได้ถึง 11 ประเภท ดังนี้คือ


เพลงปลุกใจและสดุดี

เพลงประจำสถาบันต่างๆ 

เพลงจากวรรณคดี 

เพลงประจำเทศกาลและประเพณี 

เพลงชาวนา-ชาวประมง 

เพลงคติธรรมและปรัชญาชีวิต 

เพลงยกย่องผู้หญิงและชมธรรมชาติ 

เพลงรัก 

เพลงสะท้อนสังคม 

เพลงประกอบละคร,ภาพยนตร์และละครเพลงสั้น


ซึ่งยากที่จะหาใครมาทัดเทียบท่านได้ อีกแล้ว ทั้งในอดีตที่ผ่านมา และในอนาคต



ต่อมาครูเอื้อท่านมีความคิดที่จะก่อตั้ง โรงเรียน “สุนทราภรณ์การดนตรี”ขึ้นเมื่อพงศ.2512 แต่ก่อนหน้านี้ ราวพ.ศ. 2479-81 ครูเอื้อก็มีความคิดที่จะก่อตั้งโรงเรียนดนตรีและได้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนสอนดนตรีขึ้นชื่อ “คอนคอร์เดียร์” อันเป็นชื่อที่คุณพระเจนดุริยางค์ตั้งให้ มีเพื่อนๆที่เข้าประจำทำการสอนอยู่ 5-6 คน คือ ครูโฉลก เนตรสุต ครูเมย์ เอื้อเฟื้อ ครูนารถ ถาวรบุตร ครูส.จิตรมั่นคง ครูแสวง จาตกะวร และครูสังข์ อสัตย์ถวาศรี..แต่น่าเสียดายว่า โรงเรียนดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นมาได้เพียงปีกว่าๆ ก็ต้องล้มเลิกไป

หลังจากนั้นอีก 30 ปี ต่อมา สิ่งที่วาดฝันของครูเอื้อในเรื่องโรงเรียนดนตรีก็เป็นความจริงขึ้นมา เมื่อครบวาระที่วงดนตรีสุนทราภรณ์มีอายุครบ 30 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 ก็เป็นวาระที่ได้ฤกษ์เปิดกิจการ โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีขึ้น ได้เป็นผลสำเร็จ


นอกจากนี้แล้วครูเอื้อยังเป็นอีกผู้หนึ่งที่เริ่มก่อตั้ง ชมรมดนตรี จนสำเร็จ และกลายเป็น สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้

รวมผลงานเพลงที่ครูเอื้อแต่งไว้มีหลายประเภท เช่น เพลงถวายพระพร เพลงปลุกใจ เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด เพลงมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างๆ เพลงรำวง เพลงรัก เพลงชมธรรมชาติ เพลงประกอบละครเวที ละครวิทยุ-โทรทัศน์ และภาพยนตร์ ฯลฯ

ผลงานเพลงเกี่ยวกับเทศกาลต่างๆของไทย ซึ่งครูเอื้อได้แต่งไว้ยังคงได้รับความนิยม และถูกใช้เปิดงานตามเทศกาลต่างๆทุกปีจนเพลงเหล้านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลไปด่วย เช่น สวัสดีปีใหม่,รำวงเริงสงกรานต์,รำวงลอยเรือ เป็นต้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 เพลง

เพลงสุดท้ายในชีวิตที่ครูเอื้อทร้องคือ “พระเจ้าทั้งห้า”

ตลอดเวลา 42 ปี อยู่กับงานดนตรีมาโดยตลอด ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอมตะไว้อย่างมากมาย ได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน

ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ครูเอื้อได้เข้าเฝ้าและร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ “พรานทะเล” และตั้งแต่เดือน ธ.ค. ของปีนั้นครูเอื้อก็เริ่มมีอาการทรุดหนักจากอาการเนื้อร้ายที่ปอด

ในวันที่ 1 เม.ย. 2524 ก็ถึงแก่กรรมด้วยวัย 71 ปี

เอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่าง สาขาผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี 2523-2524 “แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน” เป็น ครั้งที่ 4 รับพระราชทานแทนโดย คุณ อติพร เสนะวงศ์ บุตรีคนเดียว ของท่านเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2524″

ชีวิตที่คร่ำ กลางน้ำเวียนวน ..
.ลอยล่องกลางชลไม่พ้นทนไป
…อยู่กับเรือเบื่อใจ ผองพรานทะเลเร่ไป
อยู่ห่างไกลกลางสายชล
…มองน้ำตรงหน้า จรดฟ้าไกลไกล …ว้าเหว่ดวงใจไม่เห็นผู้คน
…คลื่นและลม สู้ ทน ทุกข์ใจปานใดไม่บ่น สู้แดดฝนลำบาก กาย
…อยู่หว่างทะเล นาน นาน ท้องเรือเป็นบ้าน ท้องธารเรือนตาย
…สิ้นชีพสิ้นชนม์
เพลงพรานทะเล

84 ปี อาจเป็นกาลเวลาที่ยาวนาน เทียบเท่าชีวิตของใครบางคน หากแต่ในความรู้สึกแล้ว ทุกครั้งที่แว่วยินเสียงเพลงสุนทราภรณ์ พวกเราจะนึกถึงครูเอื้อ สุนทราสนานขึ้นมาในทันทีเพราะวันนี้ ครูเอื้อ ยังไม่ตาย

ยังไม่ตายไปจากความรู้สึกของคนที่รักครูเอื้อทุกๆคนตลอดกาล ตลอดนาน

About the Author

Share:
Tags: เพลง / ฉบับที่ 66 / สุนทราภรณ์ / นักร้อง / เอื้อ สุนทรสนาน / วงดนตรี / ดนตรี / ฉบับที่ 68 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