เรื่อง/ภาพ ตัวแน่น
งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่จัดขึ้น
เป็นประจำทุกๆ ปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒
นับเป็นรางวัลทางด้านศิลปะ
ที่มีเกียรติที่สุดในระดับชาติ
ยามเมื่อครั้งเก่าก่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมา นับเป็นงานโชว์และประชันผลงานศิลปะที่สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลให้แก่วงการศิลปะไทย รางวัลที่มอบให้ผู้ชนะการประกวดในงานนับเป็นรางวัลทางด้านศิลปะที่มีเกียรติที่สุดในระดับชาติ สูงส่งขนาดที่ในสมัยก่อนในหลวงถึงกับเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร และพระราชทานรางวัลนี้ด้วยพระองค์เองแทบทุกครั้ง
สำหรับศิลปินที่มีรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติมาการันตี นับว่ามีใบเบิกทางอย่างดีเพื่อจะแจ้งเกิดในวงการ ถ้าหมั่นพัฒนาผลงานต่อและเลี้ยงกระแสไว้ไม่ให้ตก ศิลปินเหล่านี้ก็จะสามารถประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงขจรไกลต่อไปได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นจึงมีศิลปินไทยมากมายที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยสมองและสองมืออย่างเต็มกำลัง ด้วยความหวังที่จะคว้ารางวัลในงานแสดงศิลปะระดับชาติประจำปีครั้งสำคัญ
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ นักศึกษาวัย ๒๓ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้เดินตามความฝันด้วยเส้นทางนี้เช่นกัน ในปีนั้นผลงานของสมศักดิ์ผ่านด่านหิน คณะกรรมการคัดเลือกให้ร่วมโชว์ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๒๑ ถึง ๗ ภาพ โดยหน้าตาของผลงานชุดนี้นับว่าล้ำสุดๆ ในสมัยนั้น เพราะแต่ละชิ้นล้วนเป็นภาพนามธรรมที่ให้ความสำคัญกับสีและแสงขณะเดียวกับที่ทิ้งความว่างเปล่าไว้บนสเปซส่วนใหญ่ของภาพ เปิดโอกาสให้เส้นสายพลิ้วไหว หายใจหายคอ ดูล่องลอยอิสระเสรี แต่ก็มีจังหวะจะโคนที่ลงตัว มีเอกภาพ
จากผลงานชุดนี้เองที่ทำให้สมศักดิ์ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลเกียรตินิยม อันดับ ๒ เหรียญเงิน ด้านจิตรกรรม นับเป็นรางวัลระดับประเทศรางวัลแรกในชีวิต จุดประกายให้สมศักดิ์มั่นใจว่าเดินมาถูกทาง สร้างสรรค์ผลงานที่สามารถคว้ารางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติมาครองอีกมากมาย อุทิศชีวิตเพื่อศิลปะ เป็นทั้งศิลปินอาชีพและอาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศิษย์ ประกอบคุณูปการจนถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐
ย้อนไปเมื่อสมศักดิ์คว้ารางวัลในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ตามกฎของการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ผลงานชิ้นไหนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองและเหรียญเงินจะต้องตกเป็นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนชิ้นที่ได้เหรียญทองแดงศิลปินสามารถยกผลงานกลับบ้านได้ โดยเงินรางวัลในปีนั้นเหรียญทองจะได้ ๘,๐๐๐ บาท เหรียญเงินได้ ๕,๐๐๐ บาท ส่วนเหรียญทองแดงรับ ๓,๐๐๐ บาท ผลงานภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด ๑๒๒ x ๙๒ เซนติเมตร ที่สมศักดิ์ตั้งชื่อว่า “แสงสว่างที่ ๒” จึงกลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าในคอลเล็กชันของมหาวิทยาลัย ส่วนผลงานจากชุดนี้อีกภาพที่วาดด้วยเทคนิคเดียวกันและมีขนาดเท่ากันเป๊ะ ชื่อว่า “เวลา และ ความทรงจำ” ก็ดันจับพลัดจับผลูไปกระตุ้นต่อมว้าวของ เสถียร เสถียรสุต ชายหนุ่มผู้จบการศึกษามาจากต่างประเทศ และเห็นคุณค่าในศิลปะในห้วงเวลาที่วงการนักสะสมบ้านเรายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ สมัยนั้นนักสะสมศิลปะชาวไทยมีน้อยจนแทบจะนับนิ้วได้ ผลงานศิลปะส่วนใหญ่จึงมักถูกซื้อหาไปโดยชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในเมืองไทยผู้ซึ่งเข้าใจศิลปะสมัยใหม่อะไรเทือกนี้มากกว่าเรา
เสถียรนั้นร่ำรวยเข้าขั้นเจ้าสัว เพราะถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายแปลงในทำเลทองใจกลางกรุงเทพฯ เขาผู้นี้ยังประกอบธุรกิจมากมาย เช่น ศูนย์การค้าเพลินจิตอาเขต โรงแรมเดอะรีเจนท์บางกอก หมู่บ้านสัมมากรค่ายมวย ส. เพลินจิต คอกม้าเสถียร และต่อมาภายหลังยังเป็นสปอนเซอร์หลักในการก่อตั้งเสถียรธรรมสถานให้แก่แม่ชีศันสนีย์ คนรักของเสถียรผู้ตัดสินใจมุ่งสู่ทางธรรม
ภาพ “เวลา และ ความทรงจำ” ถูกตั้งราคาขายไว้ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท นับว่ามีราคาสูงเอาการเมื่อเทียบกับผลงานศิลปะโดยศิลปินไทย โดยเฉพาะผู้ที่ยังเป็นนักศึกษาศิลปะ แต่สำหรับนักสะสมระดับเศรษฐีอย่างเสถียรแล้ว ถ้าถูกใจแล้วแพงแค่ไหนก็สู้ เสถียรจึงได้ผลงานชิ้นนี้มาครอบครองนอนดูก่อนที่จะกระหน่ำตามซื้อผลงานศิลปะชิ้นเทพๆ มาเข้ากรุอีกเป็นกุรุส จนคอลเล็กชันงานศิลปะของเสถียรกลายเป็นหนึ่งในคอลเล็กชันอันเป็นที่โจษขานมากที่สุดของเมืองไทยในสมัยนั้น
อ. สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๖๐ (2 จากขวา)
cr: รศ. สรรณรงค์ สิงหเสนี (ขวาสุด)
เป็นที่รู้กันในวงการศิลปะว่าผลงานชิ้นเยี่ยมจากฝีมือศิลปินชั้นยอด จะยิ่งเติมเต็มดีกรีความเด็ดสะระตี่ขึ้นมาอีก หากผลงานนั้นถูกคัดสรรให้ไปอยู่ในคอลเล็กชันของนักสะสมชื่อดัง ผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเรื่องสายตาอันหลักแหลมเฉียบคมและรสนิยมอันล้ำวิไล ถ้าผลงานชิ้นไหนยิ่งได้ผ่านกาลเวลาอันยาวนานทั้งร้อนทั้งหนาว ผ่านเรื่องราวอันหลากหลายก็จะยิ่งเข้มขลังไม่ต่างอะไรกับไวน์ชั้นดีที่หมักบ่มจนได้ที่ ดั่งเช่นภาพ “เวลา และ ความทรงจำ” เก่าๆ นี้ ที่สั่งสม “เวลา และ ความทรงจำ” ใหม่ๆ มาแล้วเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษจนล้นปรี่ และจะยังคงดำเนินต่อไปชั่วกาลนาน