นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 68
เรื่อง/ภาพ: ดร.ณัฐธัญ มณีรัตน์
เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของหลวงปู่เพิ่มนั้นเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ลูกศิษย์ว่าท่านมีญาณหยั่งรู้เป็นที่น่าอัศจรรย์ ภายหลังดังเช่นเรื่องของท่านอาจารย์ตึ๋ง ตรีเนตร และอาจารย์อุดม ตรีเนตร พระน้องชายท่านได้ศึกษาสรรพวิชาจากหลวงปู่เพิ่มไปพอสมควรแล้ว ในสมัยนั้นชื่อเสียงของ “หลวงปู่ดู่ พรหฺมปัญโญ วัดสะแก” จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ ท่านอาจารย์ตึ๋งและคณะก็อยากจะเดินทางไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อขอเรียนวิชาอาคมและพระกรรมฐานเพิ่มเติม อีกทั้งยังอยากชมบารมีของหลวงปู่ดู่อีกด้วย เพราะสมัยนั้นผู้คนต่างร่ำลือกันว่าหลวงปู่ดู่ท่านเป็นพระอรหันต์ แต่เนื่องจากทุกๆ ท่านในคณะเป็นศิษย์วัดกลางฯ กันแทบทั้งหมด การเดินทางไปหาอาจารย์อื่น ไม่รู้ว่าจะเป็นการบูรพาจารย์ของตนเองหรือไม่? จึงมิมีใครกล้าอาสาไปบอกหลวงปู่เพิ่ม มีเพียงท่านอาจารย์ตึ๋งเท่านั้นที่รวบรวมความกล้าจะเข้าไปถามหลวงปู่ แต่ทว่าท่านอาจารย์ตึ๋งยังไม่ทันได้เอ่ยปากอะไรเลย หลวงปู่เพิ่มท่านก็พูดออกมาลอยๆ ว่า
“ถ้าพวกคุณอยากไปหาพระที่อยุธยาน่ะ ฉันก็ไม่หวงห้ามอะไรหรอก แต่อย่าลืมนะว่าที่วัดกลางฯ ของเราก็มีดีไม่แพ้ที่อื่น ถ้าพวกคุณตั้งใจศึกษาหาความรู้ดีๆ ก็มิต้องดิ้นรนไปไหนเสียให้เหนื่อย และจะบอกว่าต่อไปใครจะเรียนอะไรก็ให้รีบมาจด มาจำ เรียนรู้เอาไว้นะจ๊ะ เพราะสิ้นฉันไปแล้วตำราเหล่านี้จะไม่ได้หาอ่านโดยง่ายได้อีกแล้ว” ท่านอาจารย์ตึ๋งในขณะนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร ได้แต่ดีใจที่หลวงปู่อนุญาตให้ไปเรียนที่อื่นบ้าง แต่เมื่อไปถึงพบหน้าหลวงปู่ดู่แล้ว หลวงปู่ดู่ท่านต่อว่าเลยว่า “พวกแกมาหาข้าทำไมกัน? อาจารย์ของพวกแก ก็เก่งอยู่แล้ว และแผ่บารมีเป็นธาตุน้ำคุ้มครองพวกแกมาตลอดทาง พวกนี้ใกล้เกลือกินด่างกันจริงๆ เอ้า! ถ้าแกอยากมาเรียนกับข้า ก็มาเอาพระคนละองค์แล้วไปนั่งกรรมฐานตามแต่จะถูกจริตเถิด”
หลวงปู่เพิ่มท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้มากมาย หลายรุ่น แต่ละรุ่นได้รับความนิยมและมีสนนราคาแพงขึ้นแทบทุกรุ่น ดังนี้ หลวงปู่เพิ่มสร้างพระเครื่องเนื้อผงรุ่นแรกจาก “ผงพญาไม้ผุ” ซึ่งท่านได้นำเอาว่านพญาไม้ผุมาบดผสมกับผงแล้วกดเป็น“พิมพ์พิมพ์ซุ้มรัศมี” พระพิมพ์นี้เนื้อจะหยาบและองค์พระหนา ไม่ค่อยแห้งและแกร่ง วรรณะออกสีเหลือง หลวงปู่กดพิมพ์มาเรื่อยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๓ แล้วก็หยุดสร้าง จำนวนพระมีไม่ถึง ๑,๐๐๐ องค์
