เรื่อง/ภาพ: ชาธร โชคภัทระ
รถไฟโบราณ
ปูชนียจักรกลแห่งกาลเวลา
วี๊ดๆ ปู้นๆ พร้อมเสียงระฆังทองเหลืองสั่นดังแก็งๆ แก็งๆ ตามมาด้วยเสียงล้อรถไฟเริ่มหมุนฉึกฉักๆ ผลักให้ขบวนรถไฟยาวเหยียดหนักนับร้อยตันแล่นไปข้างหน้า นี่คือเสียงแห่งอดีตที่ทุกวันนี้แทบไม่ได้ยินแล้ว เพราะเป็นเอกลักษณ์ของ “รถไฟโบราณ” โดยเฉพาะ “รถจักรไอน้ำ” ที่ไทยใช้กันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และทยอยปลดประจำการไปด้วยอายุที่มากโข ถูกแทนที่ด้วยรถไฟดีเซลรุ่นใหม่ซึ่งแล่นได้ไวกว่า ทว่ารถไฟโบราณก็ยังคงเป็นพาหนะสุดคลาสสิกที่อยู่ในใจใครหลายคน เพราะถือเป็นเครื่องจักรกลย้อนยุคที่ทรงคุณค่าน่าอนุรักษ์ไว้ ทั้งเรื่องราวความสำคัญในการขนส่ง เดินทาง และตัวรถเองก็มีดีไซน์สวยงามตามยุคสมัย รถไฟโบราณจึงมีความผูกพันกับคนไทยมาหลายชั่วอายุคนจนแยกกันไม่ออกเลย
ยุคทองของรถไฟโบราณ
การขนส่งด้วยระบบรางหรือรถไฟ กำเนิดขึ้นในสยามสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาการรถไฟไทยขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทรงเปิดเส้นทางรถไฟหลวงสายแรกจากกรุงเทพ-อยุธยา ทว่าจริงๆ แล้วก่อนหน้านั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้มีทางรถไฟเอกชนสายแรกเกิดขึ้นแล้ว เป็นของบริษัทรถไฟปากน้ำ แล่นจากสถานีกรุงเทพ-ปากน้ำ สมุทรปราการ ห้วงเวลาดังกล่าวสยามถูกชาติตะวันตกล่าอาณานิคมอย่างหนัก โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ได้กัมพูชา ลาว เวียดนาม เป็นอาณานิคมแล้ว รัชกาลที่ ๕ จึงทรงมีรับสั่งให้สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อรับมือการล่าอาณานิคมที่แผ่เข้ามาทางภาคอีสาน หลังจากนั้นจึงสร้างทางรถไฟสายเหนือ เพื่อรองรับกิจการสัมปทานค้าไม้สัก ไทยจึงถือเป็นชาติแรกๆ ในเอเชียที่มีวิสัยทัศน์เล็งเห็นความสำคัญของ “รถไฟ” ทั้งเพื่อการขนส่ง เดินทาง พาณิชย์ ท่องเที่ยว และการเมืองการปกครอง จวบจนสิ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ สยามก็มีทางรถไฟรวมถึง ๙๓๒ กิโลเมตร บนเส้นทางสายอีสาน เหนือ และใต้ (ปัจจุบันไทยมีทางรถไฟรวมไม่น้อยกว่า ๔,๐๗๐ กิโลเมตร ครอบคลุมทุกภาค)
รถไฟขบวนแรกที่คนไทยเห็นและรู้จัก ไม่ใช่รถไฟจริง แต่เป็นโมเดลรถไฟจำลอง ที่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ส่งมาถวายรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ สร้างความตื่นเต้นให้ชาวสยามเป็นอย่างมาก รถไฟในยุคนั้นเป็นรถไฟหัวจักรไอน้ำ (Steam Locomotive) ซึ่งเครื่องจักรซับซ้อนมาก ต้องต้มน้ำให้เดือดในหม้อต้ม (Boiler) จนเกิดไอน้ำแรงดันสูงไปขับเคลื่อนลูกสูบ ที่ต่อเนื่องไปยังล้อรถไฟอีกทอดหนึ่ง บนหัวรถจักรไอน้ำจึงต้องมีที่เก็บน้ำและไม้ฟืนหรือถ่านหิน เพื่อต้มน้ำให้เดือด เหตุนี้เราจึงเห็นควันไอน้ำสีขาวพวยพุ่งออกมา สลับกับควันสีดำที่ปล่องบนหัวรถจักรอันเกิดถ่านหินเผาไหม้นั่นเอง นี่คือเครื่องยนต์ยุคแรก ที่คนสมัยใหม่มองว่าล้าหลังและไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนัก แต่นั่นคือยุคบุกเบิกที่ช่วยให้การขนส่งมวลชน และการเดินทางที่ประหยัด รวดเร็ว เกิดขึ้นจริงบนแผ่นดินสยาม โดยมีรถไฟไอน้ำเล่นบทเป็นพระเอก
