นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 22
เรื่อง: ส. พลายน้อย
นางสงกรานต์
หลายปีมาแล้วคนกลัวนางสงกรานต์กันมาก จะเป็นเพราะการทำนายทายทักหรืออย่างไรไม่ทราบ เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นเด็ก คือประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ จำความได้แล้ว เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์เคยได้ฟังผู้ใหญ่พูดคุยกันถึงเรื่องนางสงกรานต์ว่าชื่ออะไร กินอะไร ถืออะไร เพราะนางสงกรานต์แต่ละคนกินอาหารไม่เหมือนกัน อาวุธที่ถือมาต่างกัน
การที่ถามถึงอาหารและอาวุธก็เพราะของสองสิ่งนี้เป็นเครื่องทานายถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีนั้นๆ ได้ เช่น นางสงกรานต์ชื่อนางรากษสกินเลือด ก็กลัวกันว่าจะเกิดเหตุร้ายถึงเลือดตก เพราะรากษสอยู่ในจำพวกยักษ์เป็นบริวารของทศกัณฐ์ แต่ถ้ากินอาหารพวกพืชผัก ถั่วงา หรือกล้วยน้ำก็เบาใจได้ เพราะเป็นพวกมังสวิรัติ มีที่คนสงสัยอยู่นางหนึ่งชื่อนางโคราคะกินน้ำมันจะส่อไปในทางคอร์รัปชัน แต่ผมว่าอย่าคิดมากไป สมัยโบราณยังไม่มีการสูบน้ำมันจากใต้ดินมาใช้อย่างในปัจจุบัน น้ำมันที่ว่าน่าจะเป็นพวกน้ำมันถั่ว น้ำมันงาเสียมากกว่า
นอกจากอาหารแล้วก็ดูอาวุธที่ถือมา บางนางถือตรีศูล ถือธนู บางนางถือจักรถือตรีศูล คนก็ยังไม่กลัวกันเท่าไรนัก เพราะไม่เคยเห็นฤทธิ์เดช ไปกลัวนางที่ถือปืนมากกว่า
นางสงกรานต์ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ ชื่อนางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา มือขวาถือขอ เพราะพาหนะเป็นช้างก็ต้องมีขอไว้บังคับช้าง แต่มือซ้ายถือปืนนี้สิที่น่ากลัว อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เชื่อว่านางสงกรานต์จะเป็นตัวการ เพราะเหตุทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น มนุษย์ที่ขาดสติ ลุแก่โทสะ ทำไปด้วยอารมณ์
ตามประวัตินางสงกรานต์มีหน้าที่เพียงมาเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุแล้วก็กลับไปเทวโลก ไม่มีเวลามาบงการก่อเหตุอะไรทั้งสิ้น
ผู้เขียนเคยสนใจค้นคว้าหาที่มาของนางสงกรานต์มาช้านาน ด้วยอยากทราบว่าบ้านเมืองอื่นมีนางสงกรานต์เหมือนอย่างไทยกับมอญหรือไม่ ตำนานสงกรานต์ของมอญที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามคงทราบกันดีอยู่แล้ว จะขอเล่าเรื่องทางพม่ามาให้อ่านเป็นการเปรียบเทียบ ทางพม่าเล่าว่า
