Thursday, December 12, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

จากอิสตันบูลสู่แดนสยาม…ศิลปะเชื่อมเรา

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 68
เรื่อง: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
ภาพ: เจษฎา นรัตถรักษา และ นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

มัสยิดอายาโซเฟียและอาคารยอดโดมหลังเล็กทำหน้าที่คอยประกบ เพื่อถ่ายน้ำหนัก และยันตัวอาคารหลักไว้ไม่ให้เขยื้อน

จากอิสตันบูลสู่แดนสยาม…

ศิลปะเชื่อมเรา

๐๕.๑๐ น. เจ้านกเหล็กค่อยๆ ร่อนลงลงแตะพื้นรันเวย์อย่างนุ่มนวล เสียงแอร์โฮสเตสประกาศเตือนให้ระวังความหนาวเย็นจากภายนอก ๘ องศาเซลเซียส ผู้โดยสารหลายคนขยับเสื้อกันหนาวให้กระชับเข้ากับลำตัวเตรียมพร้อม

            จากท่าอากาศยานอิสตันบูลใช้เวลาเดินทางราว ๓ ชั่วโมง เขตพื้นที่ประวัติศาสตร์ก็อยู่ที่เบื้องหน้านี่เอง ทางเดินปูบล็กซีเมนต์นำนักท่องเที่ยวหลากเชื้อชาติไปยังกลุ่มโบราณสถาน อันเป็นรากฐานของงานศิลปะอิสลาม (Islamic art) แห่งดินแดนที่ได้ชื่อว่ามี ๒ ทวีป ใน ๑ เดียว…ตุรเคีย

            ศิลปะอิสลามได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการเริ่มต้นปีฮิจญ์เราะฮ์ที่ ๑ (คริตส์สักราช ๖๒๒) คือเริ่มนับจากการอพยพของท่านศาสดามุฮัมมัดจากนครมักกะฮ์ไปยังนครมะดีนะฮ์ เนื่องจากมีการเริ่มต้นสร้างมัสยิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก

ในตอนนั้นท่านศาสดามุฮัมมัดได้สร้างมัสยิดอย่างเรียบง่ายจากกิ่งและใบอินทผลัม ก่อกำแพงเป็นชั้นๆ โดยยังไม่มีหลังคา การสร้างศาสนสถานครั้งนั้นมีจุดมุ่งหมายคือ “ให้เป็นดั่งบ้านของพระเจ้า” การสร้างมัสยิดจึงนับเป็นสถาปัตยกรรมที่เสมือนดังภาพรวมของโครงสร้างงานศิลปะทั้งมวล ก่อนจะแตกแขนงออกเป็นศิลปะประยุกต์ต่างๆ

ช่องเปิดรับแสงให้ส่องเข้ามายังโถงวิหารอาเกีย โซเฟีย เป็นจิตวิทยาให้เกิดความรู้สึกเหมือนลำแสงจากสรวงสวรรค์ส่องลงมายังพื้นโลก

ที่จุดเริ่มต้นแห่งปัญญา…ซานตาโซเฟีย (Sancta Sophia)

            ย้อนเวลาไปเมื่อ ๑๐๐๐ ปีก่อน กลับไปยังเมืองคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรไบเซนไทน์ (Byzentine) ในปีคริสต์ศักราช ๕๓๒-๔๒๗ จักรพรรดิ์จัสติเนี่ยนที่ ๑ (Justinibe I) ได้มีพระราชบัญชาให้สร้างมหาวิหารซานตาโซเฟียขึ้นเพื่อบูชาพระคริสต์ โดยมีสถาปนิกชาวกรีก ๒ คน คือ แอนเธมิอุสแห่งเมืองทรัลเลส (Anthemius of Tralles) และอิซิโดรุสแห่งเมืองมีเลตุส (Isidore of Miletus)  ร่วมกันเค้นสมองออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างกันจนมหาวิหารสุดอลังการหลังนี้แล้วเสร็จใน ๖ ปีต่อมา

            นามคำว่า “ซานตา โซเฟีย” (Sancta Sophia) เป็นละติน ส่วนภาษากรีก คือ “ฮาเกีย โซเฟีย” (Hagia Sohia) แปลว่า “ปัญญาอันศักดิ์สิทธิ์”