หัวรถจักรไอน้ำที่รถไฟไทยใช้กันในยุคนั้น ต้องนำเข้ามาจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น รถจักรไอน้ำบอลด์วินมิกาโด (Baldwin Mikado) รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นแปซิฟิค (Japanese Pacific) รถจักรไอน้ำบาร์ติญโญ่แปซิฟิค (Batignolles Pacific) รถจักรไอน้ำซิกส์ คัพเปลอร์ (Manning&Wardle) รถหัวจักรไอน้ำฮาโนแม็คโมกุล (Hanomag Mogul) และรถจักรไอน้ำบรูช (Brush) เป็นต้น รถหัวจักรไอน้ำเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นม้าเหล็กจอมพลังที่เคยโลดแล่นอยู่บนรางรถไฟทั่วประเทศ รับใช้ผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วน อย่างรถไฟหัวจักรไอน้ำมิกาโด (Mikado) สามารถลากจูงขบวนสินค้าได้ทั้งทางราบและบนภูเขา เพราะมีกำลังฉุดสูง หัวรถจักรไอน้ำประเภทแปซิฟิค (Pacific) เหมาะวิ่งทางราบ ทำความเร็วได้มาก เพราะล้อโตและมีจำนวนล้อน้อย จึงได้รับการนำมาใช้แทนหัวจักรไอน้ำประเภทเท็น วีลเลอร์ ที่น่าใจอีก ๒ ประเภท คือ หัวรถจักรไอน้ำแบบโมกุลและแพรี่ ซึ่งเดิมเคยใช้ขนส่งสินค้าอยู่ในญี่ปุ่น ทว่าเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านสยามไปยังพม่า ทหารญี่ปุ่นได้ใช้หัวรถจักรไอน้ำ ๒ แบบนี้ขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ตั้งแต่จังหวัดราชบุรี-กาญจนบุรี-พม่า เพราะหัวจักรมีขนาดไม่ใหญ่นัก กำลังขับสูง สามารถผ่านถ้ำกระแซได้
สายลมแห่งกาลเวลาพัดผ่าน ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อหยุดยั้งการเดินทัพของญี่ปุ่นผ่านแดนสยาม ทำให้เส้นทางรถไฟ สะพาน และสถานีรถไฟ เสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเข้ามาของรถไฟดีเซลรางเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ รวมถึงผู้ผลิตหัวรถจักรไอน้ำได้เลิกผลิตลง ทำให้ไทยสั่งซื้อรถไฟหัวจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากนั้นรถไฟหัวจักรไอน้ำที่แล่นอยู่ก็เริ่มถูกปลดประจำการไปเรื่อยๆ จนเลิกวิ่งไปทั้งหมดในปัจจุบัน
หัวลำโพง จังหวะลมหายใจรถไฟโบราณ
ถ้าจะว่าไปแล้ว รถไฟโบราณกับ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” หรือชื่อเป็นทางการ “สถานีรถไฟกรุงเทพ” นับเป็นของคู่กัน เพราะสถานีรถไฟหัวลำโพงเคยใช้เป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยรถไฟมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รถไฟทุกสายทุกขบวนต้องแล่นมาสิ้นสุดหรือเริ่มต้นที่นี่ ทุกวันเราจะเห็นผู้คนนับหมื่นคลาคล่ำ แบกสัมภาระ หิ้วลูกจูงหลาน พากันมาขึ้นรถไฟที่ชานชาลา เช่นเดียวกับในยุคเริ่มต้นสถาปนาการรถไฟไทย ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงตอกหมุดรถไฟตัวแรกลงบนไม้หมอนมะริด ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
สถานีรถไฟหัวลำโพง เรียกชื่อกันตามตำบลหัวลำโพง ที่สถานีตั้งอยู่ เริ่มก่อสร้างสมัยรัชกาลที่ ๕ มาแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมัยรัชกาลที่ ๖ (๙ ปี หลังจากรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต) สถานีรถไฟหัวลำโพงมีเนื้อที่กว่า ๑๒๐ ไร่ ตัวอาคารทรงโดมโค้งมีความสวยงามด้วยเอกลักษณ์โดดเด่น จดจำง่าย สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนผสานศิลปะยุคเรอเนซองของยุโรป ทาสีเหลืองนวลและขาว โดยมีรูปแบบคล้ายสถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ซึ่งสร้างก่อนหัวลำโพง ๒๕ ปี วัสดุก่อสร้างเป็นแบบสำเร็จนำเข้ามาประกอบจากเยอรมนี นอกจากความโดดเด่นขอโครงเหล็กทรงโค้งทนทานแข็งแรงแล้ว ยังมีนาฬิการะบบไฟฟ้าขนาดใหญ่บอกเวลา พร้อมด้วยกระจกสีที่ช่องระบายอากาศ มีลายปูนปั้นประดับประดางดงามตามผนัง หัวเสาเป็นทรงโรมันสไตล์ไอโอนิค นอกจากนี้ยังมีลายกระเบื้องที่พื้นและเพดานสวยคลาสสิกมาก
