Sunday, October 6, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

เฮือนงาม ๓ หลัง ในลำปาง

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 16
เรื่อง : ผศ. ประเทือง ครองอภิรดี
ภาพ : จันทรา แสงทิตย์

เฮือนงาม ๓ หลัง ในลำปาง

นครลำปาง นอกจากจะมีรถม้า ถ้วยตราไก่ พระธาตุ และวัดงามๆ แล้ว ถ้าสำรวจดูดีๆ เมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ ยังมีของดีซุกซ่อนอยู่ เพื่อรอการค้นหาให้ปรากฏอยู่อีกมาก

เฮือน เก่าๆ งามๆ ในลำปาง นอกจากจะมี “บ้านเสานัก” แล้วที่รู้จักกัน คราวนี้เราจะพาชมเฮือนงามอีก ๓ หลังคือ บ้านมิสเตอร์หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ลูกชายแหม่มแอนนา “บ้านป่องนัก” ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับแรมของในหลวงถึง ๒ พระองค์เมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือและสุดท้าย “คุ้มเจ้าบุ” คุ้มเจ้าลำปางหลังเดียวที่ยังสืบทอด และอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีโดยทายาท


บ้านมิสเตอร์หลุยส์


บ้านไม้หลังงามหลังนี้เป็นบ้านของ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Louis T. Leonowens) หรือ “ป้อเลี้ยงหลุยส์” ฝรั่งที่มาตั้งบริษัทค้าไม้อาศัยอยู่บริเวณท่ามะโอ ริมฝั่งแม่นน้ำวังนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้จะชำรุดทรุดโทรมไปมาก แต่ก็ยังคงเค้าของความงามอยู่ลักษณะสำคัญของบ้านคือ มุขห้าเหลี่ยมหกด้าน และหน้าต่างบานเกล็ดปรับปิด-เปิดได้ในตัว เป็นบ้านไม้ทรงยุโรปแบบที่นิยมสร้างในเขตร้อนที่เรียกว่า Colonial Style บ้านนี้ด้านหน้ามีบันไดขึ้นชั้นบน อยู่นอกอาคาร โดยไม่มีหลังคาคลุมชนิดที่เย้ยฟ้าท้าฝนสันนิษฐานว่าต้องการแยกชั้นล่างให้เป็นสัดส่วนของการรับแขกทำงานและที่ชั้นบนให้เป็นที่พักอาศัยส่วนตัวเพราะชั้นล่างไม่มีบันไดภายในอาคารขึ้นสู่ชั้นบนเลย แต่ห้องนน้ำด้านหลังนอกอาคาร จะมีบันไดทอดขึ้นสู่ระเบียง

บ้านฝรั่งในเขตร้อนนิยมสร้างระเบียงทางเดินรอบบ้านเพื่อกันแดดกันฝน มีทั้งระเบียงแบบเปิดและระเบียงแบบปิด ระเบียงแบบเปิดจะมีแค่เสาเรียงและแผงกันสาด ถ้าเป็นระเบียงชั้นบนจะมีราวลูกกรงกันตกและมักจะมีมู่ลี่ชักม้วนขึ้นลงกันแดดฝนด้วย ระเบียงแบบปิดก็คือ กั้นเป็นฝา มีหน้าต่างบานเกล็ดไม้ที่ปรับปิด-เปิดได้เหมือนบ้านหลังนี้ ที่เห็นเป็นห้องหกเหลี่ยมชั้นบนนั่นคือ มุขเฉลียงสำหรับนั่งเล่น ถ้าจะเข้าห้องต้องมีประตูและฝาผนังกั้นอีกชั้น ดังนั้นฝาผนังของระเบียงแบบปิดและมุขจึงทำหน้าที่กันไม่ให้ฝาห้องโดนแดดโดยตรง ขณะเดียวกันก็มีบานเกล็ดเปิดรับลมได้ ห้องจึงเย็นสบาย

กำแพงก่ออิฐหนากว่า ๔๕ ซม.
ด้านซ้ายของบ้านเห็นรอยต่อเติมครั้งที่ ๑ ชัดเจน ตัวบ้านเดิมสุดแค่แนวที่ตรงกับผนังปูน ทำหลังคาคลุมส่วนต่อเติมใหม่เป็นหลังคาเดียวกันอย่างแนบเนียน หลังคาที่เห็นเป็นลอนลูกฟูก ของเดิมน่าจะเป็นกระเบื้องวาว

หลุยส์เป็นลูกชายแหม่มแอนนาครูแหม่มที่ถวายการสอนภาษาอังกฤษเจ้านายเด็กๆ และสตรีในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ นางพาหลุยส์อายุ ๗ ขวบมาสยามด้วย หลุยส์มาเล่นมาเรียนอยู่ในวังหลวงเกือบ ๖ ปี จึงนับว่าเป็นพระสหายของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เมื่อทรงพระเยาว์ มีภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๔ หลุยส์ยืนคู่กับเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ขณะที่คนอื่นหมอบเฝ้าอยู่โดยรอบ หลุยส์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องหมอบกราบเพราะเป็นฝรั่ง จึงดูออกจะเป็นคนพิเศษมาก ในละครเพลงเรื่อง “The King and I” มีฉากที่หลุยส์กับ “พริ้นซ์ชูลาลองคอน”

