Friday, April 18, 2025
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์…เกี่ยวสายใยในวันวาน มาถักทอเป็นรูปธรรมอลังการในวันนี้

-๑-
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ก่อนหน้านี้พวกคนลาวชาวศรีสัตนาคนหุตได้อพยพมาอยู่ก่อนหน้าแล้ว หลักฐานคือ มีการก่อสร้างเจดีย์ไว้ด้วย เหตุที่อพยพมาที่ “เมืองลุ่ม” นี้ก็เพราะหนีภัยต่างๆ มา เมื่อมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นก็เกิดเป็นบ้านเมืองในที่สุด มีผู้ปกครองแต่ไม่ได้เรียกว่าเจ้าเมือง ใช้คำตามภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “อุปฮาด” เป็นชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองของชาวศรีสัต

สาเหตุที่เรียกว่าเมืองลุ่ม ก็คือมีผู้คนอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม หรืออีกสาเหตุหนึ่งคำว่าลุ่มในภาษาพื้นเมืองหล่ม ออกเสียงว่า “ลุ้ม” หมายความว่า “ข้างล่าง” ดังที่ชาวเมืองหลวงพระบางเรียกว่า “ลาวลุ้ม” หมายถึง เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ข้างล่างหรือบนพื้นราบนั่นเอง เพื่อให้ต่างไปจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนที่สูงก็คือ ชนเผ่าลัวะ ข่า ม้ง ฯลฯ

ชื่อเมืองหล่มสักเริ่มมีหลักฐานปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือในสมัยที่ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เจ้าอนุวงศ์ได้ส่งทัพเจ้าราชวงศ์มายึดเอาเมืองลุ่ม อุปฮาดหรือเจ้าเมืองลุ่มมีกำลังน้อยจึงต้องยอมสวามิภักดิ์ เมื่อกองทัพของพระยาอภัยภูธรกับพระยาพิชัยไปถึงเมืองลุ่ม

นายคงผู้เป็นชาวพื้นเมืองลุ่มอาสานำทัพของพระยาอภัยภูธรกับพระยาพิชัยขึ้นไปถึงเมืองหนองบัวลำภู แต่ก็มิได้ทำศึกเพราะทัพของเจ้าพระยาบดินทร์เดชาปราบได้แล้ว ทัพไทยจับอุปฮาดเจ้าเมืองลุ่มไปสำเร็จโทษ เมื่อเสร็จสิ้นศึกนายคง ชาวพื้นเมืองลุ่ม จึงมีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระสุริยวงศาชนะสงครามรามภักดีวิริยะกรมพาหนะ เป็นผู้สร้างเมืองหล่มใหม่ขึ้นบริเวณบ้านท่ากกโพธิ์และเป็นเจ้าเมืองหล่มสักเป็นท่านแรกเมืองหล่มใหม่หรือเมืองหล่มศักดิ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับการยกขึ้นเป็นจังหวัดและขึ้นอยู่กับมณฑลอุดรและมณฑลพิษณุโลก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ เกิดปัญหาขึ้นหลายอย่าง จังหวัดหล่มศักดิ์จึงได้ถูกโอนย้ายมาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมเปลี่ยนการสะกดชื่อเมือง จากหล่มศักดิ์ มาเป็นหล่มสัก เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๙ ส่วนชื่อพิพิธภัณฑ์ยังคงใช้ชื่อเดิมเพื่อเป็นอนุสรณ์สืบไป

บรรพบุรุษของคนอำเภอหล่มสักมีความเป็นมาใกล้ชิดกับคน สปป.ลาว จึงทำให้ความเป็นอยู่ตลอดจนประเพณี วัฒนธรรมด้านภาษา การแต่งกาย คล้ายคลึงกัน และมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะภาษาพูดซึ่งเป็นภาษาลาว แต่เดิมชาวหล่มสักมีประเพณีการบวชพระ การทำบุญเบิกบ้าน การแห่นางแมว การจุดบั้งไฟตะไลเพื่อขอฝน การเล่นแม่นางด้ง แม่นางกวัก แม่นางเชือก การรำเสื้อแขบลาน การละเล่นแมงตับเต่า และประเพณีอื่นๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ อาหารดีมีชื่อของเมืองหล่มสัก เช่น ข้าวหลาม ไก่ย่าง ข้าวเบือ ข้าวเหนียว ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า ลาบ ขนมจีนหล่มสัก เป็นต้น

คนไทหล่มเป็นคนเชื้อสายลาวที่มีต้นกำเนิดอยู่ทางดินแดนล้านช้าง บริเวณประเทศลาว ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในสมัยสุโขทัย เรียกคนกลุ่มนี้รวมๆ ว่า ลาวหลวงพระบาง จนกระทั่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีการกวาดต้อนคนลาวเวียงจันทน์ให้มาอาศัยอยู่กับคนไทหล่มในพื้นที่เดิม จนเกิดเป็นชุมชนที่ผสมผสานวัฒนธรรม

ครั้งหนึ่ง อ.หล่มสัก เกือบได้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทยตามนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพราะเห็นว่ามีชัยภูมิที่ข้าศึกรุกรานได้ลำบาก แต่เมื่อจอมพล ป. พ้นจากตำแหน่ง โครงการนี้ก็ถูกยกเลิกตามไปด้วยโดยปริยาย

About the Author

Share:
Tags: พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ / พิพิธภัณฑ์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