นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 59
เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น
หากได้เห็นภาพวาดสไตล์นามธรรมของ จ่าง แซ่ตั้ง ที่ดูเหมือนเอาสีมาป้ายๆขูดๆสะบัดๆแถมมีฝากไว้ทั้งรอยแปรง รอยมือ รอยตีน ดูเลอะๆเปรอะไปทั่วผืนผ้าใบ ใครหลายๆคนคงเกาหัวแกรกๆแล้วคิดเหมือนกันว่า ‘แบบนี้ฉันก็ทำได้’ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับสมัยที่จ่างยังมีชีวิตอยู่ที่ผลงานเหล่านี้ถูกดูถูกดูแคลนต่างๆนาๆ บ้างก็หาว่าไม่มีฝีมือ หาว่าเหมือนงานคนบ้า หรือหาว่าเหมือนให้หมามาขี้แล้วเอาหางละเลง แต่รู้หรือไม่ว่าในสายตาของพิพิธภัณฑ์ระดับโลกผลงานนามธรรมของจ่างคือหนึ่งในเพชรยอดมงกุฎของวงการศิลปะสมัยใหม่ในเอเซีย
ทุกวันนี้สถาบันศิลปะชั้นนำต่างๆ พากันนำเอาผลงานของจ่างไปจัดแสดงมาแล้วจนแทบจะทั่วสารทิศทั้ง ญี่ปุ่น อินโด ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เยอรมัน อเมริกา แถมหลายๆแห่งเขายังให้ความสำคัญกับจ่างไม่ต่างกับศิลปินระดับโลก ภาพวาดฝีมือจ่างเลยได้ไปแขวนประชันกับผลงานศิลปะของศิลปินเบอร์ใหญ่เช่น ปีกัสโซ, ชากาล, มาติส, คานดินสกี, มาเทอร์เวล สาเหตุที่จ่างไปได้ไกลในระดับอินเตอร์ขนาดนี้เพราะปัจจุบันโลกได้ตระหนักรู้แล้วว่าจ่างเป็นศิลปินสไตล์นามธรรมผู้คิดค้นรูปแบบและวิธีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมาเองด้วยรากฐานแบบตะวันออก อันเป็นปัจเจกไม่เหมือนใคร
จ่าง แซ่ตั้ง
จิตวิญญาณอันปลอดจากพันธนาการ
จ่าง แซ่ตั้ง เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ในครอบครัวชาวจีนที่ยากจน เพราะความขัดสนของเล่นในวัยเด็กจึงเป็นสิ่งที่คนอื่นเขาทิ้งแล้วที่หาเก็บได้ฟรีๆในตลาด เช่นก้อนถ่านชอล์ก ด้วยความชื่นชอบในการวาดๆเขียนๆ จ่างเอามาละเลงเป็นภาพวาดตามพื้น ตามรั้ว ตามฝาบ้าน จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ถึงโดนแม่เอ็ดพ่อตีก็ไม่เลิก จ่างในวัยเยาว์เคยทำงานรับจ้างร้อยแปดทั้งแบกของลงเรือ เข็นรถขึ้นสะพานพุทธ แจวเรือข้ามฟาก และตักส้วม เงินที่ได้มาน้อยนิดก็เอาไปซื้อกระดาษซื้อดินสอซื้อสีมาวาดภาพเหมือนคนในครอบครัว แรกๆก็ฝึกฝนเทคนิคแบบครูพักลักจำด้วยการไปยืนดูช่างที่รับจ้างวาดภาพว่าเขาทำกันยังไงแต่ก็โดนไล่ ไปๆมาๆจ่างเลยต้องฝึกด้วยตนเองแบบไม่มีครูจนในที่สุดสามารถวาดภาพได้เก่งกาจขนาดเอาไปใช้ประกอบเป็นอาชีพได้
เมื่อเติบใหญ่จ่างจึงเปิดร้านรับจ้างวาดภาพเหมือน โดยลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มานั่งเป็นแบบ แต่จะนำภาพถ่ายขาวดำขนาดเล็กๆมาให้ หน้าที่ของจ่างคือวาดขยายภาพเหล่านั้นด้วยสีผงถ่านบนกระดาษที่มีขนาดใหญ่พอจะสามารถจะเอาไปใส่กรอบแขวนอยู่บนฝาผนัง หรือใช้ตั้งหน้าโลงในงานศพได้ ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะสมัยนั้นร้านอัดขยายภาพด้วยเครื่องยังไม่มีแพร่หลาย หรือถ้าจะสั่งอัดขนาดพิเศษก็จะมีราคาแพงมาก ถ้าอยากได้ภาพเหมือนขนาดใหญ่ที่ราคาย่อมเยาก็ต้องใช้วิธีวาดเอา ทั้งๆที่ไม่เคยร่ำเรียนมา จ่างไม่ได้แค่วาดภาพบุคคลได้อย่างยอดเยี่ยมมีชีวิตชีวา แต่ยังสามารถวาดเทวดานางฟ้าสวรรค์วิมานในสไตล์จีนได้แบบไม่เป็นสองรองใคร จ่างจึงถูกจ้างให้วาดภาพประดับประดาศาลเจ้าต่างๆนาๆอีกด้วย
