นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 16
เรื่อง / ภาพ : นภันต เสวิกุล
พระคู่ขวัญ … คู่พระบารมี
วันที่ ๒๙ เมษายนของทุกปี เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของคนไทย
ด้วยเป็นวันราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๙๓ หรือเมื่อ ๖๕ ปีล่วงมาแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ (ม.ร.ว. สิริกิติ์กิติยากร) ที่กรุงปารีส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ และหลังจากนั้นก็ได้ทรงพบปะอยู่เสมอ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ เคยเล่าพระราชทานสัมภาษณ์ใภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ขวัญของชาติ” ว่า “ไม่เคยทรงทราบ ว่าพระองค์ท่านทรงรักข้าพเจ้าเพราะเวลานั้นอายุเพิ่งย่าง ๑๕ ปี ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นนักเปียโนที่แสดงในคอนเสิร์ต”
กระทั่งถึงวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่อพระบาทสมเดจ็ พระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีหม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์เข้าเฝ้าฯเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) จึงได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในเมืองโลซาน ครั้นหายจากอาการประชวรแล้วก็ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เ ป็นการภายใน เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
กระทั่งถึงต้นปี ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ นิวัติพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ตามเสด็จฯ กลับประเทศไทยด้วย
ครั้นถึงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๙๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษก สมรสขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นองค์ประธาน ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากร พร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์”พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย
หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ กระทั่งมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี หลังจากนั้นอีก ๓ เดือน ทุกพระองค์ได้เสด็จนิวัติประเทศไทย
ตลอดระยะเวลาอันยาวถึงค่อนศตวรรษนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทุกแว่นแคว้นเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับประมุขของประเทศต่างๆ ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถของประเทศไทย ทรงได้รับการยกย่องทั้งพระสิริโฉมอันงดงามยิ่ง พระปรีชาสามารถ และการวางพระองค์อย่างสง่างามเสมอๆ
นับได้ว่าทรงเป็น “พระคู่ขวัญ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของปวงชนชาวไทยโดยแท้
ขณะเดียวกัน เมื่อประทับอยู่ในประเทศไทยก็ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์มิได้ว่างเว้น ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงปัญหานานัปการที่เกษตรกรต้องเผชิญ เป็นต้นว่า ได้ผลผลิตน้อยเกินคาด ราคาตกต่ำ ศัตรูพืชรบกวนและร้ายยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ถ้าฝนตกชุกมากไป น้ำก็ท่วมถ้าฝนน้อยไปก็แห้งแล้ง ความหายนะทั้งหลายเหล่านี้ล้วนกระทบกระเทือนถึงการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาชาวไร่ทั้งสิ้น ซึ่งความคับแค้นเหล่านี้บางรายถึงกับรักษาที่ทำกินไว้ไม่ได้
ในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรแต่ละครั้ง โปรดฯที่จะประทับนานๆ เพื่อให้ราษฎรได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด เด็กเล็ก คนเฒ่า คนแก่ ใครมีทุกข์ร้อนอะไรก็จะ มาเล่าถวาย ทั้งสองพระองค์ก็จะทรงสดับอย่างสนพระราชหฤทัย และทรงแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้นให้กับราษฎรได้ทุกรายไป ต่อมาในระยะหลังเมื่อราษฎรทราบว่าจะเสด็จฯ ไปที่ไหนราษฎรในละแวกใกล้เคียงต่างก็จะพากันอุ้มลูกจูงหลานพากันมาเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างเนืองแน่นจากจํานวนร้อยกลายเป็นจํานวนพัน จํานวนหมื่นทั้งสองพระองค์จึงจําเป็นที่จะต้องแยกขบวนกันออกไปเพื่อที่จะเยี่ยมเยียนราษฎรได้อย่างทั่วถึงกล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงแยกไปทรงรับฟังและหาหนทางแก้ไขปัญหาหลัก เกี่ยวกับเรื่องอนาคตของชุมชนนั้น ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะทรงรับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย ทั้งยังทรง หาทางช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างรายได้ มาจุนเจือครอบครัว
มีพระราชดําริว่างานหัตถกรรมในครัวเรือนเป็นงานที่เหมาะสมมาก ด้วยคนไทยมีฝีมือในทาง ช่าง มีหัวในทางศิลปะอยู่แล้ว และในแต่ละท้องถิ่น ยังมีศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ สนับสนุนงานที่เหมาะสมกับแต่ละภาค เมื่อแปร พระราชฐานไปประทับในภูมิภาคใดก็ทรงเปิดโรงเรียนฝึกอาชีพ จัดครูเข้าไปสอน วัตถุดิบที่ใช้ สร้างผลงานแสนสวยเหล่านี้หาได้ในท้องถิ่น ทั้งสิ้น ทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทําเครื่องปั้น ดินเผา เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับ พสกนิกรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างมาก งานนี้ได้แพร่หลายกลายเป็นมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ ซึ่งในที่สุดนอกจากจะเกิดประโยชน์โดยตรงแก่สมาชิกฯที่ทรงกํากับดูแลด้วยพระองค์เองแล้ว ยังสามารถฟื้นฟูงานศิลปะดั้งเดิมที่สูญหายไปเป็นร้อยๆ ปีให้กลับฟื้นคืนอีกด้วย เช่น งานทําคร่ำ ถมทอง งานจักสานย่านลิเพา เฉพาะอย่างยิ่งงานผ้า ทั้งผ้าไหมชนิดต่างๆ จก และอื่นๆ มากมาย