นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 2
เรื่อง : กระทรวงวัฒนธรรม
พยุหยาตรา มโนราห์ และใจคน
นับจากการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในปี พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ได้ทรงร่วมกันรักษาและส่งเสริมงานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หรือการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ เป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่กล่าวถึงการเห่เรือสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีลอยพระประทีป
อย่างไรก็ตามในส่วนของกระบวนกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น และสืบเนื่องมาจนเป็นที่ชื่นชมไปอย่างกว้างขวางในยุโรป ดังบันทึกของนิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่กล่าวว่า
“ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า ฝีพายของพวกแขนแดงได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน”
พระราชพิธีดังกล่าวได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระราชพิธีที่รุ่งเรืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารคถึง 47 วัด