ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ทางคณะศิษย์ของหลวงปู่ได้จัดสร้างพระกริ่งชินบัญชรขึ้น โดยนำตะกรุดนะโมตาบอดที่หลวงปู่ลงไว้จำนวนร้อยกว่าดอกมาบรรจุไว้ในองค์พระ ตะกรุดนี้สมัยก่อนหลวงปู่ใช้ทำลูกประคำโทน เล่ากันว่ามีอภินิหารมากมาย พระกริ่งรุ่นนี้สร้างเพียง ๑๐๘ องค์
นอกจากพระกริ่งแล้วยังมีพระชัยเชียงรุ้งที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มีลักษณะเป็นแบบพระชัยมีเดือยที่ฐาน ถือพัดขนาดเล็ก มีสองพิมพ์คือพิมพ์ใหญ่กับพิมพ์เล็ก ปัจจุบันยังไม่แพงมาก รุ่นนี้พิธีดี มีแผ่นยันต์จำนวนมหาศาล คิดเป็นความยาวได้เป็นร้อยเมตรใส่ลงไป เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่น่าเก็บครับ พระเศรษฐีนวโกฏิหล่อโบราณก็เป็นพระเครื่องที่มีรูปแบบแปลกอีกอย่างหนึ่งที่หลวงปู่ได้ปลุกเสกไว้ โดยท่านราชครูศิวาจารย์ได้สร้างถวาย มีลักษณะคล้ายพระกริ่งแต่มีเก้าหน้า ในพิธีเดียวกันนี้มีพระกริ่งอุบาเก็งด้วย
พระกริ่งรุ่นสุดท้าย สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เรียกว่าพระกริ่งโปร่งฟ้าหรือพระกริ่งไท้รัสสี พระรุ่นนี้มีประสบการณ์ดีมากครับโดยเฉพาะด้านโชคลาภ ที่สำคัญเป็นพระรุ่นสุดท้ายที่หลวงปู่อธิษฐานจิต พระรุ่นนี้ยังมีของตกค้างอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ทราบว่าขณะนี้เหลืออยู่เท่าไร ลองติดต่อไปที่วัดดูนะครับถ้าสนใจ ถ้าหมดแล้วก็คงหาไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากวัตถุมงคลของหลวงปู่นั้นถึงแม้จะมีการสร้างหลายครั้งก็จริง แต่สร้างครั้งละไม่มาก
นอกจากพระเครื่องแล้ว หลวงปู่ญาท่านสวนยังสร้างเครื่องรางไว้หลายอย่าง อย่างแรกที่จะแนะนำให้รู้จักคือ ตะกรุดยันต์แก้ว หรือบางที่เรียกว่าตะกรุดแก้วมณีโชติ ผู้ที่ทำตะกรุดนี้ได้ต้องผ่านการฝึกสมาธิแบบหนึ่งที่เรียกว่า “การเดินแก้ว” ซึ่งเป็นกัมมัฏฐานโบราณที่เกือบจะสูญแล้ว หาผู้รู้ได้น้อยมาก ยิ่งผู้ที่ฝึกจนสำเร็จด้วยแล้วนับว่ามีน้อยยิ่งกว่า วิชาแก้วที่ว่านี้กล่าวขวัญกันมาแต่โบราณว่ามีอานุภาพยิ่งนัก ทำให้ผู้ฝึกสามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นอัศจรรย์ ส่วนตำราแก้วที่หลวงปู่ท่านได้ศึกษาในสายของสมเด็จลุนนั้นเล่ากันว่าเป็นคัมภีร์วิเศษที่สืบทอดมาจากพระอรหันต์เจ้าโพนสะเม็ก หรือที่เรียกกันว่าญาครูขี้หอมแห่งนครจำปาศักดิ์นั่นเอง สำหรับการฝึกพระกัมมัฏฐานแบบนี้ผู้ฝึกจะต้องตีปริศนาที่อยู่ในคัมภีร์ให้ได้เสียก่อน เมื่อแก้ปริศนาได้แล้วจึงนำมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน และเจริญภาวนาต่อไปจนสำเร็จ วิชาแก้วนี้เป็นวิชาที่ช่วยให้ของที่ผ่านการอธิษฐานเกิดอานุภาพ ที่โบราณท่านเรียกว่า การเดินธาตุ หนุนธาตุ หนุนด้วยแก้ว ทำให้ของนั้นคงทนไม่เสื่อมคลายโดยง่าย