ครั้งหนึ่งสักยามินเกิดใต้เถียงกับอสิพรหมถึงเรื่องสัปดาห์หนึ่งมีกี่วัน สักยามินว่ามี ๗ วัน ส่วนอสิพรหมว่ามี ๘ วัน เมื่อถกเถียงไม่ตกลงกันได้จึงพากันลงมาให้หมอดูชื่อกะวาลาเมียงตัดสิน โดยมีสัญญากันว่าถ้าฝ่ายใดแพ้ฝ่ายนั้นจะต้องถูกตัดศีรษะ เมื่อทำสัญญากันแล้วก็ให้กะวาลาเมียงตัดสินว่าใครถูกใครผิด ปรากฏว่าสักยามินเป็นฝ่ายชนะ สักยามินจึงตัดศีรษะอสิพรหมด้วยสายฟ้า (วชิระ) แล้วรีบจับศีรษะอสิพรหมถือไว้ไม่ยอมปล่อยให้ตกถึงพื้นดิน เพราะจะทำให้โลกมนุษย์มอดไหม้ไปภายในไม่กี่นาที ครั้นจะโยนขึ้นไปในอากาศเบื้องบน ฝนก็จะแล้ง และถ้าจะโยนลงในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็จะแห้ง ทั้งนี้เป็นด้วยศีรษะของอสิพรหมร้อนจัด ผู้ที่ถือศีรษะอสิพรหมไว้ได้จะต้องเป็นเทวดาเท่านั้นอย่างไรก็ตาม สักยามินยังต้องการให้อสิพรหมมีชีวิตอยู่ต่อไป จึงส่งพระขรรค์ทองของพระองค์ให้หมอดู แล้วสั่งให้ไปทางทิศเหนือ ให้ตัดหัวของสัตว์ตัวแรกที่พบ หมอดูถือพระขรรค์ไปพบช้างเป็นตัวแรกก็ตัดหัวมา สักยามินจึงเอาหัวช้างมาต่อเข้ากับร่างของอสิพรหม แต่นั้นมาอสิพรหมก็มีศีรษะเป็นช้าง เรียกชื่อใหม่ว่ามหาเปนเน
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ทำไมสักยามินไม่เอาศีรษะของอสิพรหมไปต่อกับร่าง กลับให้ไปหาศีรษะใหม่มาต่อ ไม่ทราบเจตนาว่าต้องการอะไร ส่วนศีรษะอสิพรหมนั้น สักยามินได้ตรัสเรียกเทพธิดา ๗ นางให้ลงมายังโลกมนุษย์ แล้วมอบหน้าที่ให้เทพธิดาเหล่านั้นผลัดเปลี่ยนกันรักษาศีรษะอสิพรหมนางละ ๑ ปีหมุนเวียนกันไป ด้วยเหตุนี้พอถึงวาระที่จะขึ้นปีใหม่ เทพธิดาองค์เก่าก็จะมอบศีรษะอสิพรหมให้เทพธิดาองค์ต่อไปมารับหน้าที่ถือต่อไปตามลำดับจนครบ ๗ นาง
เรื่องนี้มีเล่าไม่ตรงกัน บางแห่งเล่าว่า สักยามินหรือพระอินทร์กับอสิพรหมมีปัญหาเถียงกันเรื่องในพระพุทธศาสนา ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงให้กะวาลาเมียง หรือกะลาไมเองเป็นผู้ตัดสิน มีข้อตกลงพนันตัดศีรษะแบบเดียวกัน อสิพรหมแพ้จึงถูกตัดศีรษะ ต้องให้นางทั้ง ๗ ผลัดเปลี่ยนกันมาถือศีรษะปีละนางในวันสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ ก่อนจะเปลี่ยนเวรให้เอาศีรษะอสิพรหมไปสรงน้ำ เสียก่อนว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดประเพณีสรงน้ำ หรือเล่นสาดในน้ำวันสงกรานต์ขึ้น
ตามตำนานกล่าวว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านก็กำหนดเอาวันนั้นเป็นวันสาดน้ำประจำปี ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ หรือวันสงกรานต์ของชาวไทยสิบสองปันนาสืบต่อมา แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงถึงฤทธิ์เดชของนางสงกรานต์แต่อย่างใด ความประสงค์คงจะเล่าถึงเหตุที่มีการสาดน้ำในวันสงกรานต์เท่านั้น
