นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 68
เรื่อง: เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
ภาพ: บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์
กับ รางวัลอนุรักษ์ฯ
ข่าวการพิจารณามอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม “ระดับดีมาก” ประจำปีนี้ (2566) ที่จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้แก่บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เนื่องจากประสบความสำเร็จในโครงการฟื้นฟูสภาพกลุ่มอาคารพาณิชย์เก่ายุคนีโอคลาสสิก อายุกว่า 100 ปี หรือสร้างตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์รุ่นนั้นแห่งท้าย ๆ ในกรุงเทพมหานคร ที่เหลือตกทอดมาจนถึงวันนี้
นอกจากนี้ ความสำคัญของชุมชนเลื่อนฤทธิ์ปัจจุบันยังเป็นโครงการเพียงหนึ่งเดียวที่ภาคเอกชนร่วมกลุ่มกันจดทะเบียนนิติบุคคลในรูปบริษัท พร้อมแจ้งเจตจำนงไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง (กรมศิลปากร) เพื่อขอดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีด้วยตนเอง ซึ่งถึงวันนี้ นับเป็นโครงการโบราณคดีเมือง (urban archaeology) แห่งแรกที่ดำเนินการในแหล่งชุมชนเมือง และดำเนินการโดยภาคเอกชน
นิตยสารอนุรักษ์จะพาทุกคนอ่านทัศนะของลูกหลานชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์คนหนึ่งซึ่งลูกจีนคนนี้ ปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทที่ร่วมหัวจมท้ายมากับอีกหลายชีวิตในชุมชน ร่วมปลุกปั่นโครงการนี้มาตั้งแต่วันแรกจนประสบความสำเร็จ
สำคัญที่กระบวนการ
ศุเรนทร์ ฐปนางกูร กรรมการบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ได้เผยถึงคุณค่าของรางวัลดังกล่าวว่าน่าจะเป็นผลพวงจากความเคร่งครัดต่อระเบียบขั้นตอนการทำงานอนุรักษ์ที่มีมาตรฐานสากล
“กระบวนการอนุรักษ์กลุ่มอาคารที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ไม่เหมือนการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทวัดหรือวังเก่าที่เรียกว่าการบูรณะ (conservation) ที่นี่ใช้วิธีการฟื้นฟู (rehabilitation) นั่นหมายความว่ายอมให้ปรับโครงสร้างบางอย่างได้ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังเก็บรักษาคุณค่าสำคัญของกลุ่มอาคารเหล่านี้ไว้เพื่อคนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้” ศุเรนทร์ กล่าว
เนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ส่วนหนึ่ง แต่ “กระบวนการ” (process) ได้มาซึ่งเนื้อหาเพื่อการตัดสินใจเลือกแนวทางการอนุรักษ์ที่เหมาะสมก็สำคัญพอกัน
ภารกิจฟื้นฟูสภาพของกลุ่มอาคารพาณิชย์จำนวนกว่า 230 คูหา บนเนื้อที่ราว 7 ไร่ เริ่มจากการหาฉันทามติของสมาชิกในชุมชนว่าจะอนุรักษ์กลุ่มอาคารเหล่านี้หรือไม่ โดยที่ประชุมวันแรกก็ยังไม่รู้ว่าซ้ำว่าจะตัดสินใจเลือกแนวทางการอนุรักษ์แบบใด ถัดไปคือการสืบค้นหลักฐานประเภทเอกสารเก่าที่ระบุถึงย่านนี้ ทั้งจดหมายเหตุที่บรรยายลักษณะแผนที่ตั้งจุดต่าง ๆ บันทึกเก่าที่เกี่ยวข้อง แผนที่ลายเส้นคราวตัดถนนเยาวราช ภาพถ่ายทางอากาศในอดีต รวมทั้งแผนที่ปัจจุบัน