นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 57
เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น
ภาพวาดรูปภูเขาทองรายล้อมไปด้วยบ้านเรือนในโทนสีน้ำตาลฝีมือ ทวี นันทขว้าง จากยุคแรกเริ่มของศิลปินที่ยังวาดด้วยเทคนิคสีน้ำมันด้วยฝีแปรงหนาๆ ในสไตล์อิมเพรสชันนิสม์อยู่ ซึ่งอาจจะดูไม่คุ้นตาแฟนคลับเหมือนภาพดอกไม้สีสวยๆ ตัดเส้นเล็กๆ ที่ทวีนิยมวาดในยุคต่อๆ มา ภาพชุดภูเขาทองนี้เป็นงานชุดดังที่ทวีวาดไว้เพียงไม่กี่ชิ้น เท่าที่รู้มีหลงเหลืออยู่เพียง ๓-๔ ภาพ รวมถึงชิ้นหนึ่งซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เลือกเอาไว้ประดับห้องทำงาน และก็ยังคงแขวนอยู่ในห้องนั้นตราบจนถึงทุกวันนี้
ภาพภูเขาทองชิ้นที่จะเล่าถึงซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในซีรี่ส์นั้น มีความเป็นมาอันสุดแสนจะวิบากห่างไกลจากคำว่าธรรมดา ทวี นันทขว้าง เริ่มวาดภาพภูเขาทองในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ขณะที่ยังรับหน้าที่ช่วยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี สอนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และในปีถัดมาหลังจากที่วาดภาพนี้เสร็จ ทวีก็ได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้ไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรมเป็นเวลา ๒ ปี
เมื่อทวีกลับมาเมืองไทย ประจวบเหมาะพอดีในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่สามแยกอโศก (สมัยนั้นยังเรียกว่าสามแยกเพราะถนนที่ตัดมาทางศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ยังไม่มี) ตรงปากซอยอโศกฝั่งถนนสุขุมวิทมีร้านเสริมสวยอยู่ร้านหนึ่งเพิ่งจะหมดสัญญาเช่า เจ้าของที่ดินซึ่งมียศเป็นร้อยตำรวจเอกนามว่า สุวิทย์ ตุลยายน ผู้ชอบศิลปะเป็นทุนเดิมจากการที่ได้ถูกปลูกฝังตอนไปเรียนต่างประเทศ เกิดความคิดอยากจะเอาพื้นที่ตรงนี้มาประกอบธุรกิจแกลเลอรีซื้อขายผลงานศิลปะ ไอเดียนี้น่าจะเวิร์กเพราะพอเจ้าของทำเองก็ไม่มีค่าเช่า แถมบ้านสุวิทย์ยังอยู่ติดกับร้านไปมาหาสู่สะดวกสบาย “บางกะปิแกลเลอรี” จึงถือกำเนิดขึ้นแทนร้านทำผม โดยสุวิทย์ตัดสินใจใช้ชื่อ อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร ที่ตั้งสมัยนั้นของสถานที่แห่งนี้มาตั้งเป็นชื่อแกลเลอรี ไม่ต้องคิดมากหาชื่อประหลาดให้ปวดหัว
สุวิทย์บริหารบางกะปิแกลเลอรีเอง โดยได้ “กลุ่มมักกะสัน” ที่ก่อตั้งโดย ดำรง วงศ์อุปราช และเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยเรื่องคอนเนกชันเชื้อเชิญศิลปินมาแสดงงาน ที่นี่เลยเต็มไปด้วยศิลปินมากหน้าหลายตาสลับสับเปลี่ยนกันมาถี่ๆ ผลัดกันโชว์ฝีมือจนหัวบันไดไม่แห้ง งานแสดงเด่นๆ เช่น วันแมนโชว์ของ ถวัลย์ ดัชนี ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นประธาน, งานแสดงเดี่ยวของ ประหยัด พงษ์ดำ, สวัสดิ์ ตันติสุข และศิลปินในตำนานอีกหลายท่านก็เคยจัด ณ สถานที่แห่งนี้รวมถึง ทวี นันทขว้าง ซึ่งรู้จักมักจี่กับศิลปินกลุ่มนี้ดีก็เคยมีงานแขวนโชว์อยู่ที่นี่ ในสมัยนั้นบางกะปิแกลเลอรีมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานในแวดวงศิลปะ และตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอๆ แต่ถึงดังเป็นพลุแตกแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้สุวิทย์ร่ำรวยอะไร เพราะสมัยนั้นผลงานศิลปะไม่ได้มีราคาเท่าไหร่ แถมคนซื้อก็มีไม่มาก แทบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยกันในละแวกนั้น คนไทยเรายังไม่ค่อยจะสนใจเก็บงานศิลปะกัน
