Monday, October 14, 2024
ชื่นชมอดีต

มรดกจากกรุงเก่า วัดกาลหว่าร์

เมื่อพระเจ้าตากตั้งเมืองหลวงขึ้นที่บางกอกฝั่งธนบุรี สร้างพระราชวังอยู่ใกล้ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่ติดกับชุมชนโปรตุเกส (ซึ่งก็น่าจะเป็นพวกอยู่รักษาป้อมนั้นมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชแล้วนั่นเอง) ดังนั้น คริสตังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนี้จึงได้รับพระราชทานที่ให้อยู่อาศัยและสร้างวัดซางตาครู้สขึ้น

          ส่วนคริสตังโปรตุเกสอพยพสายกาลหว่าร์นั้น ยังไม่มีวัดเป็นของตนเองและไม่มีพระสงฆ์ ได้แต่รวมกลุ่มสวดมนต์กันเองแม้จะไม่ค่อยเห็นชอบกับฝ่ายซางตาครู้สซึ่งเป็นสายมิสซังฝรั่งเศสแต่ก็ต้องจำใจข้ามฟากไปร่วมมิสซาที่โบสถ์ซางตาครู้ส

บันไดเวียนเหล็กหล่อขึ้นสู่ชั้นลอยสำหรับนักร้องและนักดนตรี
แม่พระลูกประคำองค์อุปถัมภ์องค์ใหม่
พร้อมนักบุญ ๒ ท่าน อยู่เหนือพระแท่นบูชา

          แต่ฟากกาลหว่าร์นั้นมีของดีทีเด็ด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นำติดตัวมาจากอยุธยาด้วยอยู่ ๒ สิ่ง คือ รูปแม่พระอุ้มพระกุมารซึ่งเคยเป็นองค์อุปถัมภ์ (ถ้าเทียบกับวัดพุทธก็คือพระประธานในโบสถ์นั่นเอง) ประจำวัดเก่าของตนที่อยุธยา และรูปพระศพของพระเยซูขนาดเท่าคนจริง ที่ชาวบ้านก็เรียกกันแบบบ้านๆ จริงๆ โดยไม่ใช้ราชาศัพท์ว่า “พระตาย” รูปแม่พระกับพระตายแกะสลักด้วยไม้ ทาสีสวยงาม ฝีมือช่างโปรตุเกสหรือยุโรป ศตวรรษที่ ๑๗ แน่นอน เพราะสัดส่วนสรีระเหมือนจริงออกอย่างนั้น ชาวบ้านเล่าขานเป็นตำนานต่อๆ กันมาว่า ลอยน้ำมาขึ้นที่บริเวณวัดกาลหว่าร์ปัจุบันนี้ เห็นทีจะหมายถึงว่าใส่เรือใส่แพมาทางน้ำ หรือหาอะไรห่อๆ แล้วเอาลอยน้ำมาข้างๆ เรือ จะได้ไม่เปลืองที่นั่งคนและเป็นการพรางตาไม่ให้เห็นว่าเป็นสมบัติสำคัญอะไร ต้องนึกภาพว่าเป็นการหลบลี้หนีภัย ไม่ใช่เดินทางธรรมดา และพระรูปทั้งสองก็เป็นไม้ สามารถลอยน้ำมาได้สบายมาก เหมือนซุงไม้สักที่ปล่อยให้ล่องลงมากับสายน้ำนั่นกระมัง

About the Author

Share:
Tags: คริสตัง / นิตยสารอนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / อยุธยา / anurakmagazine / วัดกาลหว่าร์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