ผิดใจแทบจะชกกันจนแหม่มแอนนาเข้าไปห้ามไม่รู้ว่าเรื่องจริงหรือฝีมือคนเขียนบทเพราะละครเรื่องนี้จริงผสมเท็จอยู่แล้วหลุยส์ตามแม่ไปเรียนต่อที่อเมริกาชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ เป็นหนี้ระหกระเหินจนอายุ ๒๗ ปี จึงกลับมาสยามอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในฐานะที่เป็นพระสหายจึงทรงพระเมตตาอุปถัมภ์อุ้มชู แม้ว่าแม่แอนนาเอาเรื่องในราชสำนักไปเขียนขายเลี้ยงชีพ จริงบ้างเท็จเสียมาก โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นนายร้อยเอกทหารม้า ต่อมาหลุยส์ออกไปทำงานให้บริษัทฝรั่งค้าไม้

ประตูเข้าด้านหน้าชั้นล่างเป็นบานลูกฟักช่องลมไม้ฉลุลายใต้โค้งประตู มีลูกกรงเหล็กซ้อนอีกชั้นหนึ่ง

ทางภาคเหนือ จนในที่สุดก็มีบริษัทค้าไม้ของตนเองในลำปาง คือ “บริษัทหลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์” ซึ่งต่อมาขยายกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากนอก ยั่งยืนสืบมาจนปัจจุบันนี้แม้ทายาทรุ่นที่ ๙ จะขายหุ้นไปบางส่วนเมื่อการสัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงพื้นที่ที่บริษัทฝรั่งทั้งหลายทำไม้ย่านท่ามะโอก็ถูกส่งมอบให้กรมป่าไม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ บ้านหลุยส์หลังนี้ติดพื้นที่มาด้วย หลุยส์มาทำป่าไม้ที่ลำปาง พ.ศ. ๒๔๔๕ ดังนั้นบ้านหลังนี้ก็น่าจะมีอายุประมาณ ๑๑๐ ปีแล้ว

เกล็ดหน้าต่างจับชักให้เปิด-ปิดได้ผ่าซ้อนกันโดยการปาดมุมเฉียงทับกันเรียบร้อย
ตงวางบนคานใหญ่มีโครงสร้างไม้ไขว้ยึดตงให้แข็งแรง
หน้าต่างบานเกล็ดปรับได้ ฝ้าด้านล่างเป็นฝาบานเกล็ด ติดตายระบายลม

แม้รูปทรงลักษณะโดยรวมจะดูเก่าแก่แท้จริง แต่ถ้าพิจารณาดูดีๆจะเห็นร่องรอยของการต่อเติมชัดเจนอย่างน้อย ๒ ครั้ง ครั้งแรกต่อออกด้านข้างซ้ายของอาคาร และทำได้กลมกลืนดีกับอาคารเดิม ครั้งที่ ๒ ต่อออกไปด้านหลังอย่างไม่ประณีตนัก เป็นเพราะหลังจากกรมป่าไม้รับมอบมาแล้ว เคยใช้เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวพนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)หลุยส์เป็นคนเจ้าชู้เป็นที่เลื่องลือจนช่างจ็วยซอ เพลงพื้นบ้านเมืองเหนือนำไปแต่งร้องเป็นที่จดจำกันได้แพร่หลาย ในหนังสือ “ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์” ของจิระนันท์ พิตรปรีชา มีตัวอย่างให้ฟังดังนี้

“ป้อเลี้ยงหมอชิตกับมิสสะหลวย
เอาสาวนอนตวย สองคืนสิบห้า
อี่หลวยนอนเตียง อี่ออนนั่งท่า
ขะไจ๋โวยๆ ป้อเลี้ยง
อี่คำขอเงิน อี่หวนขอผ้า อี่โนจาขอจ๊าง
ขะไจ๋โวยๆ ป้อเลี้ยง”

(บางท่อนว่า: ว่าปอแล้วกาป้อเลี้ยง)

ค่าวซอบทนี้เป็นเรื่องซุกซนเก่าๆของมิสเตอร์หลุยส์กับหมอชีค (Mariom A. Cheek) สมัยทำไม้ด้วยกันที่เชียงใหม่แต่ตอนหลังพอหลุยส์แยกมาทำไม้ที่ลำปางอยู่บ้านหลังนี้ ไม่ทราบว่ายังคะนองอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ถ้ายังซุกซนไม่เลิก บ้านหลังนี้ก็น่าจะเป็น “บ้านสาวนัก” แข่งกับ “บ้านเสานัก” ที่อยู่ใกล้ๆ กันนี่เองดูสภาพแล้วบ้านหลังนี้ต้องการอนุรักษ์ด่วน (ว่าแต่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ?) มีหลายส่วนพังแล้วหลายส่วนผุกำลังจะพัง ตอนขึ้นไปสำรวจต้องเดินระวังมากๆ โดยเฉพาะบันไดหน้าต้องขึ้นทีละคน มันโยกเพราะตากแดด ตากฝนจนผุหรอกมิได้โยกเพราะสาวๆ ของหลุยส์วิ่งผลัดขึ้นๆ ลงๆ เลย

About the Author

Share:
Tags: house / architecture / interior / ฉบับที่ 16 / บ้านมิสเตอร์หลุยส์ / home / บ้านป่องนัก / คุ้มเจ้าบุ / บ้าน / ลำปาง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