จ่างรักการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ พอมีเวลาว่างก็มักออกไปวาดวิวทิวทัศน์บ้านเมือง ชนบทป่าเขา ทะเล กับเพื่อนศิลปินคอเดียวกันเช่น ประเทือง เอมเจริญ ทริปแรกๆก็ได้ภาพวิวแบบปกติกลับมา แต่พอออกไปวาดบ่อยๆเข้าภาพที่วาดก็เริ่มออกไปทางแนวนามธรรมขึ้นเรื่อยๆจนชักจะดูไม่รู้เรื่อง ภายหลังจ่างติสต์แตกจนถึงจุดพีคตัดสินใจปิดร้านรับจ้างวาดภาพ ปวารณาตนว่าชาตินี้จะเลิกขายผลงานศิลปะ เพื่อจะได้สามารถสร้างงานในสไตล์ตามใจผู้วาดได้อย่างเต็มที่
กว่า 60 ปีที่แล้วหรือเมื่อราวปี พ.ศ. 2500 ในขณะที่เมืองไทยกำลังตื่นเต้นกับลัทธิทางศิลปะของยุโรปที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในบ้านเราใหม่ๆอย่าง อิมเพรสชั่นนิสม์ คิวบิสม์ ศิลปินมากมายต่างเริ่มสร้างผลงานในสไตล์นี้ มีการจัดแสดง จัดประกวด และบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบัน จนกลายเป็นศิลปะกระแสหลักที่มีคนแห่กันชื่นชมเป็นจำนวนมาก
แต่ผลงานของจ่างกลับยิ่งแหวกแนวออกไปจนไม่ได้มีความใกล้เคียงกับของที่ชาวบ้านชาวช่องเขานิยมกันเลยแม้แต่น้อย ลองจินตนาการถึงภาพสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์สีสันแพรวพราวผนวกกับฝีแปรงที่เร้าอารมณ์แบบเดียวกับโมเนต์ หรือ ภาพสไตล์คิวบิสม์ที่ตัดเส้นกันฉุบฉับหั่นภาพให้เป็นเหลี่ยมเป็นสันด้วยเทคนิคอันสลับซับซ้อนแบบเดียวกับปีกัสโซ แล้วเอามาเปรียบเทียบกับภาพผลงานของจ่างที่ดูเป็นปื้นๆเลอะๆไม่มีรูปไม่มีร่าง ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมจ่างถึงถูกครหาจากผู้คนทั่วไป แต่จ่างก็หาได้สนใจไม่ เพราะไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครชอบ หรือจะขายผลงานให้ใคร ก็เลยมุ่งสร้างผลงานในแบบของตัวเองนี้ออกมาอีกมากมายด้วยความอินสุดๆจนถึงกับประกาศว่า ‘นามธรรมคือชีวิตของฉัน’
ผลงานสไตล์นามธรรมของจ่างนั้นดูเผินๆอาจจะดูเหมือนทำง่ายแค่ปาดสีมั่วๆเหมือนเด็กที่วาดภาพไม่เป็น แต่อย่าลืมว่าอาชีพเก่าของจ่างนั้นคือการรับจ้างวาดภาพเหมือน และวาดภาพตกแต่งศาลเจ้า เพราะฉะนั้นการจะวาดอะไรก็แล้วแต่ให้ดูสมจริงสวยงามสำหรับจ่างนั้นเป็นเรื่องง่ายเหมือนดีดนิ้ว ในมุมมองของจ่างผลงานนามธรรมนั้นสร้างสรรค์ยากกว่ามากเพราะจ่างต้องทุ่มเททั้งสติปัญญาและเรี่ยวแรงทั้งหมดอย่างเต็มที่เพื่อให้ออกมาลงตัว และหนึ่งวิธีการสร้างผลงานสไตล์นามธรรมของจ่างคือการนำผ้าใบเปล่าๆมาขึงไว้นอกบ้าน หลังจากนั้นก็จะเริ่มกวนสีทาเรือข้นๆในกระป๋อง กวนวนไปวนมาอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆเป็นเวลานานเพื่อทำสมาธิบังคับจิตให้นิ่งสนิทปล่อยวางทุกอย่างทำนองเดียวกับการเดินจงกรม เมื่อถึงจุดที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยแม้กระทั่งเสียงนกเสียงกา ความร้อน ความหนาว หรือแม้กระทั่งความรู้สึกใต้ฝ่าเท้าในขณะที่ยืนอยู่บนพื้น หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ‘เอกัคคตภาวะ’ แล้ว จ่างก็จะพุ่งพรวดเข้าไปหาผ้าใบ ตวัด ปาด ละเลง ขูด ด้วยแปรงและส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งมือ ทั้งเท้า ทั้งนิ้ว ทั้งเล็บ จนสีซ่านกระเซ็นไปทั่วผืนผ้า กระโดดโลดเต้นอยู่อย่างนั้นอย่างสุดกำลังจนกระทั่งหมดแรงสลบเหมือดลงไปกองอยู่กับพื้น เมื่อเสร็จภารกิจภรรยาและลูกๆที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านก็จะรู้หน้าที่ พากันออกมาหิ้วร่างจ่างไปปฐมพยาบาลให้ฟื้นคืนสติดังเดิม เพื่อเริ่มละเลงภาพใหม่