ภาพโมเสกเรื่องราวเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาภายในมหาวิหารอาเกีย โซเฟีย เป็นตอนที่ จักรพรรดิเลโอที่ ๖ ผู้ชาญฉลาด แห่งราชวงศ์มาซิโดเนียน (ค.ศ.๘๘๖-๙๑๒๗) กำลังก้มกราบพระคริสต์ ในวงกลมด้านซ้ายมือของพระคริสต์ คือหัวหน้าทูตสวรรค์กาเบรียล และด้านขวามือ คือ พระแม่มารี

ปัญหาของสี่เหลี่ยมและวงกลม

            ต่อจากนี้ขอให้ทุกคนหลับตาใช้จินตนาการ หรือจะหยิบกระดาษดินสอขึ้นมาวาดภาพตามก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ในยุคสมัยนั้นการสร้างโดมถือว่าเทคโนโลยีที่ล้ำที่สุดม หาวิหารอาเกีย โซเฟีย ก็มีการสร้างกับเขาด้วย แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ตัวอาคารสี่เหลี่ยมที่ต้องรองรับโดมทรงกลมขนาดใหญ่  ก็ลองนึกภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีวงกลมอยู่ภายในดู จะพบว่า มีจุดที่วงกลมสัมผัสกับสี่เหลี่ยมอยู่แค่ ๔ จุด ซึ่งดูแล้วไม่มั่นคงเอาเสียเลย สถาปนิกจึงสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ระยะค้ำ” (pendentive) ขึ้นมาเติมเต็มช่องว่างระหว่างสี่เหลี่ยมและวงกลม ช่วยเพิ่มพื้นที่สัมผัสเข้าไปให้โดมนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น

แต่ความที่โดมของอาเกีย โซเฟียนั้นไม่ได้กลมดิกแบบ 360 องศา ติดจะรีๆ สักหน่อย ต่อมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงได้พังทลายลงมา งานซ่อมและสร้างใหม่จึงเกิดขึ้นในคริสต์ศักราช ๕๖๓ คราวนี้ไม่เพียงแต่ซ่อมโดม แต่ยังมีการสร้างอาคารยอดโดมหลังเล็กคอยประกบ เพื่อถ่ายน้ำหนัก และยันตัวอาคารหลักไว้ไม่ให้เขยื้อน

พบว่าเจดีย์หลายองค์ในล้านนามีการใช้เทคนิคการสร้างโดมที่มีระยะค้ำ (pendentive dome) เช่น ที่วัดร่องโพธิ์ จังหวัดเชียงใหม่ และ เจดีย์วัดเกาะกลาง จังหวัดลำพูน สันนิษฐานว่าอาจจะมีการรับอิทธิพลจากช่างมุสลิมในช่วงคริสตวรรษที่ ๑๒

ภายหลังจากที่สุลต่านเมห์เหม็ดเปลี่ยนมหาวิหารอาเกีย โซเฟีย ให้เป็นมัสยิดหลวงแห่งอาณาจักรออตโตมัน ก็ให้มีการลบภาพโมเสกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ทิ้งหรือฉาบปูนขาวทับ จนกระทั่งปีค.ศ.๑๙๓๑ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เพื่อปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จึงได้มีการชำระล้างปูนขาวที่ปิดทับเอาไว้ออก

ถึงจุดเปลี่ยน

            แล้วเหตุใดสถาปัตยกรรมหลังนี้จึงมีทั้งศิลปะแห่งพระคริสต์ และจารึกพระวัจนะของพระอัลเลาะห์มาประดิษฐานอยู่ด้วยกันได้ ใจเย็นๆ กำลังจะเล่าเดี๋ยวนี้แล้ว

นครคอนสแตนติโนเปิลแม้จะถูกรุกรานบ่อยครั้งแต่ไม่เคยแตกพ่ายเลย เพราะมีปราการถึง ๓ ชั้นด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามกำแพงนี้กำแพงนี้รับแรงประทะได้เพียงหินจากเครื่องดีดเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันการโจมตีจากปืนใหญ่และปืนไฟได้ ในที่สุดก็ถึงแก่กาลล่มสลาย

สุลต่านมาเหม็ดที่ ๒ ผู้พิชิตนครคอนสแตนติโนเปิล จึงได้สถาปนาอาณาจักรออตโตมันขึ้นในปีคริสต์ศักราช ๑๔๕๓ และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “กุสฏอนฏินียะฮะ” หรือ “อิสตันบูล” ในปัจจุบัน มหาวิหารฮาเกีย โซเฟีย จึงได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นมัสยิดหลวงในศาสนาอิสลาม และถูกเรียกขานในนามใหม่ว่า “อะยาโซเฟีย” (Ayasofya)

