ครุฑบางองค์ชำรุดสีหลุดล่อน เนื้อไม้กร่อนจนเห็นเป็นรอยเสี้ยนซึ่งกลับยิ่งเพิ่มความขลังและคุณค่าแก่องค์ครุฑเพราะร่องรอยเหล่านี้ต้องบ่มเพาะด้วยกาลเวลาที่ล่วงแล้วเท่านั้น และไม่สามารถจะย้อนกลับไปทำได้เหมือนเดิมอีก
มีผังอธิบายเรื่องพุทธจักรวาลตามที่กล่าวไว้ในไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเรามักจะพบเห็นเป็นภาพเขียนผนังอุโบสถด้านหลังพระประธาน เป็นแท่งเสาเรียงกัน แท่งกลางสูงที่สุดคือเขาพระสุเมรุ มีทิวเขาบริวาร 7 ทิวล้อมรอบเป็นวงแหวน 7 ชั้นรวมเรียกว่า “สัตตบริภัณฑ์” แต่ละยอดก็มีชื่อเรียกไพเราะเพราะพริ้ง ระหว่างเขาแต่ละชั้นคั่นด้วยทะเล “นทีสีทันดร” อันกว้างใหญ่จนนกบินข้ามไม่รอด นอกจากพญาครุฑผู้เดียวเท่านั้นพ้นจากทิวเขาทั้ง 7 จะมีทวีปอยู่ 4 ทิศ 4 ทวีปโดยเฉพาะทิศใต้นั้นคือชมพูทวีป และครึ่งซีกเหนือของชมพูทวีปคือป่าหิมพานต์นั่นเองเขาพระสุเมรุนั้น ทางคติพราหมณ์ว่าเป็นที่อยู่ของพระอิศวร พระพรหมและพระนารายณ์ แต่ทางพุทธว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่อยู่ของพระอินทร์ ส่วนสวรรค์ชั้นที่สูงกว่านั้นคือ ยามา ดุสิต นิมมานรดีปรนิมิตวสวัตตี ก็ลอยอยู่เหนือเขาพระสุเมรุขึ้นไป จนถึงชั้นรูปพรหม 16 ชั้นอรูปพรหม 4 ชั้น
นอกจากป่าหิมพานต์จำลองแล้ว ก็มีห้องนครนาคราช เล่าเรื่องราวของนาคซึ่งแท้จริงก็คือน้องต่างมารดาของครุฑนั่นเองต่อมาเกิดผิดใจกันถึงขั้นครุฑเห็นนาคทีไรเป็นต้องจับกินทุกที ถัดไปเป็นห้องอมตะเจ้าเวหา เป็นห้องฉายวิดิทัศน์ เล่าเรื่องตำนานครุฑที่กลายมาเป็นพาหนะของพระนารายณ์ในที่สุด ห้องนี้ยังแสดงครุฑในศิลปกรรมไทยและชาติต่างๆ เช่น เขมร อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นเป็นต้น องค์ครุฑบางส่วน จัดประดับไว้รอบห้องนี้ราวกับครุฑบินมาเป็นขบวน โดยเลือกองค์ครุฑที่มีขนาดเท่าๆ กัน ดูสวยแบบขลังๆ
หลังจากตื่นตากับการเล่าเรื่องผ่านการจัดแสดงด้วยแสงสีและบรรยากาศแล้ว ก็จะมาถึงห้องที่เปี่ยมคุณค่าที่สุด นั่นคือห้องจัดแสดงองค์ครุฑเก่าจากสาขาต่างๆ ทั่วไทย คัดมาเฉพาะองค์งามๆ ครุฑในสมัยต้นๆ จากสาขาเก่าแก่จะ
แกะสลักด้วยไม้ ลักษณะหน้าตา เครื่องประดับทรวดทรงองค์เอวก็จะแตกต่างกันไป แม้บางองค์จะดูคล้ายกันแต่ก็ไม่เหมือนกันทีเดียวเพราะการแกะไม้นั้นต้องแกะทีละองค์ ด้วยฝีมือช่างคนละคนกัน มาในสมัยหลังๆ เท่านั้นที่หล่อด้วยเรซินเสริมไฟเบอร์กลาส จึงมีหน้าตาและขนาดเหมือนกันได้ แต่แม่พิมพ์ไฟเบอร์กลาสก็ไม่ได้ถาวรแบบแม่พิมพ์อุตสาหกรรม จึงผลิตได้จำนวนจำกัด แล้วก็แทบจะต้องปั้นใหม่ทุกครั้งด้วยดินเหนียว ก่อนจะหล่อเป็นแบบปูนปลาสเตอร์ แล้วค่อยหล่อเป็นเรซินอีกที
ครุฑบางองค์ชำรุด สีหลุดล่อน เนื้อไม้กร่อนจนเห็นเป็นรอยเสี้ยน ซึ่งกลับยิ่งเพิ่มความขลังและคุณค่าแก่องค์ครุฑ เพราะร่องรอยเหล่านี้ต้องบ่มเพาะด้วยกาลเวลาที่ล่วงแล้วเท่านั้น และไม่สามารถจะย้อนกลับไปทำได้เหมือนเดิมอีก
ครุฑที่แสดงนี้คัดมาเป็นบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้แสดงหมดทั้ง 400 กว่าองค์ ส่วนที่เหลือมากกว่าครึ่งเก็บไว้ในคลังอย่างเป็นระบบระเบียบ เราจะเห็นฝีมือสร้างสรรค์ของช่างเขียนลายแกะสลักต่างๆ ครุฑสมัยต้นๆ จะมีรูปโครงกะโหลกศีรษะแบบนก คือส่วนหน้าผากจะแคบกว่าส่วนคางและปาก สมัยหลังๆ จะมีโครงศีรษะแบบมนุษย์มากขึ้น เครื่องศีรษะก็แตกต่างกันไปมีทั้งทรงเทริดยอดนำ้เต้า บ้างก็ยอดแหลมเครื่องประดับ กรองคอ กำไลรัดแขน รัดข้อมือ รัดอก ผ้าชายพก ผ้าห้อยหน้ามีลีลาการจับจีบและลวดลายต่างๆ กัน ดูเพลิดเพลินไม่รู้เบื่อรูปร่างอันบึกบึนของครุฑองค์เก่าๆ แม้จะล่ำก็ล่ำแบบไทยๆ กล้ามเนื้อไม่ชัดเจน (คตินิยม) สมัยหลังๆ จะล่ำสันแบบอิทธิพลปฏิมากรฝรั่ง คือเห็นกล้ามเนื้อชัดเจนดูเหมือนจริงมากขึ้น (สัจจะนิยม) อกเป็นอก เห็นลอนท้อง six-packs และลูกหนู biceps ชัดขึ้น
นอกจากวิมานฉิมพลีหรือสิมพลี ณ แดนหิมพานต์แล้ว เห็นจะไม่มีที่ไหนในโลกที่จะมีครุฑมาอยู่รวมกันมากเท่าที่นี่อีก ไม่ต้องบินข้ามไปเสาะหาไกลถึงนอกฟ้าป่าหิมพานต์ แค่มาที่สมุทรปราการใกล้ๆ แค่นี้เอง
*** ดูรายละเอียดได้ที่ www.thanachartbank.com