นับถึงปัจจุบัน สถานีรถไฟหัวลำโพงมีอายุกว่า ๑๐๗ ปีแล้ว เคยมีรถไฟวิ่งเข้าออกไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ขบวนต่อวัน แต่เมื่อรัฐได้ยกเลิกการใช้งานสถานีรถไฟหัวลำโพง เปลี่ยนไปใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) แทน ทุกวันนี้สถานีรถไฟหัวลำโพงก็พลันเงียบเหงา เหลือรถไฟขบวนชานเมือง ขบวนธรรมดา และขบวนท่องเที่ยว อยู่เพียง ๖๒ ขบวนเท่านั้น แต่อนาคตอันใกล้ก็มีแผนจะใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงให้เป็นพื้นที่ Community Space สำหรับคนรุ่นใหม่ต่อไป
ในส่วนการอนุรักษ์รถไฟโบราณ ทั้งหัวรถจักรไอน้ำและรถหัวลากดีเซลที่ปลดประจำการแล้ว ปัจจุบันได้มีการนำมาจอดแสดงไว้ที่หัวลำโพง ให้เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟโบราณย่อมๆ เข้าชมฟรีได้ทุกวัน แสดงไว้ ๗ หัว คือ รถจักรไอน้ำ A Class เลขที่ ๖๑ และ ๕๔ รถจักรไอน้ำ E Class เลขที่ ๑๖๕ รถจักรไอน้ำเลขที่ ๓๓๖ รถจักรดีเซลไฟฟ้า ดาเวนปอร์ต ๕๐๐ แรงม้า เลขที่ ๕๓๗ และ ๕๑๘ สุดท้ายคือพระเอกที่มีขนาดใหญ่และแรงสุด คือ รถจักรไอน้ำแปซิฟิค เลขที่ ๒๗๘ ซึ่งใช้งานช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๕๑๑ ชมแล้วเหมือนได้ย้อนเวลาหาอดีตที่พวกมันเคยโลดแล่น
คุณทวดรถไฟ ม้าเหล็กที่ยังมีลมหายใจ
สำหรับคนที่เกิดไม่ทันได้นั่งรถไฟหัวจักรไอน้ำจริงๆ ไม่ต้องเสียใจ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยเขามีการนำปูชนียจักรกล รถไฟหัวจักรไอน้ำที่ผ่านการบูรณะอย่างดีออกมาวิ่งเพื่อการท่องเที่ยว ปีละ ๖ ครั้ง คือ วันสถาปนากิจการรถไฟไทย (๒๖ มีนาคม) วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี (๓ มิถุนายน) วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๘ กรกฎาคม) วันแม่แห่งชาติ (๑๒ สิงหาคม) วันปิยมหาราช (๒๓ ตุลาคม) และวันพ่อแห่งชาติ (๕ ธันวาคม) นอกนั้นหัวรถจักรไอน้ำรุ่นคุณทวดก็จะจอดพักสงบนิ่งอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี การได้นั่งรถไฟโบราณสักครั้งในชีวิตก็เหมือนการนั่งแคปซูลเวลา พาให้นึกถึงยุคที่เทคโนโลยียังไม่เจริญมากนัก ทว่าคนมีรอยยิ้มและความสุขเต็มเปี่ยม แม้รถไฟรุ่นคุณทวดจะไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ก็มีเสน่ห์ของสายลมพัดโบกโบยเข้ามาทางหน้าต่างกว้าง แม้เบาะที่นั่งไม่ค่อยนิ่ม แต่ก็ทดแทนได้ด้วยความคลาสสิกของการออกแบบดีไซน์ตัวรถ สีสัน เครื่องไม้ เครื่องทองเหลือง ฟอนท์ตัวหนังสือแบบวินเทจ รวมถึงเสียงหวูดรถไฟและควันไอน้ำที่พวยพุ่งให้เห็น เหล่านี้ไม่มีรถไฟใดจะทดแทนได้
นี่คือเรื่องราวบางส่วนเสี้ยวของรถไฟไทยโบราณ ที่มีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี แม้จะเก่าแก่แต่ก็ทรงคุณค่า มีอดีตมีเรื่องราวน่าค้นหาไม่จบสิ้น รอวันให้คนรุ่นหลังเข้าไปสัมผัส และหลงรักความงามสุดคลาสสิกนี้ “รถไฟโบราณ”