ภายใต้แสงโคมอันขรึมขลังเมื่อมองขึ้นไปยังเพดานจะพบว่า ภายในอะยาโซเฟียตกแต่งด้วยโมเสกเป็นเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีอา อัครสาวก ไม้กางเขน และพรรณพฤกษา ซึ่งเรื่องของลายพรรณพฤกษาขอให้ทดไว้ใจก่อน เดี๋ยวจะเล่าต่ออีกที

หลังจากตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งออตโตมัน จึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีองค์ประกอบเพิ่มเติมเยี่ยงสถาปัตยกรรมอุษมานียะฮ์ เช่น มิห์รอบ (ซุ้มละบุทิศทางกิบละฮ์เพื่อการละหมาด) มิมบัร (ธรรมาสน์ประกาศ) หออะซานทั้ง ๔ หอ (หอประกาศเวลาละหมาด) และ ศิลปะอักษรวิจิตรซึ่งเป็นพระวัจนะของพระอัลเลาะห์

นักท่องเที่ยวหลากเชื้อพันธุ์บ้างรัวชัตเตอร์ราวเสียงปืนกล บ้างสงบนิ่งดื่มด่ำร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะอิสลามและคริสต์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นมรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของมนุษยชาติที่ยั่งยืนยาวนานมากว่า ๑,๕๐๐ ปี

สังเกตเพดานโดมของมัสยิดอาเกียโซเฟียมีจุดสัมผัส ๔ จุด เพื่อรับน้ำหนักโดม และมีการสร้างระยะค้ำและวาดรูปทูตสวรรค์ ใกล้กับยอดโดมมีอักษรวิจิตรเขียนประประดับ

มัสยิดสุลต่านอะห์เหม็ด…ความเฉิดฉันแห่งยุคอุษมานียะฮ์ (Osmanli)

            เมื่ออาณาจักรไบเซนไทน์ล่มสลาย ถึงคราวที่จักรวรรดิ์อุษมานียะฮ์เรืองอำนาจ เอ่ยชื่อ “อุษมานียะฮ์” อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าก็คือ “ออตโตมัน” นั่นละ คงจะร้องอ๋อ! กันทันที

แม้ว่าจะเปลี่ยนมหาวิหารอาเกีย โซเฟียให้เป็นมัสยิดหลวงแล้ว แต่ก็ต้องมีการสร้างมัสยิดต่างๆ ที่เป็นของตนขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นการสืบทอดพระศาสนา

แต่การสร้าง “มัสยิดมัสยิดสุลต่านอะห์เหม็ด” ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อบูชาพระอัลเลาะห์อย่างเดียว แต่สุลต่านอะห์เหม็ดที่ ๑ (Sultan Ahmed I) ยังมีเหตุผลทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย หนึ่ง คือ เพื่อคืนความเชื่อมั่นที่กองทัพเรือมีต่อพระองค์ เนื่องจากการทำสงครามกับเปอร์เซียนั้นยืดเยื้อก่อนจะจบลงด้วยการเจรจาสงบศึก และอีกหนึ่งคือ สร้างให้ใหญ่ ให้ประจันหน้ากับอะยา โซเฟีย เพื่อบ่งบอกถึงพระราชอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหนืออาณาจักรไบเซนไทน์

สถาปัตยกรรมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๐๙-๑๖๑๖ ออกแบบโดยสถาปนิกเซเดฟกาห์ เมห์เหม็ด อา (Sedefkar Mehmed Agha) นับเป็นการพัฒนาเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอุษนียะห์อย่างแท้จริง คือมีการนำข้อเสียของสถาปัตยกรรมไบเซนไทน์มาปรับปรุง เป็นต้นว่าแม้จะมีการสร้างเพ็นเด็นทีฟโดม แต่ก็มีการสร้างโดมเล็กขึ้นมาค้ำยันพร้อมๆ กับการสร้างอาคารหลัก ไม่ได้ทยอยสร้างแบบเดิม

ที่น่าสังเกตคือการก่อซุ้มโค้ง เพื่อทำระยะค้ำเพื่อทำหน้าที่เพิ่มพื้นที่ในการเกาะของโดม ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็น การก่อซุ้มยอดแหลม ซึ่งลักษณะซุ้มยอดแหลมนี้ ต่อมาจะส่งอิทธิพลมายังการก่อซุ้มประตูในสมัยอยุธาช่วงรัชกาลสมเด็จพระรายณ์ด้วย