เพื่อพิจารณาว่าเราจะถอยกลับไปในอดีตได้ไกลที่สุดแค่ไหนซึ่งได้คำตอบว่าบริเวณนี้เคยเป็นสวนมาก่อนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเป็นเรือนเจ้านายในปลายรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 และย่านการค้าในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ การนำแผนที่ต่างยุคมาซ้อนทับกัน จากแผนที่ลายลักษณ์และลายเส้น นำมาเปรียบเทียบกับแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศในสมัยรัชกาลที่ 7 และแผนที่ปัจจุบัน ยังทำให้พบด้วยว่าบนที่ดินแปลงนี้ บางจุดไม่เคยถูกรบกวนจากงานก่อสร้างใด ๆ มาตลอดร้อยปี ซึ่งแปลว่าบริเวณนั้นยังคงสภาพดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยแรกสร้างอาคารพาณิชย์กลุ่มนี้
“บริษัทชุมชนเลื่อนฤทธิ์ฯ เป็นบริษัทแรกและเอกชนรายเดียวที่ยื่นขอขุดค้นทางโบราณคดีต่อกรมศิลปากร โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเป็นที่ปรึกษาให้โครงการหลายคน ทั้งสถาปนิกและนักโบราณคดี โบราณวัตถุที่ขุดพบหลายพันชิ้นจากต่างยุคและแหล่งที่มา สะท้อนให้เห็นการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีตและสิ่งของเครื่องใช้ที่มีตั้งแต่ของชาวบ้านไปจนถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่นิยมกันในหมู่เจ้านายชั้นสูง ซึ่งที่นี่มีท่าเรือคลองถมที่ต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาและทางเชื่อมต่อกับตลาดบกที่ตลาดสำเพ็งด้านติดวัดสามปลื้ม” ศุเรนทร์ กล่าวต่อ
ข้อมูลเบื้องต้นที่ประมวลได้จากงานวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์และการขุดค้นทางโบราณคดีกว่า 10 หลุม ตลอดจนข้อคิดเห็นหรือข้อสันนิษฐานจากหลักฐานต่าง ๆ ที่นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมและตัวแทนนักวิชาการจากกรมศิลปากรแสดงไว้ ชุมชนเมืองแห่งนี้จึงได้ข้อสรุปว่าจะอนุรักษ์ในแนวทางใดจึงเหมาะสมกับชุมชน และจะยึดที่ยุคสมัยใดเป็นเกณฑ์การอนุรักษ์
คุณูปการจากงานอนุรักษ์
การกำกับควบคุมงานอนุรักษ์ด้วยตนเองมาตั้งแต่แรกยังผลให้ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้รับโอกาสเรียนรู้วิทยาการงานก่อสร้างอาคารภายในบ้านตนเอง และซึมซับคุณค่าของอดีตที่สะสมองค์ความรู้ไว้มากมายบนผืนดินแห่งนี้
ความรู้เดิมจากงานก่อสร้างอาคารปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คือวิศวกรรมการวางฐานรากรองรับอาคาร ตั้งแต่เสาซุงรองรับฐานแผ่อิฐเป็นชั้น ๆ เพื่อรับน้ำหนักอาคารก่ออิฐถือปูนและผนังกันไฟ โครงสร้างหลังคามุงกระเบื้องว่าวขนาด 13 นิ้ว ระบบระบายอากาศของอาคารผ่านหน้าต่างและช่องลมซี่ลูกกรงเหนือประตูบานเฟี้ยม รวมทั้งการใช้คานเหล็กรูปตัว I เชื่อมกระดานไม้สักต่อกันเป็นพื้นอาคารชั้นบน และลวดลายฉลุไม้ประดับตามกรอบกันสาดหน้าต่างไม้และลวดลายปูนปั้นตามจุดต่าง ๆ
