Saturday, September 14, 2024
ชื่นชมอดีต

วัดบ้านแลง มรดกจากปลายอยุธยา

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 56
เรื่องและภาพ : ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน

วัดบ้านแลง

มรดกจากปลายอยุธยา

แหล่งโบราณคดีและแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดระยองมีความน่าสนใจให้เที่ยวชมมากมาย อย่างเช่น “วัดบ้านแลง” ของเก่าคู่บ้านคู่เมืองกว่าสามร้อยปีแต่ยังคงความงดงามและมีความร่วมสมัย ซึ่งคนรุ่นหลังได้ร่วมชื่นชมอย่างภาคภูมิใจ

วัดเก่าในสมัยปลายกรุศรีอยุธยา
วัดแลงก่อสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ. ๒๒๘๕ ในยุคปลายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยนายจันทร์ยกที่ดินให้สร้างวัด ตั้งชื่อว่า “วัดจันทร์สุวรรณโพธิธาราม” ต่อมาชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดแลง” ตามพื้นที่ที่ขุดลงไปเจอศิลาแลง และเรียก “วัดบ้านแลง” ตามชื่อของตำบลที่ตั้ง เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ได้รับพระราชทานบรรจุพัทธสีมาการสร้างโบสถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๕ โดยพระอุโบสถหลังเก่าแก่นี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เสากลมรองรับจั่นหัว ด้านหน้าของพระอุโบสถมีชายคาพาไลอันเป็นเอกลักษณ์ของอยุธยาตอนปลาย มีประตูทางเข้าขนาดใหญ่หนึ่งบาน เป็นลักษณะโบสถ์มหาอุด คือเข้าออกทางเดียว หลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น หลังคา ๓ ตับ มีใบเสมาซึ่งเป็นแผ่นหินที่บอกขอบเขตว่าพื้นที่ที่มีใบเสมาล้อมรอบทั้ง ๘ ทิศเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ พระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมได้ เช่น การบวช การสวดปาติโมกข์ นอกจากใบเสมาที่เป็นหิน ซึ่งเรียกว่า พัทธสีมา

ยังมีการขุดสระน้ำล้อมรอบที่เรียกว่า นทีสีมา หรือ อุทกสีมา ทำให้วัดบ้านแลงมีเสมา ๒ แบบล้อมรอบ ทั้งเสมาหินและเสมาน้ำ ถือได้ว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ขณะที่หน้าบันทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และตามเหนือช่องหน้าต่างทั้งหมดประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผา มีทั้งเครื่องลายคราม ภาชนะดินเผาเคลือบขาวเขียนลายสีน้ำเงินจากประเทศจีน เครื่องเบญจรงค์สมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งภาชนะดินเผาสมัยรัชกาลที่ ๕ แสดงให้เห็นว่ามีการซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์และเป็นวัดที่ได้รับการดูแลมาโดยตลอด เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถสัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายขรึมขลัง พระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย มีลักษณะเด่นที่พระพักตร์แบบฝีมือช่างพื้นถิ่น ใบหูแหลม พระเกศาขมวดเล็กแหลม รัศมีเปลวเพลิงบนอุษณีษะมีร่องรอยกรอบพระพักตร์ค่อนข้างชัดเจน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา

พระปรางค์วัดบ้านแลง
พระเจดีย์ทรงปรางค์ ทางด้านข้างของพระอุโบสถ มีรูปทรงแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านล่างสุดเป็นฐานเขียง ๒ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ ฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีท้องไม้ยึดสูง และฐานสิงห์ ๑ ชั้น ส่วนที่น่าจะเป็นเรือนธาตุถูกย่อส่วนทำเป็นรูปครุฑแบกที่มุมและด้านของเจดีย์ ส่วนยอดทำคล้ายเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นที่มีขนาดเล็กและประดับด้วยกลีบขนุนซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงปรางค์ และมีการทำให้ส่วนยอดสูงเพรียวอันเป็นพัฒนาการในยุคหลังของเจดีย์ทรงปรางค์ ส่วนล่างของยอดนี้มีซุ้มจระนำยื่นออกมาทั้ง ๔ ด้าน บนยอดสุดประดับด้วยนพศูล โดยก่อนหน้านี้พระปรางค์ความสูง ๑๗.๐๘ เมตร ฐานสี่เหลี่ยม วัดโดยรอบยาว ๒๐.๕๐ เมตร มีสภาพชำรุดแตกร้าว ต่อมาได้บูรณะซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว

หอไตรกลางน้ำ
สิ่งสำคัญสุดที่ยังคงรูปแบบของวัดดั้งเดิมสมัยอยุธยาคือ การสร้างหอไตรกลางน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันมดปลวกต่าง ๆ เพราะสมัยโบราณไม่มียาฆ่าแมลง เวลาที่พระภิกษุสามเณรต้องการอ่านพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกต่างๆ จะต้องพายเรือเข้าไป เพราะไม่มีสะพานเชื่อมไปถึง แต่เดิมนั้นสระมีขนาดใหญ่ หอไตรสร้างด้วยไม้ทั้งหลังตั้งอยู่กลางน้ำ เพิ่งได้รับการซ่อมแซมโดยทำทางเดินเป็นสะพานเชื่อมเข้าไป มีระเบียงซีเมนต์ทางซ้ายและขวา เพื่อให้พระภิกษุเข้าถึงได้สะดวก

ข้อมูลท่องเที่ยว
วัดบ้านแลง: หมู่ที่ ๑ ถนนหนองพญา-ก้นหนอง ตำบลบ้านแลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

การเดินทาง: อยู่ห่างจากตัวเมืองระยองประมาณ ๗ กิโลเมตร โดยมุ่งหน้าไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๓๔๒

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / วัด / อยุธยา / anurakmagazine / ระยอง / วัดบ้านแลง มรดกจากปลายอยุธยา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