พระผงขมิ้นเสก หลวงปู่ท่านเอาหัวขมิ้นมาลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสก เก็บไว้ในโถเคลือบใบใหญ่ซึ่งเป็นโถเก่าของหลวงปู่บุญ ภายในมีขมิ้นที่หลวงปู่บุญเสกอยู่ประมาณครึ่งขวด หลวงปู่เพิ่มได้ลงอักขระและปลุกเสกหัวขมิ้นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ขมิ้นก็เต็มโถ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ หลวงปู่เพิ่มขณะที่ท่านมีอายุ ๗๖ ปี จึงเรียกพระปลัดใบ คุณวีโร นำหัวขมิ้นไปบดทำพระ นอกจากผงขมิ้นเสกแล้วยังมีผงพุทธคุณตกทอดของหลวงปู่บุญ ลูกอมหลวงปู่บุญบด ผงแร่ ผงพระหัก เช่น พระสมเด็จ พระผงสุพรรณ พระบางองค์หลวงปู่จะเป็นผู้จารหลังด้วยอักขระ “เฑาะว์ปิดทวาร”บ้าง “เฑาะว์มหาพรหม”บ้าง ตามแต่จะใช้ หลวงปู่ภูมิใจในพระชุดนี้มากถึงกับปลุกเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๑ ปี และท่านมักจะบอกกับลูกศิษย์ว่า “เก็บไว้ให้ดีนะจ๊ะ” เป็นของดี
พระพิมพ์ทวาราวดี จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยพระปลัดใบ คุณวีโร สร้างจากโลหะชินตะกั่วก้อนใหญ่ที่วัดศรีมหาโพธิ์ เป็นชินเก่าโบราณจมอยู่ในบริเวณวัด ออกแบบโดย “อาจารย์อวบ สาณะเสน” พุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบทวาราวดี ปางนั่งห้องบาท ยกกรประทานพร แบบพระประธานในอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ด้านหลังหลวงปู่เพิ่มกำหนดให้ใช้ยันต์คาถาหัวใจพระสิวลี “นะ ชา ลี ติ” และหัวใจพระไตรปิฎก “มะ อะ อุ” จำนวนการสร้างทั้งหมด ๓๘๐ องค์ เนื้อทองแดงผสมชินตะกั่วมาปั๊มอีก ๖๒๐ องค์ เนื้อเงิน ๑๐ องค์ เนื้อทองคำ ๓ องค์ พระรุ่นนี้หลวงปู่ปลุกเสกไว้นานถึง ๑ พระพิมพ์นี้มีผู้นำไปใช้มีประสบการณ์ทางด้านโชคลาภมาก
พระพิมพ์หลวงพ่อโต พระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดกลางบางแก้ว พระพุทธรูปองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านแถบวัดกลางต่างเดินทางมาบนบานศาลกล่าวกับท่านด้วยขนุนสุกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการบนเพื่อไม่ให้ติดทหาร หลวงปู่เพิ่มสร้างพระเครื่องหลวงพ่อโตเป็นรูปหยดน้ำเนื้อทองแดง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อโต มียันต์อุณาโลมตรงปลายพระเกศ จารึกคำว่า “ลาภ สุข ยศ สรรเสริญ” จำนวนการสร้างทั้งหมด ๕,๐๐๐ องค์ พุทธคุณพระพิมพ์นี้ก็สารพัดนึกเหมือนองค์พระปฏิมากรขอหรืออธิฐานหากบนด้วนขนุนก็มักจะสำเร็จเสมอ