ที่สำคัญคือความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ซึ่งหลายเรื่องกลับกลายเป็นความรู้ใหม่ทางวิชาการด้านสถาปัตยกรรม เช่น ข้อสังเกตจากผังกลุ่มอาคารที่นักวิชาการได้ตั้งคำถามต่อประโยชน์ใช้สอยของช่องทางเดินด้านหลังและด้านข้างระหว่างแถวอาคาร โดยสันนิษฐานว่าน่าจะทำเตรียมไว้เพื่อนำน้ำเข้าดับเพลิงจากด้านหลังอาคาร สอดคล้องกับผนังกันไฟแบบขั้นบันไดด้านหลังที่ก่ออิฐถือปูนเป็นขั้นบันได เตรียมไว้พาดแผ่นไม้ตามขวางให้คนปีนขึ้นหลังคาไปดับเพลิงจากด้านบน
คุณูปการสำคัญอีกประการจากงานฟื้นฟูกลุ่มอาคารเก่าครั้งนี้คือ การผลิตกระเบื้องว่าวมุงหลังคาชุดใหม่ทดแทนของเดิมที่ทรุดโทรม อีกทั้งความหนาของกระเบื้องว่าวโบราณก็หนาและหนักเกินไปสำหรับการใช้สอยปัจจุบัน ซึ่งช่างและผู้ผลิตกระเบื้องได้ร่วมกันคิดค้นกระเบื้องว่าวชุดใหม่ที่มีขนาดพอดีและแข็งแกร่ง นำมาใช้ครั้งแรกในโครงการ ตลอดจนแนวบัวปูนปั้นบริเวณชายหลังคาเหนือกรอบหน้าต่างซึ่งช่างปัจจุบันได้ขึ้นรูปด้วยมือและสร้างแบบหล่อปูนด้วยตนเอง
หุ้นส่วน กุญแจดอกสำคัญ
กรรมการบริษัทคนเดิมนิ่งคิดและสรุปบทเรียนจากโครงการ กุญแจดอกสำคัญของความสำเร็จคือความเข้าใจร่วมกันของหุ้นส่วนทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเล็งเห็นความจำเป็นสำคัญของการรับฟังความต้องการของผู้เช่า มากกว่าการเห็นประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจบนที่ดินทำเลทองผืนนี้ นี่ย่อมสะท้อนปรัชญาหลัก (core value) ของสำนักงานที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และกรณีศึกษานี้ ลูกหลานชาวเลื่อนฤทธิ์ได้พิสูจน์ให้เจ้าที่ดินและทุกฝ่ายได้ประจักษ์แล้วกับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ระดับดีมาก ประจำปี 2566
สัมภาษณ์ ศุเรนทร์ ฐปนางกูร กรรมการบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
2452 คุณหญิงเลื่อน เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์บนที่ดินราว 7 ไร่ ได้ขายที่ดินให้แก่กรมพระคลังข้างที่ ซึ่งอนุมานว่ากลุ่มอาคารเลื่อนฤทธิ์ได้รับการก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมให้ประชาชนทั่วไปเช่าราวช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ต่อมา ชาวจีนแคะเข้ามาเช่าตึกที่นี่ทำธุรกิจปักเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมหนัก
2500 ชาวอินเดียจากแคว้นปัญจาบ เริ่มย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในย่านเยาวราช ส่วนใหญ่มีอาชีพขายผ้า ซึ่งต่อมาไม่นาน ชาวจีนแต้จิ๋วก็ทยอยเข้ามาค้าขายในตลาดค้าส่งผ้าเช่นกัน
2544 ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
2555 บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ที่ชุมชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งบริษัท ได้รับอนุมัติทำสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์บนที่ดินแปลงนี้
2557 ชุมชนทยอยย้ายออกชั่วคราวเพื่อการฟื้นฟูกลุ่มอาคาร พร้อมงานขุดค้นทางโบราณคดี
2563 นับปีที่หนึ่งของสัญญาเช่า 30 ปี
2564 โครงการฟื้นฟูกลุ่มอาคารเสร็จสิ้น ชุมชนทยอยย้ายเข้าชุมชนอย่างต่อเนื่อง
2566 ชุมชนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ระดับดีมาก จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ
2593 ปีสุดท้ายของสัญญาเช่า 30 ปี