นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 10
เรื่อง : ส. พลายน้อย
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ตลาดน้ำ
คลองผดุงกรุงเกษม
ผู้เขียนร่อนเร่พเนจรเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๖ อาศัยร่มไม้ชายคาบ้านเพื่อนอยู่ ๒-๓ เดือน มีคนหาบ้านเช่าให้อยู่ข้างวัดนรนาถสุนทริการาม เทเวศร์ วัดนี้อยู่ใกล้คลองผดุงกรุงเกษมมีถนนเลียบคลองคั่นกลาง ปากคลองมีวังของพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) ถนนสายนี้แม้จะเป็นทางไปสู่วังเจ้านายและบ้านขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เช่น บ้านอนิรุทธเทวา เคยเห็นพลเอก เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวาขับรถออกมากับมารดาอยู่เสมอ แต่ก็ประหลาดอยู่ที่ทางเทศบาลปล่อยให้สกปรกเฉอะแฉะเวลาฝนตก คนเดินถนนต้องระวังตัวแจ ไม่เช่นนั้นขากางเกงที่รีดมาอย่างดี หรือกระโปรงสวยๆ จะเลอะไปด้วยโคลน
เหตุที่ถนนสายนี้สกปรกก็เพราะเป็นตลาดขายผักขายผลไม้นานาชนิด มีเรือบรรทุกสินค้าจอดตั้งแต่ปากคลองเข้ามาจนถึงสะพานเทเวศรนฤมิตร
ย่านนี้เข้าใจว่าจะมีความเจริญมาก่อน ด้วยปรากฏว่าข้างวัดนรนาถฯ นี้เคยมีคลองเก่าเรียกกันว่า คลองนางหงส์เป็นคลองชาวบ้านขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยา ลดเลี้ยวไปจนถึงวัดชำนิหัตถการ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดสามง่าม เพราะตั้งอยู่บริเวณที่เป็นคลองแยกออกไปเป็นสามง่าม ปัจจุบันวัดนี้อยู่ริมถนนพระราม ๑ ในสมัยที่ยังไม่มีถนน คลองนางหงส์เป็นเส้นทางสำคัญที่พวกพ่อค้าแม่ขายนำสินค้าจากสวนฝั่งธนบุรีไปขายตามไร่นาฝั่งตะวันออก และชาวนาจากทุ่งตะวันออกนำข้าวออกไปขายชาวเรือชาวแพที่จอดอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ บ้านเรือนภายในกำแพงเมืองครั้งรัชกาลที่ ๑ มีหนาแน่นมากขึ้น ผู้คนก็มีมากขึ้น พื้นที่ภายในพระนครมีน้อยลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริว่า “ทุกวันนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น
ผู้คนก็มากกว่าเมื่อแรกสร้างกรุงหลายเท่า ควรที่จะขยายพระนครออกไปให้ใหญ่กว้างอีกชั้นหนึ่ง จึงโปรดให้ ฯพณฯท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นกงสี จ้างจีนขุดคลองคูพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง ปากคลองข้างใต้ออกริมวัดแก้วฟ้า ปากคลองข้างทิศเหนือออกไปริมวัดเทวราชกุญชร”
คลองคูพระนครนี้ขุดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ขุดอยู่ ๑๐ เดือน สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๕ ได้คลองกว้าง ๑๐ วา ลึก ๖ ศอก ยาว ๑๓๗ เส้น ๑๐ วา คิดค่าขุดเส้นละ ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ได้รวมค่าคลองค่าไม้แล้วเป็นเงิน ๓๙๑ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๑ บาท ๑ เฟื้องได้พระราชทานชื่อว่า คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้คล้องจองกับชื่อคลองรอบกรุง ครั้งรัชกาลที่ ๑
คลองผดุงกรุงเกษม หรือที่ชาวบ้านครั้งนั้นเรียกกันว่าคลองขุดใหม่ ในสมัยแรกก็เป็นคลองธรรมดาเหมือนคลองทั่วๆ ไป ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้วัดโสมนัสวิหารเล่าว่าสมัยที่ยังไม่มีสะพานข้ามคลอง บางแห่งใช้ต้นหมากต้นมะพร้าวทอดข้ามคลองเป็นสะพานเดินข้ามไป เพราะเป็นที่สวนโดยมาก เมื่อเริ่มตัดถนนใหม่ๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นถ้าใครนั่งรถม้าจากในพระนครไปถึงคลองผดุงกรุงเกษมได้ก็ถือว่าไปได้ไกลมากแล้ว เพราะยังไม่มีสะพานข้ามคลอง
ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริว่าพระบรมมหาราชวังคับแคบ ได้เสด็จประทับเรือพระที่นั่งไปตามคลองผดุงกรุงเกษม ทอดพระเนตรเห็นทางฝั่งคลองด้านเหนือเป็นที่ร่มรื่นอากาศปลอดโปร่งดีน่าจะเป็นที่พักผ่อนพระราชอิริยาบถได้ จึงโปรดให้หาซื้อที่ทำสวนสร้างที่ประทับ ต่อมาทรงเห็นว่าเป็นที่ทรงสบายโปรดให้สร้างพระราชวังเป็นที่ประทับเป็นการถาวร
เท่าที่ทราบ ถนนจากพระบรมมหาราชวังจะมีมาถึงบางลำพูประตูใหม่ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ ครั้นเมื่อสร้างวัดมกุฏกษัตริยารามขึ้นแล้ว จึงได้ทำถนนสามเสนต่อจากบางลำพูข้ามสะพานนรรัตนสถานตรงประตูใหม่ เพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินไปวัดมกุฏกษัตริยารามได้สะดวกขึ้น ถนนสามเสนนี้ไปบรรจบกับถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษมที่วัดนรนาถสุนทริการาม
ข้างต้นออกชื่อบางลำพู ประตูใหม่ไว้ คนชั้นหลังอาจไม่ทราบเรื่อง จึงขอขยายความต่อสักเล็กน้อย คือในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น กำแพงพระนครตามแนวคลองรอบกรุงบริเวณตั้งแต่ป้อมพระสุเมรุไปจนถึงป้อมมหาไชย (หน้าวังบูรพา) ยังมีอยู่ ตามประตูเมืองหรือประตูช่องกุด จะมีสะพานไม้ข้ามคลองติดต่อกันได้ เช่นที่บางลำพูจะข้ามไปบางขุนพรหมก็มีสะพานไม้ ที่กล่าวได้เช่นนี้เพราะมีเหตุ คือ
เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๒ ต้นรัชกาลที่ ๕ เวลาเกือบบ่ายโมง ขณะที่กำลังอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรง
ทำขนมจีน ถนนสิบสามห้าง บางลำพู ใกล้กับวัดบวรนิเวศวรวิหาร แล้วลุกลามข้ามกำแพงพระนครไหม้เลียบกำแพงและริมคลองบางลำพู ไปถึงสะพานข้ามคลองตรงบริเวณที่เป็นสะพานนรรัตนสถานปัจจุบัน ได้ไหม้สะพานข้ามคลองไปข้างวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส (พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔)
หลังจากไฟไหม้ครั้งนั้นแล้ว ได้สร้างสะพานขึ้นใหม่แต่จะเป็นสะพานไม้แบบเดิมหรืออย่างไรไม่ทราบ เท่าที่เห็นจากรูปเขียนที่จำลองมาเป็นปกหนังสือ “ประตูใหม่” ทำเป็นเหล็กโค้งเหนือสะพาน มีป้ายชื่อบอกว่า “นรรัตนสถาน” ที่ได้ชื่อเช่นนั้นก็เพราะเป็นสะพานที่อยู่ข้างบ้านพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) นั่นเอง หนังสือ “ประตูใหม่” เป็นหนังสือรายปักษ์ พิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรัชกาลที่ ๕ จึงน่าจะเป็นสะพานที่ทำด้วยเหล็ก ตามรูปจะเห็นสิ่งก่อสร้างลักษณะคล้ายป้อมอยู่สองข้างเชิงสะพานคล้ายเป็นช่องประตู แต่ไม่มีบานประตู แต่คนเห็นเป็นช่องประตูที่ทำใหม่ จึงเรียกว่า “ประตูใหม่”
เมื่อขุดคลองผดุงกรุงเกษมแล้ว ผู้คนก็ขยับขยายออกไปทางสามเสนมากขึ้น เกิดความจำเป็นต้องสร้างสะพาน
สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมมีหลายสะพาน ที่ออกชื่อเรียกกันมากก็คือ สะพานเทเวศรนฤมิตร ที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นสะพานที่ข้ามไปสามเสน สร้างเมื่อ ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการสร้าง แล้วพระราชทานนามว่า สะพานเทเวศรนฤมิตร
ตรงนี้ขออนุญาตเล่านอกเรื่องสักนิด คือมีคนสงสัยกันว่าชื่อตำบลเทเวศร์ เขียนว่าอย่างไร เพราะบางคนเขียน “เทวะเวสม์” ก็มี เรื่องนี้กล่าวตามที่สังเกต คำว่า “เทวะเวสม์” น่าจะมาจากชื่อวังที่รัชกาลที่ ๖ สร้างพระราชทานสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ส่วน “เทเวศร์” น่าจะมาจาก “เทเวศร์วงษ์วิวัฒน์” ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการซึ่งดูแลการก่อสร้างสะพานดังกล่าวข้างต้น
