Wednesday, December 11, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ กับจิตใต้สำนึกที่เป็นไทยในความรู้สึก

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง/ภาพ ตัวแน่น

เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ (ภาพจากหนังสือ เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ
การแสดงศิลปกรรมย้อนหลัง 4-31 ตุลาคม 2544 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป)

‘สมัยนั้นผมไปบ้านเพื่อน ไปเห็นหน้าต่างเก่าๆชุดนี้วางอยู่น่าสนใจดี ผมเลยยกกลับมาสร้างเป็นงาน…ภาพนี้ผมได้แนวคิดมาจากเสื้อที่แขวนอยู่บนราวตากผ้า…วันนี้พอได้มาเห็นรายละเอียด จำไม่ได้จริงๆว่าตอนนั้นผมทำถึงขนาดนี้เลย!’

          นี่คือคำบอกเล่าของ เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) และศิลปินชั้นเยี่ยม ประเภทจิตรกรรม ที่พรั่งพรูออกมาขณะยืนอยู่ตรงหน้าผลงานสื่อผสมชิ้นสำคัญจากฝีมือของท่านเองที่มีชื่อว่า ‘ภาวะของจิตใต้สำนึก 2’ (State of the Subconscious 2) เมื่อบ่ายวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 หลังจากไม่ได้เห็นผลงานชิ้นนี้มาเกือบครึ่งศตวรรษ

         ย้อนไปในสมัยที่เกียรติศักดิ์ยังเป็นนักศึกษาที่โรงเรียนช่างศิลป์ และมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เกียรติศักดิ์ชอบวาดภาพบรรยากาศตอนกลางคืน กรุงเทพฯในช่วงราว พ.ศ. 2510 นั้นแตกต่างกับปัจจุบันมาก พอตกดึกแสงสีของเมืองไม่ได้สว่างไสว ไม่มีผู้คนขวักไขว่ สถานที่ต่างๆล้วนเงียบงัน วิเวกวังเวง นี่เป็นเวลาที่เกียรติศักดิ์มักชักชวนเพื่อนๆออกมาวาดภาพ ตึกรามบ้านช่อง และถนนหนทาง เกิดเป็นภาพ ภูเขาทอง โรงไฟฟ้า เสาชิงช้า หรือโค้งถนน ที่มีรายละเอียดลึกลับเพราะถูกปกคลุมไปด้วยความมืด

          ระหว่างที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากรชั้นปีที่ 3 เกียรติศักดิ์ต้องเรียนเขียนภาพนู้ด ภาพของเกียรติศักดิ์ที่วาดออกมาเป็นภาพสตรีที่มีฉากหลังที่ดูลึกลับว่างเปล่าราวกับความเว้งว้างของกลางคืนแบบที่ชอบ เมื่ออาจารย์ผู้สอนเห็นเข้าจึงคอมเมนต์ว่าผลงานของเกียรติศักดิ์ดูเป็นแบบเซอร์เรียลลิสม์ หรือลัทธิเหนือจริง ด้วยเหตุนี้เกียรติศักดิ์จึงเริ่มสนใจศึกษาปรัชญา และเทคนิคของศิลปะแนวนี้ให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ และนำมาสร้างเป็นงานศิลปะ

           หัวใจของลัทธิเซอร์เรียลลิสม์นั้นคือการแสดงออกถึงจิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นไปอย่างเสรี และอัตโนมัติ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ที่จำแนกลักษณะของจิตเป็น 3 ส่วนอันประกอบด้วย

‘จิตสำนึก’ ภาวะของจิตที่บุคคลสำนึกรับรู้ได้ เช่นสิ่งต่างๆที่เอาสัมผัส หรือเห็นได้ในสภาพแวดล้อมแต่ละวันรอบตัว

‘จิตก่อนสำนึก’ ภาวะจิตอันประกอบจากความทรงจำในอดีตที่หลงเหลืออยู่ และยังสามารถระลึกถึงและนำกลับมาสู่สำนึกปกติได้

‘จิตไร้สำนึก’ ภาวะของจิตที่ซ่อนเร้นอยู่ในบุคคลซึ่งไม่สามารื้อฟื้นกลับมาสู่สำนึกปกติได้

