Monday, October 14, 2024
ชื่นชมอดีต

มรดกจากกรุงเก่า วัดกาลหว่าร์

เพดานเหนือพระแท่นบูชา

          คริสตังฝ่ายกาลหว่าร์เก็บงำพระรูปทั้งสองไว้ไม่ยอมให้ตกอยู่กับพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส ด้วยหวังว่าสักวันจะมีวัดของตนเองและมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสกลับมาดูแล ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ พระราชทานที่ดินที่เขาอาศัยอยู่สำหรับสร้างวัดได้ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ จึงได้สร้างวัดหลังแรกขึ้นด้วยไม้ โดยยกพื้นขึ้นเล็กน้อย เพราะที่ดินแปลงนี้เคยถูกน้ำท่วม ตั้งชื่อว่า “วัดกาลหว่าร์”ตามชื่อของรูปพระตาย (กาลหว่าร์คือชื่อของเนินเขานอกกำแพง

          เมืองเยรูซาเล็ม ที่พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขน ภาษาละตินว่า Calvariae Locus ภาษาอังกฤษเป็น Calvary แต่ในพระคัมภีร์ใหม่แปลมาจากภาษากรีก เรียก “กลโกธา” (Golgotha) แปลว่า ภูเขาแห่งหัวกะโหลก หรือความตาย คือใช้เป็นที่ประหารชีวิตนักโทษ)

          เมื่อนานวันเข้าความสัมพันธ์ระหว่างคริสตังทั้งสองฝั่งเจ้าพระยาก็ดีขึ้นเปน็ ลำดับ กอปรกับฝั่งกาลหว่าร์พยายามหาพระสงฆ์โปรตุเกสมาปกครองตนแต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดคริสตังโปรตุเกสฝั่งกาลหว่าร์ก็ยอมรับอำนาจการปกครองของมิสซังฝรั่งเศสในปลายรัชกาลที่ ๒

          ชาวโปรตุเกสย่านวัดกาลหว่าร์เริ่มย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ขณะที่ชาวจีนขยับขยายจากสำเพ็งมาอยู่ย่านนี้มากขึ้น และจึงมีชาวจีนเข้ามาเป็นคริสตังเพิ่มขึ้นด้วย

          วัดหลังแรกนี้โครงสร้างไม่แข็งแรงนัก วันหนึ่งขณะทำพิธีโปรดศีลแก่ชาวจีนอยู่พื้นก็ยุบลง ผู้คนทั้งหมดหล่นลงไป ดีที่พื้นยกไม่สูงมากผู้คนจึงบาดเจ็บเล็กน้อย ยกเว้นพระผู้นำพิธีไม่เป็นอะไรเพราะยืนอยู่ตรงกรอบประตูในส่วนที่รับน้ำหนักน้อย

          วัดหลังที่สองถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ เป็นโครงสร้างครึ่งอิฐครึ่งไม้ บาทหลวงปัลเลอกัวซ์เป็นผู้ทำพิธีเสก ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งตรงกับวันฉลองแม่พระลูกประคำ จึงตั้งชื่อวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดแม่พระลูกประคำ” ตั้งแต่นั้น ต่อมาอีก ๒๕ ปี เกิดไฟไหม้ที่พักสงฆ์ เอกสารเสียหายหมด แต่ตัวโบสถ์มิได้เสียหาย อยู่มาได้ ๖๐ ปี จนชำรุดสุดจะซ่อมแซม ต้องรื้อสร้างใหม่

ช่องหน้าต่างโค้งปลายแหลมแบบโกธิกประดับกระจกสี แสดงภาพจากพระคัมภีร์ใหม่และเก่าช่องละ ๑ คู่

          วัดหลังปัจจุบันนี้คือหลังที่ ๓ สร้างเสร็จ พ.ศ. ๒๔๔๐ (รัชกาลที่ ๕) ใช้เวลาสร้าง ๗ ปี ด้วยงบประมาณ ๗๗,๐๐๐ บาท ออกแบบก่อสร้างโดยช่างชาวฝรั่งเศส เป็นอาคารแบบนีโอโกธิก หรือโกธิกประยุกต์ ทรงสูงเพรียว หน้าต่าง ประตูโค้งยอดแหลม มีหอระฆังแปดเหลี่ยมอยู่ด้านหน้า มีการสร้างรูปแม่พระลูกประคำองค์ใหม่เต็มรูปแบบ คือ ทรงมีลูกประคำในพระหัตถ์ด้วย สมพระนาม “แม่พระลูกประคำ” และประดิษฐานเป็นประธาน หรือองค์อุปถัมภ์ประจำโบสถ์เป็นการถาวร ส่วนแม่พระรูปดั้งเดิมที่นำมาจากอยุธยา (ซึ่งอุ้มพระกุมารถือคฑา หาได้ถือลูกประคำไม่) นั้น เขาได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในซุ้มด้านหน้าแท่นบูชา ด้านขวามือของผู้เข้านมัสการ และจะได้รับการอัญเชิญออกมาแห่ เมื่อถึงวันฉลองวัดในเดือนตุลาคมเป็นประจำทุกปี

          เมื่อมีการซ่อมสีแม่พระรูปเดิมเมื่อไม่นานมานี้ เขาเอกซเรย์เพื่อดูสภาพเนื้อภายในและศึกษาชั้นสีโดยละเอียดจึงพบว่ารูปแม่พระประกอบขึ้นด้วยไม้หลายชิ้น มิใช่ซุงต้นเดียว และด้านหลังของแม่พระมีห่วงเหล็กเพื่อยึดองค์ติดตั้งไว้กับผนัง เมื่อสมัยที่ใช้เป็นองค์อุปถัมประจำโบสถ์แต่ถูกปิดทับซ้อนด้วยชิ้นไม้ เมื่อคราวสร้างแม่พระองค์ใหม่มาติดตั้งเป็นองค์ประธานแทนนี่เอง

          รูปแม่พระองค์ใหม่สร้างตามแบบ “แม่พระปอมเปอี” ของอิตาลี คือแม่พระอุ้มพระกุมารด้วยพระหัตถ์ซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวายื่นสายลูกประคำให้นักบุญดอมินิโก ส่วนพระกุมารก็ยื่นสายลูกประคำให้แก่นักบุญคาทารีนา นักบุญสองท่านนี้เป็นที่นับถือ

About the Author

Share:
Tags: anurakmagazine / วัดกาลหว่าร์ / คริสตัง / นิตยสารอนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / อยุธยา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