Saturday, September 14, 2024
ชื่นชมอดีต

มรดกจากกรุงเก่า วัดกาลหว่าร์

เรื่อง : ผศ. ประเทือง ครองอภิรดี
ภาพ : วัชระชัย ไตรอรุณ

มรดกจากกรุงเก่า

วัดกาลหว่าร์

วัดแม่พระลูกประคำ
หรือวัดกาลหว่าร์
โบสถ์คาทอลิก ริมน้ำเจ้าพระยา
ย่านตลาดน้อย ซอยโยธา
มรดกคริสตังโปรตุเกสจากอยุธยา
มางอกงามในอ้อมกอดของคริสตังไทยเชื้อสายจีน

          มาจะกล่าวบทย้อนไปสมัยอยุธยา…คริสเตียนในสมัยนั้นล้วนเป็นนิกายคาทอลิกทั้งสิ้น ไทยเราเรียก “คริสตัง” ออกเสียงตามพวกโปรตุเกส ส่วนคริสเตียนนิกายโปรแตสแตนท์เพิ่งจะเข้ามาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี่เอง ราวๆรัชกาลที่ ๓ ต่อรัชกาลที่ ๔ รุ่นเดียวกับหมอบรัดเลย์นั่นประไรซึ่งโดยมากจะมาจากแคนาดาและสหรัฐอเมริกา จึงเรียกเป็นภาษาอังกฤษออกเสียงว่า “คริสเตียน”

          บรรดาคริสตังในอยุธยานั้น คริสตังโปรตุเกสนับว่าเก่าแก่ที่สุดเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาในสมัยอยุธยาช่วงปลายๆราวสมัยพระนารายณ์มหาราช คริสตังสายฝรั่งเศสจึงเข้ามา มาล่าแล้วก็มาแรงแซงโปรตุเกสเสียด้วย อย่างที่ทราบกัน สมัยอยุธยาตอนปลายความเป็นมหาอำนาจทางทะเลของโปรตุเกสและสเปนหรือแม้แต่ฮอลันดาเริ่มเสื่อมลง ฝรั่งเศสกับอังกฤษกลับแรงแซงหน้า ฝรั่งเศสกับอยุธยาเจริญพระราชไมตรีกันเป็นการใหญ่ในสมัยพระนารายณ์ คริสตังสายฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งจากสันตะสำนักในกรุงโรม (วาติกัน) ให้เป็นประมุขมิสซัง (มิชชันนารี) แห่งสยามชาวคริสตังสายโปรตุเกสพวกหนึ่งยอมรับการปกครองสงฆ์ของประมุขมิสซังสายฝรั่งเศส ส่วนโปรตุเกสอีกพวกหนึ่งก็ถือว่าโปรตุเกสมาก่อนตั้งนานนม คริสตังฝรั่งเศสมาทีหลัง จะมาปกครองนั้นหายอมไม่

คุณพ่อประเสริฐ ตรรกเวศม์
เจ้าอาวาสท่านปัจจุบัน
โบสถ์วัดแม่พระลูกประคำ ศิลปะแบบนีโอโกธิกหน้าต่าง ประตูโค้งแหลม

          ตัดฉับจับความถึงตอนกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายแก่พม่า พ.ศ. ๒๓๑๐ อย่าว่าแต่วัดวาอารามทางพุทธศาสนาเลยที่ถูกเผาทำลายโบสถ์ของคริสต์ศาสนาซึ่งมีอยู่หลายแห่งในขณะนั้นทั้งสายฝรั่งเศสและโปรตุเกสก็หารอดพ้นไม่ เป็นต้นว่า วัดนักบุญยอแซฟ วัดซานโดมิงโก (ซานเปรโต) ซานเปาโล และอีกหลายแห่งถูกเผาทำลายสิ้น มิสซังฝรั่งเศสขัดขืนอำนาจพม่า พระสังฆราชและพระสงฆ์ฝรั่งเศสถูกจับเป็นเฉลย บรรดาคริสตังชาวโปรตุเกสคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส และชาวญวนจำนวนหนึ่งที่รอดจากการถูกฆ่าหรือจับกุม ก็พากันอพยพหนีมายังบางกอก

          ชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่งไปอาศัยอยู่บางกอกฝั่งธนบุรี ได้แก่ย่านกุฎีจีน หรือโบสถ์ซางตาครู้สในปัจจุบัน (ขณะนั้นยังไม่มีโบสถ์) ส่วนกลุ่มคริสตังโปรตุเกสที่ไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราชประมุขมิสซัง แยกมาอาศัยอยู่บนที่ดินรกร้างว่างเปล่าฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นยังไม่สร้างกรุงเทพฯ) คือบริเวณที่ตั้งวัดกาลหว่าร์ในปัจจุบันนี้ ชาวโปรตุเกสเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการทำปืน ทำป้อมค่าย และในการทำสงครามไล่พม่ากู้บ้านกู้เมืองของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ชาวโปรตุเกสคงจะมีส่วนช่วยอยู่มาก

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / อยุธยา / anurakmagazine / วัดกาลหว่าร์ / คริสตัง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