แม้แต่ปรมาจารย์ทางไสยาศาสตร์ อาจารย์เทพ สาริกบุตร ยังได้สรรเสริญวิชาแก้วนี้ไว้ในคัมภีร์พุทธาคมของท่าน ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนเคยได้ฟังจากศิษย์ของท่านอาจารย์ว่า อาจารย์เทพท่านก็ใช้วิชาแก้วนี่แหละในการทำเครื่องรางของ ดังนั้นการทำเครื่องรางของขลังแต่โบราณนั้นมีขั้นตอนที่แน่ชัดมิได้ทำแบบสุกเอาเผากิน การเดินแก้วนี้จะเดินเป็นลำดับไปดังนี้
นะอุนะอะนะมะ
บทนี้เรียกว่าแก้วมณีโชติ
มะอะมะอุมะนะ
บทนี้เรียกว่าแก้วไพฑูรย์
อะนะอะมะอะอุ
บทนี้เรียกแก้วปัทมราช
อุมะอุนะอุอะ
บทนี้เรียกแก้ววิเชียร
การลงตะกรุดแก้วนี้หลวงปู่ท่านจะลงด้วยคาถาดังกล่าวเป็นขอมบ้าง ตัวธรรมอีสานบ้าง มีอานุภาพครบทุกทางทั้งเมตตา แคล้วคลาด และโชคลาภ แม้ในเหรียญหลวงปู่ก็ปรากฏยันต์แก้วนี้แทบทุกรุ่น หลวงปู่ท่านกล่าวว่าเป็นยันต์ที่เสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้กับยันต์ดวงอื่น นอกจากนี้ยันต์แก้วดังกล่าวยังมีอานุภาพทางค้ำคูณดวงชะตาอีกด้วย นับว่าเป็นเครื่องรางที่น่าสนใจจริง ๆ ครับ
วัตถุมงคลที่จะแนะนำอีกชิ้นหนึ่ง เป็นวัตถุมงคลในยุคแรก ๆ อีกเช่นกันเรียกว่า “ประคำโทน” โดยปรกติประคำจะมีด้วยกัน ๑๐๘ เม็ด แต่ประคำโทนนี่เป็นเม็ดเดี่ยว ๆ เม็ดเดียว ตรงกลางฝังตะกรุดพระยันต์ นะโมตาบอด ซึ่งมีอานุภาพทางมหาอุด และคงกระพันชาตรีโดยเฉพาะ ตะกรุดตรงกลางทำด้วยตะกั่วแผ่นเล็ก ๆ หลวงปู่ท่านจารตัวเล็กมากครับ จากนั้นท่านได้นำเอาผงปถมังมาพอกตะกรุดปั้นให้กลม หลวงปู่ท่านลบผงปถมังได้จริง อีกทั้งท่านยังได้เคยเรียนมูลกัจจายอีกด้วย ทำให้ท่านมีความแตกฉานในการลบผง เป็นที่ทราบกันดีว่าผงปถมังเป็นผงวิเศษ ๑ ใน ๕ ที่ใช้สร้างสมเด็จวัดระฆังอันโด่งดัง ผงปถมังนี้มีความพิสดารลบได้ยาก ผู้เขียนเคยเรียนถามผู้รู้ทางพุทธาคมท่านหนึ่งว่า ในปัจจุบันยังพอหาคนที่สามารถลบผงปถมังได้บ้างไหม ท่านว่าน่าจะเหลือไม่ถึง ๑๐ คน ด้วยเหตุที่มีความซับซ้อนสูง ที่อ้างกันในปัจจุบันไม่น่าจะจริงที่ว่าลบกันได้ น่าจะศึกษาจากตำราเองเสียมากกว่า
นอกจากนี้ผู้เขียนยังเคยเห็นผงที่หลวงปู่ลบเอาไว้ ในครั้งสุดท้ายเหลืออยู่ประมาณ กระปุกชาหนึ่ง ได้นำไปสร้างพระสมเด็จชินบัญชรจำนวน ๑๐๙ องค์ ทั้งประคำโทนและพระสมเด็จดังกล่าวจึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่หายากมาก เป็นของที่มีประสบการณ์ทางด้านคงกระพันและมหาอุตม์ และเป็นที่ทราบกันดีในพื้นที่ว่าเครื่องรางที่หลวงปู่สร้างนั้นดังด้วยประสบการณ์จริง ๆ ทั้งที่หลวงปู่ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ไม่เคยอวดอ้างเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ท่านอยู่อย่างสมถะ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีสำหรับผู้คนในแถบนั้นว่าหลวงปู่เป็นพระสงฆ์ที่สามารถเป็นที่พึ่งได้โดยแท้