นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 20
เรื่อง: อรรยา จารุบูรณะ
ภาพ : พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์

Portrait of my life
ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย)
ท่ามกลางเฟรมผ้าใบและกรอบรูปนับร้อยที่เรียงซ้อนกันอยู่ในสตูดิโอเพดานสูงคือสุภาพสตรีร่างเล็กในวัย ๘๐ ปี ใบหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มยังคงเค้าความงามในอดีตอย่างไม่เสื่อมคลาย รับกับปอยผมขดเป็นวงอย่างมีเสน่ห์บนหน้าผาก สุภาพสตรีท่านนี้คืออาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) ศิลปินหญิงไทยคนแรกที่มีโอกาสได้ถวายงานวาดภาพเขียนให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และยังเป็นอาจารย์หญิงที่ลูกศิษย์ลูกหานักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรต่างเคารพรักมานานหลายสิบปี
ย้อนกลับไปราว ๕๐-๖๐ ปีก่อน ศิลปินหญิงในอดีตของไทยนับว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะบัณฑิตหญิงที่เรียนจบปริญญาตรีในสาขาจิตรกรรมมาโดยเฉพาะ แต่ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) คือนักศึกษาหญิงคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม (ชื่อในขณะนั้น) มหาวิทยาลัยศิลปากร และยังเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่ได้ร่ำเรียนวิชาศิลปะโดยตรงจากบรมครู อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถือเป็นผลผลิตที่เปี่ยมด้วยฝีมือในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นที่ ๑๑ แม้เส้นทางการเรียนศิลปะ
ในช่วงแรกจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว แต่ด้วยใจรัก ประกอบกับความมุ่งมั่นที่มีอยู่เป็นทุนเดิม เธอจึงพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าอาชีพศิลปินนั้นมิได้สงวนไว้แต่เฉพาะผู้ชายเลย
“สมัยก่อนเมื่อเรียนจบชั้นปีที่ ๓ ถ้าไม่เรียนต่อก็จะได้อนุปริญญา ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเรียนแค่นั้น แต่ครูรู้สึกว่าเราในเมื่อเราเป็นคนเลือกหนทางชีวิตของตนเองแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้ดีที่สุด ต้องเรียนจนจบปริญญาตรี” อาจารย์ลาวัณย์กล่าว

แรกเริ่มบนเส้นทางงานศิลป์
อาจารย์ลาวัณย์เล่าให้ฟังว่า ตนเองนั้นชอบศิลปะมาตั้งแต่จำความได้ ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ๙ คน (อาจารย์เป็นคนที่ ๔) แม้ในวัยเด็กจะชอบเล่นซนกับน้องชายมากกว่าแต่หนึง่ ในกิจกรรมที่โปรดปรานกลับเป็น การวาดตุ๊กตากระดาษเล่นกับพี่สาวที่นับเป็นหนึ่งในการจุดประกายพรสวรรค์ด้านศิลปะของเธอตั้งแต่วัยเยาว์ “พี่สาวครูชอบเขียนรูปตุ๊กตาแล้วก็มีเสื้อใส่ให้แบบตุ๊กตากระดาษ พอพี่เขียน เราก็ชอบเขียนตามเขา พอโตขึ้นมาหน่อยพี่ก็เลิก แต่เรายังเขียนต่อ และสนุกกับการเขียนรูปมาเรื่อยๆ จนเริ่มมาเขียนรูปคนตอนแรกๆ ก็ยังไม่ค่อยเหมือน นั่งเรียนหนังสือก็เขียนรูปครูเล่น สเก็ตช์ด้วยดินสอปากกา แต่ไม่ได้ลงสี จนเริ่มมีครูสอนศิลปะที่จบจากเพาะช่างมาสอนที่โรงเรียน งานเราได้คะแนนดี เราก็ยิ่งชอบวาดรูปใหญ่ และรู้สึกว่าตัวเองน่าจะถนัดทางนี้ ขนาดว่าพอจบ ม.๖ อยากเรียนทางนี้ต่อ แต่คุณแม่ไม่สนับสนุนก็เลยต้องเรียน ม. ๗ ต่อ”
แต่จนแล้วจนรอดด้วยใจรักในงานศิลปะเธอจึงแอบไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร และสอบเข้าได้เป็นที่หนึ่ง ครอบครัวจึงอนุญาตให้เรียน “สมัยนั้นถ้าเรียนเตรียมฯ แล้วทำาคะแนนเก็บได้เกิน ๗๐% ก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้เลยสำหรับครูก็เลยเรียกว่าได้กำไร เพราะเราสอบได้ที่หนึ่ง มาตลอดจึงเข้าเป็นนักศึกษาได้ทันทีที่จบเตรียม” ต้องเรียกว่าอาจารย์ลาวัณย์นั้นเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผลงานของเธอได้รับการชื่นชมทั้งจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติอยู่เสมอ
“ระหว่างที่เรียน อาจารย์ศิลป์ก็จะมาดูตลอด เพราะอาจารย์จะคุมทุกวิชา มีอยู่ครั้งหนึ่งเขียนรูปนู้ดครึ่งตัว เป็นผู้หญิงเปลือยอกโจทย์ก็คือเขียนอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือน แต่ครูเขียนแล้วเหมือน อาจารย์ศิลป์ มาดูก็บอกว่า ‘อุ้ยเหมือนจริงๆเลย’ แล้วเรียกอาจารย์เฟื้อมาดูบอก ‘เฟื้อๆ มาดูนี่สิ เขียนเหมือนจริงๆ เลย’ และอาจารย์ก็จะมาชมทุกครั้ง ทำให้เรารู้ว่าตัวเองมีนิสัยชอบเขียนรูปเหมือน พอเรียนจบออกมาก็เลยเขียนรูปเหมือนตลอด ทั้งที่ตอนแรกก็พยายามจะคลี่คลายให้ Simplify บ้าง แต่หลังจากนั้นพอเริ่มมาเขียนรูปให้ในหลวง ก็เลยต้องเขียนเป็นเรียลลิสติก และเขียนแนวนี้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้”
