ระหว่างซอกตู้เก่าๆที่ตั้งอยู่ในบ้าน ครูแนบ บังคม ครูโรงเรียนเพาะช่างรุ่นบุกเบิก มีแผ่นกระดาษสภาพโบราณคร่ำครึแผ่นหนึ่งถูกหนีบเอาไว้ กระดาษแผ่นนี้แต่ก่อนคงจะขาวสว่างกว่านี้แต่ด้วยอายุอานามเลยกลับกลายเป็นสีน้ำตาลขมุกขมัว แถมกระดาษส่วนที่ยื่นออกมาพ้นขอบตู้ดันไปทับเส้นทางสัญจรของเหล่าบรรดาหนู และจิ้งจกพอดิบพอดี ตลอดกาลเวลาอันยาวนานที่กระดาษถูกหนีบอยู่ตรงนี้ สิงห์สาราสัตว์ตัวจิ๋วเลยได้ฝากรอยด่างดวงของสิ่งปฏิกูลเอาไว้เป็นทางยาวเหยียด
พระแม่ธรณี ที่หลืบตู้
และแล้วเมื่อครูแนบถึงแก่กรรมลง ตู้ใบเก่า และเอกสารอีกปึ๊งใหญ่ก็ถูกเปลี่ยนมือไป พร้อมๆกับกระดาษเลอะๆที่ถูกหนีบไว้กับซอกตู้ ดูสกปรกไร้ค่าจนไม่มีใครคิดอยากจะคลายความสงสัยว่ามันคืออะไร จวบจนวันหนึ่งหลังจากที่ตู้ได้ถูกย้ายบ้านใหม่และจำเป็นต้องถูกซ่อมแซม กระดาษแผ่นนั้นจึงถูกดึงออกมาจากซอกหลืบ ได้กระทบกับแสงเดือนแสงตะวันอีกครั้ง และท่ามกลางรอยอึ รอยฉี่ ก็ปรากฎภาพร่างจางๆวาดด้วยดินสอเป็นภาพพระแม่ธรณีในท่าเอี้ยวตัว ยกแขน บีบมวยผมอันคุ้นตา ล้อมรอบในกรอบวงรีที่ประดับด้วยลวดลายพรรณพฤกษา พระแม่ธรณีภาพนี้ถึงจะดูไท้ยไทยด้วยเรื่องราว จริตจะก้าน และเครื่องแต่งกาย แต่ก็มีกลิ่นไอความเป็นตะวันตกเข้ามาผสมผสาน ดูมีเนื้อมีหนังตามหลักอนาโตมี่ มีวอลลุ่ม มีแสงเงา ไม่แบนแต๊ดแต๋เหมือนภาพไทยแบบปกติ
ด้านล่างของภาพยังมีตัวหนังสือภาษาไทยที่ออกแบบมาอย่างวิจิตรบรรจงเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เขียนไว้ว่า ‘ศรีวสุท พ.ศ. ๒๔๖๓’ ซึ่งศรีวสุทก็คืออีกชื่อหนึ่งของพระแม่ธรณี ส่วนปี ๒๔๖๓ นี่มันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ โน่น ในยุคนั้นคนไทยที่วาดภาพด้วยสไตล์ไทยที่ประยุกต์แล้วอย่างนี้ บอกได้เลยว่ามีไม่กี่คน เดาไม่ยากถ้าหากจำเป็น แต่เคสนี้ไม่ต้องมโนไปไกลเพราะบริเวณมุมขวาล่างผู้วาดได้ระบุตัวตนไว้ด้วยโลโก้ ‘น. ในดวงใจ’
สัญลักษณ์ ‘น. ในดวงใจ’ หรือบางทีก็เรียกว่า ‘น. เทียนสิน’ เป็นรูปสี่เหลี่ยมบิดๆ ๔ ชิ้นจัดเรียงเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีชั้นเชิง วางอยู่ในกรอบทรงหัวใจ ใครไม่รู้ที่มาเห็นแว๊บแรกก็คงคิดว่านี่คือลายกราฟฟิคที่ดูลงตัวเฉยๆ แต่ถ้าบอกว่านี่คือการเขียน น. หนู อย่างมีสไตล์ รูปสี่เหลี่ยมประกอบกันสี่ชิ้นนี้ก็จะดูออกว่าเป็น น.หนู โดยทันทีโดยไม่ต้องพึ่งจินตนาการอะไรมากมาย แล้วทำไมต้อง น. หนู? แล้วทำไมต้องดวงใจ? ทั้งสองสิ่งนี้มีที่มาที่ไป