โดยซึ่งจิตไร้สำนึกซึ่งมีส่วนบงการพฤติกรรมของบุคคลอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั้นอาจจะเกิดจากประสบการณ์ที่มากระทบอารมณ์ในอดีต เช่นความรัก ความผิดหวัง ความสุข ความกลัว รวมไปถึงคติความเชื่อที่ถูกสั่งสมมา

ภาพ ‘พุทธปรัชญา‘ โดยเกียรติศักดิ์ ชานนนารถ (ภาพจากหนังสือ เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ
การแสดงศิลปกรรมย้อนหลัง 4-31 ตุลาคม 2544 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป)

          เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 เกียรติศักดิ์ประสบเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งใหญ่เมื่อน้องชายในวัยเพียง 20 ถึงแก่กรรมอย่างกระทันหัน จากวัยรุ่นที่มองว่าความตายเป็นสิ่งไกลตัว ทุกสิ่งกลับตาลปัตรจนความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไปหมด ภาพวาดจากมุมมองเดิมๆที่วาดค้างไว้กลับต้องหยุดแค่นั้นไม่สามารถสร้างสรรค์ต่อให้แล้วเสร็จได้ เพื่อเยียวยาจิตใจเกียรติศักดิ์จึงหันมาศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างขะมักเขม้น

           ผลงานแบบเซอร์เรียลลิสม์ที่เกียรติศักดิ์ชอบ ผนวกกับปรัชญาพุทธศาสนาที่เกียรติศักดิ์เชื่อถือ เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ ชลูด นิ่มเสมออาจารย์ของเกียรติศักดิให้นักศึกษาสร้างสรรค์งานเรียนที่สื่อถึง ‘พุทธปรัชญา’ ในวิชาองค์ประกอบศิลป์ ด้วยความสะเทือนใจเกี่ยวกับความไม่ยั่งยืนของสังขารเกียรติศักดิ์จึงวาดภาพกรอบไม้ในสภาพผุพังล้อมบรรยากาศอยู่เพียง 3 ด้าน ด้านขวาแหว่งหายไปแสดงถึงความเสื่อมสลายของทุกชีวิต และสรรพสิ่ง บริเวณด้านซ้ายของภาพมีรูปทรงมนุษย์ห่มผ้าคล้ายจีวร ไม่มีแขน หันหลังให้ผู้ชม เหมือนกำลังมองออกไปยังความว่างเปล่า อันสื่อถึงสัจธรรมของโลกที่ท้ายสุดแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะคว้าติดตัวตายตามไปได้เลย

         ในช่วงเวลาต่อๆมาเกียรติศักดิ์ ยิ่งหนีห่างจาก ‘จิตสำนึก’ ที่เราเห็นอยู่รอบตัว ไปสู่การแสดงออกอย่างอิสระของ ‘จิตไร้สำนึก’ อันไม่มีขอบเขตอะไรมาเป็นกรอบครอบจินตนาการไว้ จิตรกรรมของเกียรติศักดิ์มักยึดโยงกับความผุพังย่อยสลายโดยสื่อความหมายผ่านภาพไม้ผุกร่อน กระดูกสัตว์ ที่แวดล้อมด้วยฉากหลังอันว่างเปล่ามืดมิดดูลึกลับ

         จนในราวปี พ.ศ. 2523 เมื่อตกผลึกทางความคิดจนได้ที่ เกียรติศักดิ์จึงสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาชุดหนึ่งซึ่งได้กลายเป็นชุดสำคัญอันเป็นตัวแทนของศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์ในประเทศไทย ณ ห้วงเวลานั้นเกียรติศักดิ์กำลังดิ้นรนแสวงหาความเป็นไทยในตนเอง โดยการตระเวนออกไปสัมผัสบรรยากาศของโบราณสถาน ซากปรักหักพังของวัดวาอาราม แต่ครั้นจะเอาภาพที่เห็นต่างๆนี้มาถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ เกียรติศักดิ์ยังมีความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ถึงจะไทยแต่ก็ยังไกลตัวมากเกินไป ไม่อยู่ในบริบทของชีวิตประจำวัน ทั้งยังต้องดั้นด้นออกเดินทางไกลไปค้นหา แถมต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างมากที่จะรู้สึกถึงสิ่งต่างๆเหล่านั้น เหตุเพราะยังไม่มีประสบการณ์ตรงใดๆมากระทบจิตใจ