มีเรื่องที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะให้ชื่อสะพานต่างๆ ที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม มีชื่อเป็นสะพานที่เทวดาทรงสร้าง เพราะหลังจากสร้างสะพานเทเวศรนฤมิตรแล้ว ได้โปรดให้กระทรวงโยธาธิการจัดสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นอีกสะพานหนึ่ง พระราชทานนามว่า “สะพานมัฆวานรังสรรค์” นายช่างผู้ออกแบบสะพานชื่อนายคาร์โล อัลเลกรี ชาวอิตาลี ซึ่งรับราชการอยู่กระทรวงโยธาธิการ ได้ลงมือจับทำ แต่เดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ใช้เวลาประมาณ ๓ ปี ทรงพระกรุณาให้ทำตามความสะดวก ไม่เร่งรัด เพราะมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสะพานที่ทำอย่างวิจิตรงดงาม เครื่องตกแต่งล้วนแต่ศิลาแลเครื่องเหล็กกะไหล่ทอง เป็นของงามดียิ่งกว่าสะพานอื่นๆในกรุงเทพฯ
ในครั้งนั้นโปรดให้ตัดถนนขึ้นใหม่อีกสายหนึ่งเพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระราชวังดุสิตที่สร้างใหม่ พระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนินนอก”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะให้ชื่อสะพานต่างๆ ที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม มีชื่อเป็นสะพานที่เทวดาทรงสร้าง เพราะหลังจากสร้างสะพานเทเวศร-นฤมิตรแล้ว ได้โปรดให้กระทรวงโยธาธิการจัดสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นอีกสะพานหนึ่ง พระราชทานนามว่า “สะพานมัฆวานรังสรรค์”
และเมื่อถนนราชดำเนินนอกและสะพานมัฆวานรังสรรค์สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินผ่านเป็นปฐมฤกษ์ และเปิดใช้เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖
ได้กล่าวมาในตอนต้นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริจะให้ชื่อสะพานต่างๆ ที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษมมีชื่อเป็นเทวดาสร้าง ก็เพราะได้พบพระราชกระแสดังกล่าวเป็นลายพระราชหัตถเลขาทรงร่างชื่อสะพานต่างๆ ไว้ ดังต่อไปนี้
“ยังมีตพานอีก ๔ ตพานต่อเทเวศรนฤมิตร อยากจะให้ เป็นวิศกรรมสร้างอันหนึ่ง พระอินทร์สร้างอันหนึ่ง พระพรหม สร้างอันหนึ่ง พระเทวกรรมสร้างอันหนึ่ง แต่ไปติดภาษามคธ คําคู่กับนิมิตรา เช่น สถิตย์ นิมานการ นิมา แปลว่าวัด ตามดิกชันนารีฝรั่งเหมือนนิมิต แต่จะใช้นิมานจะเป็นภาษา ฤาไม่ ถ้าใช้วิศกรรมนิมา ฤานิมานจะเป็นกะไรต่อไป เป็นมัฆวาน ฤๅ ร จําไม่ได้ว่าสกดอไร ไม่เคยเขียน จําได้แต่ มฆวา จะต่อท้ายอไรจึงไปพรหม ที่จะให้ชื่อเทวกรรมเป็น ตพานถนนพฤติบาทดูช้างฯ เข้าที่อยู่ ขอให้นึกให้ด้วย
เทเวศนฤมิตร
วิศกรรมนิรมาณ
มัฆวาน
เทวกรรม์
พระราชกระแสดังกล่าวข้างต้น ได้ทรงเขียนในกระดาษ แผ่นเล็กๆ ประทานกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ (ได้เลื่อนเป็นกรมพระในรัชกาลที่ 5) ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องภาษามคธให้ช่วยคิดต่อ ซึ่งปรากฏชื่อในปัจจุบัน
ดังต่อไปนี้
สะพานเทเวศรนฤมิตร
สะพานวิศกรรมนฤมาน
สะพานมัฆวานรังสรรค์
สะพานเทวกรรมรังรักษ์
สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์
ที่เล่ามาค่อนข้างยาวก็เพื่อให้เห็นความพิเศษของคลอง ผดุงกรุงเกษมว่ามีอะไรที่ต่างไปจากคลองอื่นๆ บางทีจะเป็น ประโยชน์แก่ผู้นําเที่ยวบ้าง
ได้กล่าวมาในตอนต้นว่า เมื่อครั้งผู้เขียนมาอยู่เทเวศร์นั้น บริเวณต้นคลองจนถึงสะพานเทเวศรนฤมิตรเป็นตลาด ขายพืชผักผลไม้ แต่ที่น่าดูมากก็คือ เมื่อถึงหน้าแตงโม จะมี เรือบรรทุกแตงโมจอดเรียงรายทั้งเรือเล็กเรือใหญ่ประมาณ ร้อยลํา เป็นตลาดแตงโมที่ใหญ่แห่งหนึ่ง มีคนมาซื้อตลอด ทั้งวัน ทําให้เทเวศร์ดูคึกคักขึ้นอีกมาก
ครั้นต่อมาเมื่อมีนโยบายห้ามจอดเรือในคลองผดุงกรุงเกษม ความเงียบเหงาก็เข้ามาแทนที่ คลองที่ไม่มีเรือ พายไปมา น้ําก็ไม่เคลื่อนไหว เรียกกันว่าน้ําตาย เมื่อไม่มี การเคลื่อนไหวนานไปน้ําก็เน่า คลองก็ไม่มีประโยชน์อะไร คําโบราณมีกล่าวไว้ว่า “น้ําพึ่งเรือ” คือเรือที่จะผ่านไปมา จะทําให้น้ําเคลื่อนไหว น้ําไม่ตาย ฉะนั้นการมีตลาดน้ําจึงมี ประโยชน์ทั้งคนและคลองอย่างแน่นอน