เป็นที่น่าเศร้าที่บางกะปิแกลเลอรีต้องปิดฉากลงไปในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เหตุจากสุวิทย์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิต ภาพวาดที่ค้างสต๊อกอยู่จึงถูกขนเอาไปใช้ประดับอพาร์ตเมนต์ให้เช่าของครอบครัวสุวิทย์ที่ตั้งอยู่ด้านหลังแกลเลอรี ส่วนชิ้นที่เกินๆ อีกมากมายไม่มีที่แขวนก็ถูกพิงๆ หมกไว้ในห้องเก็บของ เวลาผ่านไปหลายปีจู่ๆ ก็มีนักสะสมของเก่าไปสืบทราบมาว่าผลงานศิลปะจากบางกะปิแกลเลอรีส่วนหนึ่งถูกเก็บจนฝุ่นกลบไว้ที่นี่ พอติดต่อไปญาติๆ ของสุวิทย์ก็ตอบตกลงจะแบ่งขาย ก่อนจะนัดแนะให้มาหาและพาไปเลือกในห้องเก็บของที่มีรูปภาพกองพะเนินเป็นตั้งๆ ครั้งนั้นจบดีลกันไป ๓-๔ ชิ้น ยอดรวมเป็นเงินพันกว่าบาท ซื้อแค่พอจะขนไหว เพราะนักสะสมท่านนั้นกะว่าคราวหน้าจะกลับมาซื้อใหม่ แต่นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดมหันต์ เพราะหลังจากครั้งนั้นญาติๆ ของสุวิทย์ก็เกิดเสียดายเลิกขายไปเฉยๆ
ในบรรดาภาพวาดที่เปลี่ยนมือกันสำเร็จในวันนั้น ชิ้นที่เป็นที่โจษขานมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพภูเขาทองที่วาดด้วยสีน้ำมันบนแผ่นไม้ฝีมือ ทวี นันทขว้าง ชิ้นที่เกริ่นถึงมาตั้งแต่ต้นนี่แหละ เมื่อเจ้าของใหม่ได้ภาพภูเขาทองมาก็รู้สึกถูกชะตากับผลงานชิ้นนี้มาก ถึงกับจัดแจงสั่งทำกรอบด้วยไม้สักแกะสลักอย่างวิลิศมาหราที่ราคาค่างวดน่าจะแพงกว่าราคารูปที่จ่ายไป อุตส่าห์ตกแต่งซะดีแต่เพราะภาพถูกวาดบนแผ่นไม้
พอนานวันไปปลวก มอด ก็เลยแห่มากัดกิน กว่าจะมารู้เข้าก็ทำเอาเจ้าของใจแป้ว โชคยังดีที่สีน้ำมันปลวกไม่ชอบ จึงพากันหม่ำแต่เนื้อไม้ด้านหลัง ด้านหน้ายังอยู่ครบไม่มีแหว่ง ผลสุดท้ายเพื่อแยกส่วนที่เสียหายออกจึงต้องเอาภาพไปแช่น้ำให้ไม้อัดลอกเป็นชั้นๆ แล้วแยกแผ่นหน้าที่ภาพวาดติดอยู่บนผิวไม้ออกมายึดใหม่บนผ้าใบหนาๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงและไม่ล่อแมลงอีกในอนาคต เพราะเป็นภาพดัง หาดูยาก ที่แสดงถึงวิวัฒนาการในช่วงแรกๆ ของ ทวี นันทขว้าง ศิลปินคนสำคัญของชาติ ภาพภูเขาทองภาพนี้จึงมักมีนักวิชาการให้ความสนใจนำเอาภาพไปจัดแสดงและลงในหนังสือต่างๆ ทำให้ยิ่งเป็นที่คุ้นตาคนในวงการเข้าไปอีก
นอกจากจะคลุกฝุ่น หนีมอด ตะลุยน้ำกันมาแล้ว น้อยคนนักจะรู้ว่าภาพภูเขาทองนี้มีประวัติที่โชกโชนมากกว่านั้น เพราะเคยฝ่าเขม่าลุยไฟ รอดมาได้จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านแถวถนนผ่านฟ้า สถานที่ที่ภาพนี้ถูกเก็บรักษาไว้ เลยต้องยอมรับว่าภาพภูเขาทองนอกจากจะสวยและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีความขลังเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณด้านแคล้วคลาด คงกระพัน นี่ถ้าภาพวาดชิ้นเล็กกว่านี้หน่อย คงจะถูกเอาไปเลี่ยมห้อยคอแล้ว