คราวนี้เมื่อมีอาคารแล้วจะปล่อยให้ผนังว่างๆ ไร้สิ่งประดับก็กระไรอยู่ แต่ด้วยข้อห้ามทางศาสนาในเรื่องการสร้างรูปเคารพ ซึ่งรวมไปถึงรูปบุคคลและสัตว์โดยไม่จำเป็นด้วย ศิลปินจึงแสดงออกโดยการสร้างลายพรรณพฤกษา อักษรวิจิตร และลายเรขาคณิต

แล้วลายพรรณณพฤกษานี่เขาก็ไม้ได้วาดกันแค่ดอกสองดอกพอเป็นพิธีนะ แต่ทันทีที่ก้าวย่างเข้าไปภายในมัสยิดสุลต่านอะห์เหม็ดเป็นต้องตะลึงลานไปกับลวดลายพรรณพฤษาที่พราวไปทั้งผนัง ซึ่งช่างฝีมือเขาให้กระเบื้องอิซนิก (Iznik tiles) กว่า ๒๐,๐๐๐ ชิ้น วาดด้วยมือกว่า ๗๐ แบบ และยังมีลวดลายดอกทิวลิปถึง ๕๐ สายพันธุ์ทีเดียว ซึ่งดอกทิวลิปแท้จริงเป็นดอกไม้ที่กำเนิดในตุรเคียนี่เอง

สีสันและองค์ประกอบต่างๆ ได้รับการออกแบบและจัดวางอย่างลงตัว แม้ลวดลายจะพราวไปทั้งอาคารแต่กลับมองได้ไม่มีเบื่อเลย โดยเฉพาะการใช้แผ่นกระเบื้องอิซนิกบริเวณชั้นบน เพดาน และหลังคา เมื่อยามที่แสงอาทิตย์สาดส่องผ่านช่องกระจกสีเข้ามา จะทำให้แลเห็นเป็นสีน้ำเงิน อันเป็นที่มาของชื่อเล่น “บลู มอสก์” (Blue mosque) ที่เรียกขานกันจนชิน

ลวดลายพรรณพฤกษาอันตระการตาบนกระเบื้องอิซนิกที่ประดับในมัสยิดสุลต่านอะห์เหม็ด

ศิลปะแห่งการเปิดใจเมื่อไปพระราชวังทอปกาปึ

            ในบริเวณพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมือง ไม่ได้มีเพียงแค่มัสยิดเท่านั้น ยังมีพระราชวังขนาดใหญ่แห่งจักรวรรดิออตโตมันด้วย พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศักราช ๑๔๕๙ ตามพระราชบัญชาของสุลต่านเมห์เหม็ดที่ ๒ (Mehmed II) หลังจากพิชิตอาณาจักรไบเซนไทน์ได้สำเร็จ

ในสมัยแรกเรียกว่า “เยนิซาลาย” (Yeni saray) หมายถึง พระราชวังแห่งใหม่ ต่อมาเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จึงเปลี่ยนนามใหม่เป็น “ทอปกาปึ” (Topkapi) ที่หมายถึง ประตูปืนใหญ่

สังเกตซุ้มโค้งภายในมัสยิดสุลต่านอะห์เหม็ด ที่ออตโตมันพัฒนาขึ้นมาจากสถาปัตยกรรมไบเซนไทน์ให้มียอดแหลมเล็กน้อย

ว่าด้วยเรื่องลายพรรณพฤกษา

 ที่ด้านหน้าประตูพระราชวังมีสถาปัตยกรรมหลังหนึ่งที่ดูคล้ายเห็ดดอกยักษ์ มีก็อกน้ำอยู่ทั้ง ๔ มุม ให้ประชาชนได้ดื่มกินด้วย เห็ดยักษ์ เอ๊ย! อาคารเล็กหลังนี้เรียกว่า “น้ำพุแห่งอะห์เหม็ดที่ ๓” (Fountain of Ahmed III) สร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศักราช ๑๗๒๘  แลดูเป็นศิลปะตะวันตกผสมออตโตมัน เมื่อไล่สายตาไปตามหินสลักบนผนังอาคารจะพบลายพรรณพฤกษาอีกแล้ว ใช่! ลายพรรณพฤกษาที่ให้ทดไว้ในใจตั้งแต่ตอนต้นเรื่องนั่นล่ะ แม้ว่าลายพรรณพฤกษาจะได้ชื่อว่า “อาราเบซ” (Arabesque) ที่หมายถึง ลวดลายของอาหรับ แต่ก็รับอิทธิพลมาจากไบเซนไทน์ก่อนจะส่งต่อให้สยามในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกต่อหนึ่ง ซึ่งคาดว่าส่งผ่านมาทางเส้นทางการค้าขาย ครูช่างของเราก็ได้นำลายอิทธิพลเหล่านี้มาประยุกต์ให้งามวิจิตรราวกับสวนสวรรค์ทีเดียว