น. หนู นั้นก็คือพระนามย่อของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ส่วนดวงใจนั้นสื่อถึงพระนามเดิมของพระองค์คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นอันว่ากระดาษเก่าเกรอะกรังที่ดูไม่น่าแยแสกลับมีออร่าขึ้นมาทันที เพราะนี่คือภาพร่างฝีพระหัตถ์ที่ค้นพบใหม่ของกรมพระยานริศฯ นายช่างใหญ่แห่งสยามประเทศ ผู้เป็นปราชญ์ทั้งด้าน จิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม โบราณคดี ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ มีความสามารถขนาดองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ถึงกับประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
‘พรุ่งนี้ฉันจะทำบุญวันเกิด ให้คุณจัดเปิดรูปนางพระธรณีท่ออุทกทาน ซึ่งฉันได้ออกทรัพย์ให้หล่อขึ้นสำเร็จ ตั้งไว้ ณ เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และขออุทิศท่ออุทกทานนี้ให้เป็นสาธารณทานแก่ประชาชนผู้เป็นเพื่อนแผ่นดินใช้กินบำบัดร้อนและกระหาย เป็นความสบายตามปรารถนาทั่วกันเทอญ’
ประมาณว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงอยากจะทำบุญแจกน้ำสะอาดให้ประชาชน ซึ่งยุคนั้นระบบน้ำประปาก็พึ่งจะเริ่มมี ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด แต่อยู่ดีๆจะต่อก๊อกแจกน้ำแบบบ้านๆขึ้นมาก็ไม่น่าจะสมพระเกียรติและดูไม่สวยงาม พระองค์ท่านรวมถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีไอเดียบรรเจิดว่าให้สร้างเป็นรูปพระแม่ธรณีขึ้นมาซะเลย แล้วมีกิมมิคด้วยการซ่อนท่อไว้ด้านในทำให้มีน้ำไหลออกมาจากปลายมวยผม ประชาชีที่มารองน้ำใสแจ๋วไร้เชื้อโรคไปใช้ก็จะได้รู้สึกศักดิ์สิทธิ์เหมือนได้รับน้ำจากพระแม่ธรณี น้ำเดียวกับที่ใช้ไหลท่วมขับไล่เหล่าพญามารที่มาผจญพระพุทธเจ้าในการบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้
งานนี้ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบจัดสร้างก็ไม่ใช่ใครที่ไหน กรมพระยานริศฯสุดยอดดีไซเนอร์ กับพระยาจินดารังสรรค์ ช่างปั้นชั้นครูแห่งกรุงสยาม ทรงร่วมงานกันจนออกมาเป็น ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม หรือที่เรียกว่า เทวาลัยพระศรีวสุนธรา ตรงเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ถ้าขับรถมาจากถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยงซ้ายไปทางสนามหลวง พอข้ามสะพานมองทางซ้ายไว้จะเห็นเทวลัยแห่งนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าท้ากาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
คำถามต่อไปที่ชวนให้สงสัยคือ กรมพระยานริศฯวาดภาพพระแม่ธรณีบนกระดาษแผ่นนี้ขึ้นมาทำไม จะบอกว่านำเป็นแบบนำไปสร้างรูปพระแม่ธรณีข้างๆสนามหลวงก็ไม่น่าใช่เพราะรูปหล่อโลหะนั้นสร้างเสร็จและจัดงานเปิดไปแล้วตั้งแต่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ กว่าจะลงมือวาดภาพนี้ก็อีก ๓ ปีถัดมา ถ้าจะให้เดาอย่างมีหลักการก็เป็นไปได้ว่า ภาพพระแม่ธรณีที่ว่านี้ไม่ได้วาดอยู่ลอยๆ แต่มีการออกแบบกรอบที่ประดับประดาด้วยลวดลายวิลิศมาหราครอบเอาไว้ เหมือนจะนำไปใช้ต่อยอดเป็นตราสัญลักษณ์อะไรซักอย่าง และเนื่องจากกรมพระยานริศฯเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยระดับต้นๆของในหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ ในการออกแบบตราสัญลักษณ์กระทรวง ทบวง กรม รวมถึงหน่วยงานจิปาถะต่างๆ ภาพนี้จึงอาจจะถูกออกแบบและวาดขึ้นเพื่อการนี้ ส่วนจะนำไปใช้เป็นโลโก้ของหน่วยงานไหน ทุกวันนี้เจ้าที่เห็นใช้พระแม่ธรณีเป็นสัญลักษณ์ก็มีแต่การประปา กับ พรรคประชาธิปัตย์ แต่ชอยส์หลังนี่ตัดออกได้เลยแบบไม่ต้องสืบเพราะกว่าพรรคจะเกิดก็ตั้งปี ๒๔๘๙ เกือบ ๓๐ ปีหลังจากที่วาดรูปนี้ แถมกรมพระยานริศฯคงไม่ทรงออกแบบให้แน่ๆเพราะพระองค์ท่านไม่ค่อยอินกับคณะราษฎรซึ่งมี ควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เป็นสมาชิก และร่วมกันก่อการปฏิวัติสยามในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะที่กรมพระยานริศฯทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการแทนในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งอยู่คนละขั้วกันเห็นๆ
ความเป็นไปได้มากกว่าคือภาพพระแม่ธรณีในกรอบนี้อาจจะถูกออกแบบมาเพื่อเป็นไอเดียในการพัฒนาสัญลักษณ์การประปา ซึ่งเปิดกิจการมาตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ภายใต้ชื่อ การประปากรุงเทพฯ ภายใต้สังกัดกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล และตอนเปิดก็ยังไม่มีโลโก้ใช้ ส่วนคำถามที่ว่าภาพวาดแผ่นนี้ไปอยู่กับ แนบ บังคม ครูโรงเรียนเพาะช่างได้อย่างไร เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ โรงเรียนเพาะช่างซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ถูกวางให้เป็นสถาบันสอนศิลปะสถาบันหลักของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญระดับพระกาฬด้านศิลปะทุกแขนงต่างรวมตัวกันอยู่ที่นั่นหมด กรมพระยานริศฯเองก็ทรงใช้บริการคณาจารย์ที่โรงเรียนเพาะช่างอยู่เนืองๆ เช่นทรงให้ช่วยขยายแบบที่พระองค์ทรงร่างไว้ หรือทรงให้แกะสลักไม้จากภาพร่างในกระดาษให้กลายเป็นต้นแบบ ๓ มิติ เลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ภาพร่างฝีพระหัตถ์จะจับพลัดจับผลูมาอยู่กับครูโรงเรียนเพาะช่างรุ่นเดอะที่รับราชการในยุคนั้น
ที่น่าแปลกกว่าคือภาพร่างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อายุนับร้อยปีแผ่นนี้ที่ถูกลืมเลือนอยู่ในหลืบมืดเล็ดรอดสายตาผู้คน ได้ถูกค้นพบโดยผู้ที่รู้คุณค่า นำมาอนุรักษ์ ทำความสะอาดจนกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง ทั้งๆที่ดูเผินๆใครๆก็คงเห็นเป็นแค่กระดาษเก่าๆเลอะๆธรรมดา ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางมีหวังถูกโยนทิ้ง หรือไม่ก็เอาไปใช้ทดเลขตั้งนานแล้ว
อ่านบทความศิลปะจากตัวแน่น
https://anurakmag.com/author/anurak_author001/