เท่าที่ศึกษาตรวจสอบเรื่องวันสงกรานต์ของคนเผ่าไทย ยังไม่พบว่าได้กล่าวถึงนางสงกรานต์ให้คุณให้โทษแก่ผู้คนอย่างไรกล่าวเฉพาะหน้าที่ของนางสงกรานต์เท่านั้น นอกจากตำนานของไทยสิบสองปันนาแล้วก็มีตำนานของไทยลื้อ ซึ่ง มีเรื่องคล้ายๆ กันคือ เขาเล่าว่ามีพระพรหมองค์หนึ่งมีธิดาอยู่ ๑๒ นาง ต่อมาพระพรหมองค์นี้ถูกตัดเศียรขาด (ตามเรื่องไม่ได้บอกว่าเนื่องมาจากเหตุใด) เศียรพระพรหมองค์นี้มีฤทธิ์เดชเช่นเดียวกับเศียรท้าวกบิลพรหม คือตกลงบนแผ่นดินก็เป็นไฟไหม้โลก ตกในทะเลน้ำทะเลก็แห้ง ซึ่งเป็นเรื่องทำให้มนุษย์เดือดร้อนทั้งสิ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นหน้าที่ของนางทั้ง ๑๒ ซึ่งเป็นธิดาต้องเข้ามารับหน้าที่เชิญพานรับพระเศียรของบิดาไว้มิให้ตกลงต้องพื้นดินและพื้นทะเล โดยผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปนางละปี
ตำนานดังกล่าวจะมีต้นเรื่องมาจากไหนไม่ทราบ แต่มีเรื่องของไทยสิบสองปันนาเล่าต่างออกไป ตามเรื่องว่านานมาแล้ว มียักษ์ตนหนึ่งสั่งให้หมู่บ้านต่างๆ ส่งสาวสวยให้ตนทุกปี ถ้าไม่ยอมส่งยักษ์จะทำลายหมู่บ้านนั้นเสีย ในครั้งนั้นใกล้กับแม่น้ำล้านช้าง มีสาวงามนางหนึ่งชื่อยูยาง นางถูกกำหนดส่งตัวไปให้ยักษ์ แต่นางก็ไม่เกรงกลัว เมื่อไปอยู่กับยักษ์ก็ปรนนิบัติยักษ์อย่างดี วันหนึ่งนางมอมเหล้ายักษ์แล้วลวงถามความลับว่า ในเมื่ออาวุธต่างๆ ไม่อาจทำร้ายยักษ์ได้เช่นนี้แล้ว ยักษ์จะตายได้อย่างไรยักษ์กำลังเมาก็ขยายความลับให้ฟังว่า มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ตายได้ คือใช้ผมบนหัวของตนเพียงเส้นเดียวมาพันรอบคอก็ตายเมื่อยักษ์หลับ นางยูยางก็ดึงผมบนหัวยักษ์เอามาพันคอยักษ์ คอยักษ์ก็ขาด พอหัวยักษ์ตกลงพื้นก็กลายเป็นลูกไฟไหม้กระจาย นางจึงตัดสินใจหยิบหัวยักษ์ยกชูขึ้น ไฟก็ดับ แต่กลับมีเลือดไหลออกจากหัวยักษ์มาเปรอะเปื้อนตัวนาง พวกชาวบ้านเห็นเช่นนั้นก็ช่วยกันเอาน้ำสาดล้างเลือดให้ยูยาง ทำให้นางดูสดสวยขึ้นอีก
ตามที่เล่ามานี้จะเห็นว่า การเชิญพระเศียรของนางสงกรานต์ของไทยสบิ สองปนั นา ไทยลือ้ ผดิ กับของมอญหรือของไทยที่เชือ่ถือกันในปัจจุบัน ไทยสิบสองปันนาออกชื่อนางยูยางเพียงคนเดียวและไม่เกี่ยวกับพระพรหมแต่เป็นยักษ์ ส่วนไทยลื้อว่าพระพรหมมีธิดาถึง ๑๒ นาง เกินไป ๕ นาง จึงไม่ได้กำหนดให้มีหน้าที่มารับเศียรพระพรหมตามวันสงกรานต์ (ซึ่งมี ๗ วันคืออาทิตย์ถึงจันทร์) จึงต้องกำหนดให้เป็นนางสงกรานต์ประจำปี และให้นั่งบนหลังสัตว์ต่างๆ คือให้นั่งบนหลังหนู วัว เสือ กระต่าย พญานาค งูเล็ก ม้าแพะ ลิง ไก่ สุนัข และหมู ซึ่งตรงกับปี ๑๒ นักษัตรของไทย
เท่าที่กล่าวมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องของนางสงกรานต์เป็นเรื่องสมมุติ รัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ทรงเชื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า ตำนานมหาสงกรานต์ไม่มีเค้ามูลอันใดเป็นเรื่อง มีไว้ให้อ่านกันเล่นๆ ดังความตอนหนึ่งว่า “ถ้าเป็นเรื่องสัพเพเหระเช่นนี้ก็มักจะใช้เปรียญมอญเปรียญลาว เปรียญเขมร ครั้งหนึ่งเปรียญรามัญถวายเทศน์เรื่องสุวรรณเศียร เรียกชื่อว่าสุวรรณเซียน ท่านก็ทรงล้อเรื่องหนังสือรามัญเป็นเซียนไปทั้งนั้น