ภาวะของจิตใต้สำนึก 2 (State of the Subconscious 2)  พ.ศ. 2523
เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม้ กระดูกสัตว์ และ เส้นเอ็น ขนาด 204 x 174 x 33 เซนติเมตร

           ด้วยความเหนื่อยล้าในการค้นหาตัวตนในสถานที่อันไม่คุ้นเคย เกียรติศักดิ์ตัดสินใจหันหลังกลับบ้านมาหาแรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวัน เมื่อเปิดตู้เสื้อผ้าเห็นของใช้อย่างเสื้อ และกางเกง ก็รู้สึกว่าของที่ใกล้ตัวที่สุดนี่แหละถึงจะแสดงความเป็นตัวตนได้ดีที่สุด ชึ่งตัวตนของเกียรติศักดิ์นั้นก็เป็นไทยอยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์ประกอบไปด้วย ตัวตนรูปธรรม ที่เราเห็นๆกันจากหน้าตา และเสื้อผ้าอาภรณ์ กับ ตัวตนนามธรรม หรือจิตที่ซ่อนเร้น เป็นตัวตนที่แท้จริงเสแสร้งไม่ได้ เกียรติศักดิ์จึงใช้หลักคิดนี้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมเป็นภาพเสื้อผ้า กางเกง ของเกียรติศักดิ์เอง ลอยอยู่เหมือนตนกำลังสวมใส่ แต่กลับล่องหนไม่เห็นหน้าตา หรืออวัยวะใดๆ ไม่แสดงความเป็นรูปธรรม ชวนให้มองทะลุเข้าไปถึงภายในอันเป็นนามธรรม ผลงานชิ้นนี้เกียรติศักดิ์ตั้งชื่อว่า ‘ภาวะของจิตใต้สำนึก 1’ ซึ่งถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมใน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 26 พ.ศ. 2523 และประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม ผลงานชิ้นนี้ยังได้กลายเป็นหนึ่งในสมบัติชิ้นไฮไลท์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร

           ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นถัดมาที่มีชื่อว่า ‘ภาวะของจิตใต้สำนึก 2’ เกียรติศักดิ์เกิดไอเดียเมื่อพบกรอบหน้าต่างไม้โบราณ จึงนำมาสร้างเป็นงานศิลปะโดยนำหลักการของ ความบังเอิญ (Chance) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์นิยมใช้ ความบังเอิญคือการนำสิ่งของสองอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน มาจัดวางไว้ด้วยกันโดยไม่ยึดโยงกับเหตุผล เพื่อกระทบจิตใจให้เกิดจินตนาการ ในผลงานชิ้นนี้เกียรติศักดิ์ยังคงเลือกนำภาพความรู้สึกภายใน ซึ่งแสดงผ่านตัวตนที่ล่องหน เห็นเพียงแต่เสื้อ กางเกง และรองเท้ามาใช้เป็นองค์ประกอบหลัก มาจัดวางให้นั่งกางแขนกางขาอยู่บนเก้าอี้ไม้ ท่าทางคล้ายๆหุ่นไล่กา บริเวณระหว่างขาเก้าอี้มีกรอบสี่เหลี่ยมเหมือนหน้าต่างทะลุมิติที่ภายในมีตัวตนล่องหนในเครื่องแต่งกาย และท่าทางแบบเดียวกันปรากฏอยู่ ด้านบนของภาพมีรูปกระโหลกสุนัขล่องลอยอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งสุนัขเป็นสัตว์ที่เกียรติศักดิ์เคยเลือกมาใช้ในผลงานชิ้นอื่นๆก่อนหน้า แต่สุนัขตัวนั้นก็ได้ตายลงไปกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สะเทือนความรู้สึกอย่างตราตรึง หน้าต่างเก่า และกระโหลกสัตว์จึงใช้สื่อถึงความไม่ยั่งยืนของสังขาร บรรยากาศของภาพนี้ถูกจัดสรรให้ดูมีมิติลึกลับ มีแสงสว่างพอเห็นได้แต่ในระยะใกล้ แต่ในระยะไกลออกไปถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดไม่รู้ว่าสิ้นสุดตรงไหนก่อให้เกิดอารมณ์พิศวง

ติดตามบทความเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยจากคุณตัวแน่นได้ที่นี่ https://anurakmag.com/author/anurak_author001/

About the Author

Share:
Tags: พิริยะ วัชจิตพันธ์ / เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ / เซอร์เรียล / ตัวแน่น /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