ลวดลายพรรณพฤกษาบนผนังนั้นอ่อนหวาน จัดวางช่องไฟอย่างเป็นระเบียบต่อเนื่องกันไปไม่จบสิ้น ราวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ไม่มีต้นไม่มีปลายทรงเป็นอนันต์ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าลวดลายประดับเหล่านั้นบ้างก็คล้ายลายก้านขด บ้างก็คล้ายลายเครือเถา บ้างก็คล้ายลายดอกประจำยามก้ามปู นี่ถ้าสายจิตรกรรมมาพินิจอาจจะพบลวดลายมากกว่าที่เล่ามานี้ก็เป็นไปได้ ไม่เพียงเท่านี้ที่บริเวณเสายังพบลายสานไส้ไก่ (Endless knot) ที่คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องกระเบื้องของจีนด้วย

กระจกสีลวดลายเรขาคณิตภายในมัสยิดสุลต่านอะห์เหม็ด

อักขระอันวิจิตร

ที่ประตูป้อมปราการอันขึงขังแข็งแรงยังมีงานศิลปะอ่อนช้อยให้พินิจเพลินๆ ระหว่างยืนรอคิว มองขึ้นไปที่เหนือกรอบประตูมีมีสัญลักษณ์ลายเส้นเดินสีทอง จังหวะเส้นโค้ง หนักเบา สวยงามในกรอบหรูหรา เรียกว่า “ทูร่า” (Tughra) หรือ ตราพระราชลัญจกร     ของสุลต่านเมห์เหม็ดที่ ๒

การออกแบบทูร่าจะมีนิซานจึ (Nişanci) หรือ นักอักษรวิจิตรราชสำนัก (court calligrapher) เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น สุลต่านแต่ละพระองค์จะมีทูร่าประจำรัชกาล นอกจากจะออกแบบมาเพื่อความงดงามของตัวอักษร แล้วยังป้องกันไม่ให้ถูกปลอมแปลงได้โดยง่าย ใช้ประทับแทนการลงพระปรมาภิไธยบนเหรียญกษาปณ์ พระราชกฤษฎีกา เอกสารทางราชการ รวมทั้งใช้ประทับลงบนหนังสือเลขาวิจิตรออตโตมัน

มองสูงเหนือทูร่าขึ้นไปเป็นอักษรวิจิตรแบบ “ษุลุษ” (Thuluth) ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันในประเทศตุรเคีย และบนสุดชิดกับซุ้มโค้งเป็นอักษรวิจิตรที่งดงามอลังการที่สุดภาพหนึ่ง มองราวกับหยาดนำ้ฝนสีทองทีเดียว

ข้อความที่นำมาออกแบบเป็นอักษรวิจิตรมักจะเป็นข้อความในคำภีร์อัลกุรอาน เห็นแล้วทำให้นึกถึงการออกแบบวรรณรูปของอาจารย์เจริญ กุลสุวรรณ ที่มีแรงบันดาลใจจากหลักคิดทางศาสนาเช่นกัน

ภายในเขตพระราชฐานคราค่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาชื่นชมหมู่อาคารต่างๆ ที่อยู่ภายในทั้งมัสยิด สถานพยาบาล โรงอบขนมปัง โรงกษาปณ์ และคลังหลวง แต่ภายใต้ความงดงามยังแฝงเรื่องที่น่าตกใจเอาไว้ด้วย ดังที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้แล้ว

น้ำพุแห่งอะห์เหม็ดที่ ๓ ลวดลายที่กั้นแบ่งช่องดูคล้ายลายก้านขดหรือผักกูด และ ใต้กรอบโค้งเหนือก๊อกน้ำคล้ายกับลายเครือเถาที่มักพบประดับอาคารในบ้านเรา และลายสานไส้ไก่บริเวณหัวเสา