ว่าที่สุดจนเรื่องเงาะกับนางรจนาก็มีในบาลีฝ่ายรามัญ ก็ได้ถวายเทศน์ในท้องพระโรงเหมือนกัน แต่ไม่ทรงเชื่ออันใด เป็นเหมือนหามาเล่านิทาน แล้วดำรัสล้อๆ ว่า เล่นคำที่ว่ารามัญท้ายคำบาลีนั้น ถ้าจะแปลตามสำนวนทุกวันนี้ก็ตรงกับคำชั่งเถอะ ซึ่งโปรดให้ไปเขียนไว้ที่ตามศาลาข้างหลังวัด ก็เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนรู้ซึมซาบทั่วถึงกัน พอจะได้ไปอ่านเออออกันให้เป็นที่สนุกรื่นเริงของผู้ที่ไปมาเที่ยวเตร่ในวัดเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม เรื่องนางสงกรานต์น่าจะเพิ่งรู้จักกันแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อโปรดให้จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ไว้ที่ศาลา
ล้อมพระมณฑปในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่คนที่จะได้อ่านก็คงมีน้อย เพราะยังอ่านหนังสือไม่ออกเสียโดยมาก จะมีก็เฉพาะผู้ชายที่อ่านหนังสือ ออกบวชเรียนแล้วไปอ่านพบเข้าก็นำไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง ก็คงจะมีการไต่ถามกันขึ้นว่ารูปร่างนางสงกรานต์เป็นอย่างไร ในที่สุดก็พากันร่ำร้องอยากเห็นรูปนางสงกรานต์กันมากขึ้น ในสมัยนั้นยังไม่มีปฏิทิน การเผยแพร่รูปนางสงกรานต์จึงทำได้ทางเดียวคือเขียนรูป รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เขียนรูปนางสงกรานต์ไปปิดไว้ที่ประตูพระบรมมหาราชวัง แต่จะเป็นเมื่อใดนั้นไม่พบหลักฐานชัดเจน พบกล่าวถึงในประกาศวันสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๔๐๒ ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อวันสุดท้ายสิ้นสงกรานต์สามวันแล้ว มักไต่ถามกันว่าสงกรานต์ปีนี้ชื่ออะไร ถืออะไร นั่งนอนอย่างไร กินอะไร เรื่องอย่างนี้จะบอกมาให้แจ้งก็ได้ แต่หาเป็นประโยชน์ไม่ ถ้าจะใคร่รู้ให้มาคอยดูรูปมหาสงกรานต์
ซึ่งเขียนแขวนไว้ที่หน้าพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วนั้นเถิด” รูปนางสงกรานต์ได้เขียนให้คนดูต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕แต่เปลี่ยนมาแขวนไว้ที่ประตูพระบรมมหาราชวังเพื่อให้ประชาชนดูได้สะดวกขึ้นกล่าวโดยสรุป แต่เดิมไม่มีรูปนางสงกรานต์ นางสงกรานต์มาเกิดขึ้นภายหลัง แล้วมีผู้ทำนายทายทักอะไรต่างๆ ขึ้น ทำให้ผู้คนหลงเชื่อสืบต่อกันมา แม้ทุกวันนี้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ยังเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผลอยู่อีกมาก
สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย มนุษย์ต่างหากที่ทำให้เกิดขึ้นหาใช่นางสงกรานต์เป็นตัวทำให้เกิดขึ้นตามที่เข้าใจกันนั้นเลยขอให้คิดดูเถิด