รูปเหมือนหลวงปู่บุญ ขันธโชติ สร้างจากชนวนและก้านของพระชัยวัฒน์หลวงปู่บุญที่ตัดองค์พระออกแล้ว มาหลอมเทเป็นองค์พระรูปเหมือนหลวงปู่บุญ โดยพระปลัดใบ คุณวีโร ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จำนวน ๒๐,๐๐๐ องค์ ใต้ฐานเจาะบรรจุผงหลวงปู่บุญและอุดด้วยแผ่นทองแดงกลมเล็กพิมพ์อักษร “อุ” เอาไว้ตรงกลาง พระรุ่นนี้หลวงปู่เพิ่มปลุกเสกตลอดไตรมาส
ส่วนเหรียญรูปเหมือนของหลวงปู่เพิ่มนั้นมีการสร้างถึง ๑๘ รุ่น จะนำมาเล่าสู่กันฟัง บางรุ่นที่นักนิยมสะสมพระเครื่องให้ความสนใจเล่นหากัน จริงๆ แล้วเหรียญของหลวงปู่ท่านดีทุกรุ่นครับ แต่นักนิยมสะสมพระเครื่องบางครั้งเน้นที่รูปแบบความสวยงาม ความหายากจึงทำให้แต่ละรุ่นมีมูลค่าการสะสมต่างกันไป
เหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่เพิ่ม ปัจจุบันมีสนนราคาหลักหลายแสนแล้ว เป็นเหรียญรูปเสมา สร้างปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ในงานฉลองสมณศักดิ์จาก “พระครูพุทธวิถีนายก” เป็นพระราชาคณะที่ “พระพุทธวิถีนายก” เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญเสมาด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ห่มคลุมครึ่งองค์หน้าตรง ด้านข้างทั้งสองพิมพ์เป็นลวดลายกนก ด้านบนเป็นลายดอกประจำยาม ตรงกลางและซ้อนดอกไปจนสุดขอบของเหรียญ ด้านใต้จารึกอักษรไทยว่า “พระพุทธวิถีนายก” ด้านหลังเป็น “ยันต์นะโมพุทธายะพระเจ้าตรึงไตรภพ” ด้านล่างจารึกว่า “ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๔” มีจำนวนสร้างเป็นเนื้อกะไหล่ทองทั้งหมด ๒,๐๐๐ เหรียญ ส่วนเหรียญเงิน และเหรียญทองคำมีสร้างจำนวนไม่มากนัก เฉพาะศิษย์ใกล้ชิดเท่านั้น และทุกๆ เหรียญหลวงปู่จะลงเหล็กจารด้านหลังเหรียญ มุมบนเป็นตัว “เฑาะว์มหาอุตม์” หรืออักขระ “อังคสัมปันโน” แล้วแต่หลวงปู่
เหรียญรุ่นที่สองของหลวงปู่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ มีการจัดสร้างขึ้นเป็น ๓ แบบ ด้วยกันคือ เหรียญเสมาเล็ก เนื้ออัลปาก้า เหรียญนี้มีจำนวนสร้าง ๒,๐๐๐ เหรียญ เหรียญเสมาใหญ่ทองแดงรมดำและไม่รมดำ มีรูปร่างลักษณะเหรียญเหมือนเหรียญรุ่นแรกทุกประการ เพราะนำเอาบล็อกเก่าของรุ่นแรกมาสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้านหลังยังคงเป็นปีพ.ศ.เดิม จำนวนสร้างแบบละ ๑,๐๐๐ เหรียญ ต่างกันตรงที่การพิมพ์เหรียญในรุ่น ๒ นั้นตัวเหรียญจะหนากว่ารุ่นแรก ผิวจะขรุขระไม่เรียบ และอักษรก็ปั๊มไม่ค่อยติด เพราะบล๊อคเก็บไว้นานอาจมีบางส่วนชำรุดไปบ้างนั่นเอง ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกเนื้อทองแดงนะครับและสนนราคาเล่นต่างกัน