มูรัคคาร์…งานศิลปะแห่งยุคสมัย

ในช่วงรัชสมัยของสุลต่านอะห์เหม็ดที่ ๑ (Sultan Ahmed I) ได้เกิดกระแสความนิยมทางงานศิลป์แบบใหม่เรียกว่า “มูรัคคาร์” (Muraqqa) หรือจุลจิตรกรรม เป็นหนังสือภาพที่รวบรวมภาพจิตรกรรมขนาดเล็ก อักษรวิจิตร และบทกวีเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เป็นที่นิยม และสรรหามาสะสมในราชสำนักออตโตมันอย่างกว้างขวาง ต่อมายังได้แพร่ไปสู่คหบดีในกรุงอิสตันบูลด้วย

ภายในพิพิธภัณฑ์พระราชวังทอปกาปึเองก็มีหนังสือภาพจุลจิตรกรรมจัดแสดงไว้ เนื่องจากเมื่อ ๖๐๐ ปีก่อน พระราชวังทอปกาปึเป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์ศิลปะประยุกต์อุษมานียะฮ์ แบบจุลจิตรกรรม มีอยู่เล่มหนึ่งชื่อ “ซินารินาบี” ( Siyar-i-Nabi) เป็นบันทึกภาพ “ซิรา” (Sira) หรือหนังสือภาพชีวประวัติของท่านศาสดามูฮัมหมัด ภาพหลายภาพที่ปรากฏในหนังสือมีนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่าส่งอิทธิพลให้กับงานจิตรกรรมไทยประเพณีในสมัยอยุธยา เช่น ภาพรัศมีรอบศีรษะของท่านศาสดาที่ส่งอิทธิพลต่อและการสร้างพระพุทธรูปและ การสร้างลวดลายกนกเปลวบนตู้ลายรดน้ำ

ลวดลายใต้ชายคาเพดานประตูทางเข้าโบราณสถานหลังหนึ่ง ในเขตพระราชวังทอปกาปึดูคล้ายลายดอกประจำยามก้ามปู

ยังมีอีกภาพหนึ่งที่ฟังแล้วอาจจะยากทำใจยอมรับ เป็นภาพศาสดามูฮัมหมัดขี่ตัวบุรอก (สัตว์ที่มีหน้เป็นคน ตัวเป็นล่อ และมีหางเป็นนกยูง) ห้อมล้อมด้วยพวกญิบริล (เทพสวรรค์) ห้อมล้อม มีข้อสันนิษฐานเปรียบเทียบว่าส่งอิทธิพลต่อการวาดภาพมหาภิเนษกรมณ์ในสมัยอยุธยา แม้จะยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง แต่เราต้องรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้างไปพร้อมกับการศึกษาหาข้อเท็จจริง

เมื่อเราออกเดินทางดูโลกกว้าง จะพบว่าบ้านที่เราจากมาเป็นเพียงจุดหนึ่งบนพื้นพิภพเท่านั้นเอง

อักษรวิจิตรด้านหน้าทางเข้าพระราชวังทอปกาปึ เหรือกรอบประตู คือ ตราพระราชลัญจรของสุลต่านเมห์เหม็ดที่ ๒

ความงามระหว่างทาง…คาราวานสไรน์

            ถ้าใครคิดว่าสายคำนวณและสายศิลปะต้องเดินสวนทางกันแล้วล่ะก็ ขอให้ตามไปดูงานศิลปะที่นอกเมืองหลวงด้วยกันแล้วจะพบว่าน่าทึ่งแค่ไหน

ประเทศตุรเคียเป็น ๑ ในเส้นทางสายไหมเก่า ในยุคสมัยที่ยังไม่มีโรงแรม การเดินทางรอนแรมเป็นเรื่องลำบากและอันตรายทั้งจากโจรผู้ร้ายและภัยธรรมชาติ ที่เมืองคอนย่า (Konya) สุลต่านและชนชั้นสูงจึงร่วมกันสร้าง “คาราวานสไรน์” (caranvanserai) ขึ้น เพื่อเป็นที่พักและแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทาง

ภาพจุลจิตรกรรมตอนที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดขี่ตัวบุรอกขึ้นไปเที่ยวแดนสวรรค์ แวดล้อมด้วยเหล่าญิบริล สังเกตว่าตามหลักทางศาสนาอิสลามที่ไม่ให้ทำภาพเคารพ คนหรือสัตว์ แต่อนุโลมในกรณีที่เป็นชีวประวัติโดยต้องปิดบังใบหน้า ภาพนี้ชีวประวัติตอนนี้สันนิษฐานว่าได้ส่งอิทธิพลต่อการวาดภาพพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์ในสมัยอยุธยา (ที่มาของภาพจากสื่อการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

คาราวานสไรน์มักจะมีซุ้มประตูสูงกว่าตัวอาคารมากเพื่อให้คณะเดินทางเห็นได้แต่ไกล มีพื้นที่กว้างใหญ่เพื่อรองรับกองคาคาวาน ซึ่งประกอบด้วยพ่อค้า สัมภาระ และฝูงปศุสัตว์ จึงต้องมีที่สำหรับละหมาด ห้องพักและคอกสัตว์ให้พร้อมสรรพ

คาราวานสไรน์เมืองคอนย่าสร้างจากอิฐอโดบี (adobe) ที่ประตูใหญ่ด้านหน้ามีการสลักลวดลายเรขาคณิตหลากหลายแบบจัดวางช่องไฟได้พอเหมาะพอดี ภายใต้โดมตรงซุ้มประตูมีการทำเป็นช่องเว้าขนาดเล็กหลายๆ ช่องคล้ายรวงผึ้ง เรียกว่า “มก็อรฺนัส” (muqarnas) ทำหน้าที่ช่วยแบ่งรับน้ำหนัก ด้านข้างกรอบโค้งมีรูป ๖ เหลี่ยม วางซ้ายขวาเป็นตัวแทนพระอาทิตย์และพระจันทร์เพื่อแสดงความเป็นศูนย์กลาง

ชาวมุสลิมได้ชื่อว่าเป็นชาติหนึ่งที่เก่งในเรื่องการคิดคำนวณ และเขาได้นำศาสตร์และศิลป์มาผนวกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ที่ไม่ใช่แค่การวาดสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือวงกลม แต่มีการออกแบบที่ซับซ้อน สามารถมองได้จากหลายมุม เป็นรูปทรงที่แตกต่างกัน อย่างมองจากมุมหนึ่งจะเห็นเป็นดอกไม้ ๑๒ กลีบ แต่ถ้าเปลี่ยนมุมมองจะเห็นเป็นรูป ๖ เหลี่ยม หรือแล้วแต่มุมใครมุมมัน ทำให้มองอย่างไรก็ไม่มีเบื่อ ไม่เพียงเท่านั้นช่างยังคำนวนระยะช่องไฟได้เหมาะเจาะไม่ขาดไม่เกิน อย่างที่วัยรุ่นเขาเรียกว่า “เป๊ะเว่อร์”

มัสยิดบริเวณตลาดเครื่องเทศ สังเกตที่ฐานโดม มัสยิดในยุคหลังได้พัฒนาการสร้างโดมให้มั่นคงขึ้น จากเทคนิคการสร้างแบบเพนเด็นทีฟ ที่มีจุดรับน้ำหนักเพียง ๔ จุด ก็บีบมุมเข้าอีกชั้นให้เป็น ๘ เหลี่ยม ทำให้โดมวงกลมมีพื้นที่เกาะมากขึ้น เรียกว่า “สควินซ์ โดม” (squinch dome) ซึ่งต่อมาแพร่หลายเข้ามาในยุคราชวงศ์โมกุลของอินเดีย และมีการใช้เทคนิคนี้นการสร้างเจดีย์หลายองค์ในสมัยอยุธยา เช่น เจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคล

เส้นทางการเดินทางที่เล่ามานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานศิลปะอิสลามอันไพศาลเท่านั้น น่าเสียดายที่ผ่านมาระบบการศึกษาด้านศิลปะในบ้านเรามักจะมุ่งเน้นไปที่ศิลปะตะวันตก แล้วละเลยงานศิลปะอิสลามไป แต่หากได้สัมผัสจะพบว่า ศิลปะอิสลามไม่ได้จำกัดเพียงศิลปะเพื่อศาสนาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแสดงออกถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และการดำรงอยู่ของมุสลิมที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

About the Author

Share:
Tags: อิสลาม / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / อิสตันบูล / ตุรเคีย / มุฮัมมัด / พระเจ้า / ฉบับที่ 68 / travel / เที่ยว / ท่องเที่ยว /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